รีวิว Redmi Note 13 Pro 5G หมื่นต้น Snapdragon 7s Gen 2 ครบสำหรับคนส่วนใหญ่
Redmi Note 13 Pro 5G หากเทียบกับช่วงราคาเดียวกันที่ 12,990 บาท ถือว่าเป็นรุ่นที่จัดทุกอย่างมาสมดุลมาก ด้วย Snapdragon 7s Gen 2 แรม 12 GB พื้นที่ 512 GB กล้องหลัง 3 ระยะ กล้องหลักมี OIS จอ AMOLED 6.67 นิ้ว 120 Hz ลำโพงคู่ แบตเตอรี่ 5100 mAh ชาร์จเร็ว 67 W กันน้ำกันฝุ่น IP54 น้ำหนัก 187 กรัม ถือว่าครบถ้วนสำหรับการใช้งานประจำวันในระดับที่ไม่ติดขัดส่วนใดเลย
การใช้งานประจำวัน
ในช่วงหลัง Xiaomi ได้เปลี่ยนให้อุปกรณ์ในสังกัดย้ายจาก MIUI มาเป็น HyperOS ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า โดย Redmi Note 13 Pro 5G มาพร้อมกับ HyperOS ซึ่งข้อดีแรกที่เห็นได้ชัดเลยคือ HyperOS ใช้พื้นที่ประหยัดกว่า MIUI ทำให้มีพื้นที่เหลือให้เราใช้งานมากขึ้น และยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่างๆ ให้ตอบสองได้เร็วกว่าเดิม และยังปรับปรุงประสิทธิภาพในระยะยาวให้ใช้งานไปหลายเดือนก็ไม่ช้าลง ( ดูเพิ่มที่เว็บ Mi )
ถ้าเราเป็นแฟน Xiaomi อยู่แล้ว และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของ Xiaomi จะได้ใช้ประโยชน์จากระบบ Xiaomi Smart Hub ซึ่งทำให้เราเชื่อมต่อและใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก การใช้งานจริงไม่อิงสเปคทำได้ลื่นไหลในทุกสิ่ง ไม่มีจุดที่น่าหงุดหงิดแต่อย่างใด และจุดที่หลายคนเคยหงุดหงิดกับ MIUI อย่างการยัดโฆษณามาเยอะเกินไป จากที่ผมได้ใช้งาน HyperOS มีความรู้สึกว่าโฆษณารบกวนน้อยลงกว่าเดิม อยู่ในระดับที่รับได้
มาถึงปี 2024 ผมคิดว่าสมาร์ทโฟนราคาถูกก็ลื่นไหลสำหรับการใช้งานเบื้องต้นแล้ว ส่วนราคาหมื่นก็ดีเทียบเท่าเรือธงเมื่อหลายปีก่อนแล้ว ฉะนั้น Redmi Note 13 Pro 5G มันก็ดีเหลือเฟือสำหรับการใช้งานประจำวัน แต่จุดที่แตกต่างกันของสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นก็คือ UX หรือประสบการณ์ใช้งานที่ต่างกัน ส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบเมนูและหน้าตาต่างๆ ซึ่ง Redmi Note 13 Pro 5G ก็ถือว่าทำออกมาได้ใช้งานง่าย และสามารถ Customize ปรับแต่งให้ตรงจริตเราได้หลายส่วน หากเทียบกับ Android ด้วยกัน อาจบอกได้ว่าเครือ Xiaomi สามารถปรับแต่งได้เยอะในระดับหัวแถวเลย
ด้านการโทรก็มีระบบ Call Recorder ฝังมาให้ในตัว สามารถบันทึกเสียงการโทรได้ เผื่อให้เราย้อนมาฟังกันลืมหรือแก้คิดถึงก็ตามสะดวก และสิ่งที่ผมมองว่าสุดคุ้มเลยก็คือระบบ Clone app เพื่อให้ใช้งานแอปได้ 2 ไอดี ซึ่ง Xiaomi คือแบรนด์ที่ทำระบบนี้ได้ดีที่สุดแล้วครับ เหมาะมากกับคนที่ต้องการใช้ 1 เครื่องแต่แยกไอดีสำหรับการทำงานและส่วนตัว แต่ถ้ายังไม่พอก็ยังสามารถสร้าง Second Space เพิ่ม เหมือนแยกคนละเครื่องกันไปเลย อันนี้ผมชอบใช้เวลาที่คนยืมมือถือเราไปเล่น เราก็ปลดล็อกเข้าอีก Second Space ที่ไม่ยุ่งกับข้อมูลส่วนตัวของเรา
อีกจุดที่ผมชอบก็คือการ Integrate Google Photos เข้าไปกับอัลบั้มรูปของเครื่อง อย่างบางแบรนด์จะใช้วิธีรวมอัลบั้มรูปเข้ากับ OneDrive ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย หรือรวมเข้ากับระบบ Backup ของทางแบรนด์เองที่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ ซึ่งการที่ HyperOS ผูกระบบสำรองรูปไว้กับ Google Photos ถือว่าเป็นบริการที่คนคุ้นเคยกว่า ทำให้เป็นอีกจุดที่อำนวยความสะดวกและเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ด้วย
เกมส์และความบันเทิง
ภาพและเสียงสามารถเปิดใช้ระบบ Dolby Vision และ Dolby Atmos ได้ ซึ่งระบบของ Dolby จะช่วยให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น นั่นทำให้ประสบการณ์ดูหนังฟังเพลงทำออกมาได้อย่างลงตัว การแสดงผลของหน้าจอให้สีสันที่ดีและยังสมูธด้วย โดยมีการใช้เซ็นเซอร์วัดแสงรอบทิศ ทำให้ความสว่างของหน้าจออยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการมองจอ และความละเอียด 2712×1220 ก็ทำให้การแสดงผลมีความละเอียดแบบไม่ขัดตา
การให้ลำโพงคู่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการมิติทิศทางเสียงที่ดี ทำให้การดูหนังผ่านลำโพงของตัวเครื่องให้อารมณ์ที่ดีกว่าลำโพงเดี่ยว และยังมีช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม. ทำให้ความบันเทิงทำได้ดีรวมไปถึงการเล่นเกมด้วย โดยหน้าจอแสดงผล 120 Hz ก็ช่วยให้ภาพเกมดูเนียนตามากขึ้น และยังถือว่าเห็นสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอเป็นมิตรต่อสายตา ด้วยการผ่านมาตรฐาน TÜV Rheinland
ด้วยความแรงของ Snapdragon 7s Gen 2 และการปรับแต่งของ HyperOS ทำให้เล่นเกมได้สบายๆ ในระดับที่คนส่วนใหญ่พอใจ ยกเว้นจะเห็นคนที่ซีเรียสมากๆ ก็อาจจะพบความต่างเมื่อเทียบกับชิปตระกูล Snapdragon 8 series แต่ถ้าไม่ใช่เล่นระดับแข่งขันเอาเป็นเอาตาย ผมคิดว่า Redmi Note 13 Pro 5G ก็เพียงพอแล้วครับ
กล้อง ภาพนิ่งและวีดีโอ
กล้องหลังรุ่นนี้ให้มา 3 ตัว โดยเป็นกล้องหลัก 200MP กล้องมุมกว้าง 8MP และกล้องมาโคร 2MP โดยไม่มีกล้องเทเลสำหรับการซูมไกล แต่อาศัยเทคนิคการนำภาพจากกล้องหลัก 200MP มาประมวลผลให้คมชัด ทำให้ซูมแบบชัดๆ ได้ที่ 4X และซูมสุดได้ที่ 10X ซึ่งคุณภาพที่ได้จากการซูมผมมองว่าทำได้ดีมาก
กล้องหลักให้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งความโดดเด่นจะมากขึ้นในที่แสงน้อย เนื่องจากมี OIS และรูรับแสง f/1.65 และขนาดเซ็นเซอร์ 1/1.4 นิ้ว ที่รวมพิกเซลได้ 2.24μm ทำให้ภาพที่ได้จากสถานการณ์ต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดี
การถ่ายอาหารผมรู้สึกว่าถ้าอิงจากสภาพแสงสถานที่จริง ส่วนมากร้านอาหารจะมีไฟที่ไม่สว่างจ้ามากนัก ทำให้รูปอาหารที่ได้จะติดมืดหน่อยๆ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ใช่ความผิดมือถือแต่อย่างใด ถ้าอยากให้สวยก็คงต้องพกไฟไปเพิ่ม แต่ถ้าแสงเพียงพอต้องบอกว่าถ่ายออกมาสวยมากครับ
การทดสอบกล้องมุมกว้าง ผมจะให้ความสำคัญของเรื่องแสงสีด้วย โดยต้องมีการจูนสีออกมาให้คล้ายกับกล้องหลัก เพื่อให้เวลาที่เราซูมถ่ายในระยะที่ต่างกันมีสีสันที่ล้อไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องให้รายละเอียดที่คมชัดด้วย โดยรวมแล้วสีสันและรายละเอียดดรอปกว่ากล้องหลังนิดหน่อย ซึ่งผมถือว่าทำได้ดีครับ
การถ่ายมาโครมีจุดสังเกตคือไม่มีระบบ Auto-Macro ( หรืออาจจะมีแต่ผมยังไม่เจอ ) ซึ่งข้อดีก็คือกล้องจะไม่สลับไปมาโครโดยที่เราไม่ต้องการ ส่วนคุณภาพเนื้อไฟล์ก็ต้องการแสงเยอะเพื่อให้ภาพสวย ซึ่งเป็นธรรมดาของกล้องมาโคร จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติทั่วไป สีสันทำออกมาได้ดีไม่จืดชืด ความละเอียดอยู่ในเกณฑ์ดี แต่การวัดแสงสีอาจมีความต่างจากกล้องหลักในบางสถานการณ์
ในโหมด Portrait ทั้งกล้องหน้าและหลัง มีความน่าสนใจตรงที่สีสันและรายละเอียดออกมาดี แต่การตัดขอบขึ้นอยู่กับสภาพแสง ถ้าแสงเยอะก็ตัดขอบได้ดีครับ แต่ถ้าแสงน้อยหรือ indoor ก็จะเห็นการตัดขอบที่ผิดเพี้ยนบ้าง ซึ่งถ้าว่ากันแฟร์ๆ เลยมือถือตัวแพงสุดในตลาดก็ยังมีเพี้ยน ฉะนั้นกรณีนี้ผมคิดว่าเหมาะสมกับราคาครับ
หากมองด้านงานวีดีโอ ประเด็นแรกคือกล้องหน้าถ่ายได้ที่ FHD ส่วนกล้องหลังไปได้ถึง 4K แต่ถ้าเปิดฟีเจอร์ต่างๆ อย่างการกันสั่นขั้นสุดก็จะลดความละเอียดลงมาเหลือ FHD เท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วความละเอียด FHD เหมาะกับการใช้งานจริงสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วครับ ผมเลยมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะการแสดงผลหน้าจอมือถือส่วนใหญ่เวลารันจริงก็แค่ FHD แทบทุกรุ่น ด้านการกันสั่นวีดีโอในการเดินถ่าย Vlog ก็ทำได้ดีพอควร ไม่ถึงกับนิ่งเนียนแต่ก็ไม่แย่
บทสรุป
ตั้งแต่ใช้งานมา ผมรู้สึกว่า Redmi Note 13 Pro 5G เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมากๆ ราคาหมื่นต้นแต่ตอบโจทย์การใช้งานประจำวันทุกด้าน ไม่ว่าจะเรื่องชาร์จเร็วแบตเยอะ หรือเรื่องความบันเทิงและการเล่นเกม รวมไปการทำงานและการแชท