มือถือ Android ควรมี RAM เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน?

ช่วงปีที่ผ่านมาปริมาณแรมในสมาร์ทโฟน Android เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาก โดยปัจจุบันมีรุ่นที่แรมสูงสุดถึง 12 GB ซึ่งหลายคนก็มีคำถามขึ้นมาในหัวว่า “จริงๆ แล้วเราต้องการแรมเท่าไหร่กันแน่?” ทางเว็บไซต์ Android Authority เลยพาเรามาหาคำตอบนี้กัน

Lenovo Z5 Pro GT แรม 12 GB

ก่อนจะหาคำตอบ ขั้นแรกเราต้องรู้วิธีการทำงานของแรมก่อน ตามปกติแล้ว เมื่อเราเปิดแอปใหม่ขึ้นมา แอปจะไปทำการจับจองพื้นที่ในแรมตามที่แอปต้องการ แต่หากแรมไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ระบบจะมีการจัดการด้วยการ Swapping ไปใช้ zRAM นั่นคือการนำข้อมูลชั่วคราวของแอปที่เก่าที่สุดและถูกเรียกใช้น้อยที่สุดย้ายไปอยู่ในพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องก่อน เพื่อนำแรมมาใช้ และหากต้องการใช้ข้อมูลส่วนนั้นค่อยย้ายกลับมาไว้ในแรม แต่ข้อมูลชั่วคราวเหล่านี้มักจะมีขนาดเล็กอยู่แล้ว จึงได้พื้นที่ว่างคืนมาไม่มาก ระบบจึงมีวิธีจัดการแรมอีกแบบที่ใช้วิธีที่รุนแรงกว่าเดิม คือตัดสินใจปิดแอปที่ไม่ใช้งานทิ้ง ตรงนี้ระบบจะมีขั้นตอนมาคิดคำนวณว่าแอปไหนเป็นแอปที่ไม่สำคัญกับเราและสามารถปิดทิ้งได้ เพื่อไม่ให้เจอเหตุการณ์ระบบปิดแอปที่เรากำลังใช้งานอยู่ ซึ่งการปิดแอปทิ้งนี่แหละทำให้เราเจอเหตุการณ์เวลาออกจากแอปแล้วสลับกลับมา แอปจะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่ได้ค้างอยู่ที่หน้าที่เราใช้งานล่าสุด

หลังจากทราบการทำงานคร่าวๆ แล้ว มาดูกันว่าแอปที่ใช้ในชีวิตประจำวันเราแต่ละแอปใช้แรมเท่าไหร่ เพื่อจะได้นำมาคิดคำนวณได้ว่าเราต้องใช้แรมแค่ไหน โดยทาง Android Authority ได้สร้างแอปพิเศษขึ้นมาเพื่อจับตาการทำงานแอปและวัดว่าแต่ละแอปใช้แรมเท่าไหร่ โดยพบว่าแอปทั่วๆ ไปจะใช้แรมประมาณ 130-400 MB ต่อแอป สำหรับแอปที่มีคอนเทนต์ด้าน Media จำนวนมาก เช่น แอป Google Photos หรือ Instagram ก็จะใช้ปริมาณแรมเพิ่มขึ้นมาเป็น 400-700 MB ต่อแอป และสำหรับแอปขนาดใหญ่ เช่น เกม จะใช้แรม 800-1,200 MB ต่อแอป

แอป ปริมาณแรมที่ใช้
VLC 130 MB
Google Play 200 MB
YouTube 230 MB
Spotify 300 MB
Twitter 400 MB
Google Photos 440 MB
Gmail 500 MB
Instagram 700 MB
Chrome (3 Tabs) 900 MB
Asphalt 9 1,024 MB
PUBG 1,152 MB

แรมที่มาในมือถือแต่ละรุ่น ก็ใช่ว่าเราจะใช้ได้ทั้งหมด เพราะแรมบางส่วนจะต้องถูกแบ่งไปให้ระบบปฏิบัติการใช้ โดยเราจะทำการยกตัวอย่างมือถือบางรุ่นให้ดู

รุ่น แรมทั้งหมด แรมที่ใช้ได้ Total SWAP
Huawei Mate 8 2881 MB 1392 MB 551 MB
Google Pixel 3 XL 3548 MB 1740 MB 1023 MB
Samsung Galaxy Note 8 5339 MB 2799 MB 2559 MB
Samsung Galaxy Note 9 5580 MB 3597 MB 2048 MB
OnePlus 6T 7640 MB 5065 MB 0 MB

จากตารางจะสังเกตว่า Samsung แบ่งพื้นที่สำหรับ Swapping ไว้ถึง 2 GB เลยทีเดียว ในขณะที่ OnePlus ที่มาพร้อมแรม 8 GB นั้นมั่นใจในปริมาณแรมของตัวเองจนไม่จำเป็นต้องกันพื้นที่ไว้สำหรับ Swapping เลย

เมื่อมาพิจารณาสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น สมาร์ทโฟนอย่าง Google Pixel 3 XL จะสามารถเปิดแอปทั่วๆ ไปได้ประมาณ 5 แอปโดยไม่ต้อง SWAP เลย และสามารถเปิดได้ประมาณ 8 แอปหาก SWAP ด้วย แต่หากมีการเปิดแอปขนาดใหญ่พร้อมกันก็อาจจะมีการปิดตัวเองของแอปที่ไม่ได้ใช้ให้เห็นบ้าง

สำหรับ Note 8 และ Note 9 ที่มาพร้อมแรม 6 GB โดย Note 8 มีพื้นที่ว่างประมาณ 2.5 GB และ Note 9 ประมาณ 3.5 GB และมีพื้นที่สำหรับ SWAP อีกประมาณ 2 GB นั่นหมายความว่าคุณสามารถเปิดเกมที่ใช้แรมเยอะและสลับมาเปิด Chrome 3 แท็บโดยที่เกมไม่ปิดตัวเองได้ พร้อมเปิด Instagram และยังมีพื้นที่ว่างพอให้เปิดแอปทั่วๆ ไปได้อีก 5 แอปโดยที่แอปทั้งหมดยังอยู่ใน RAM ซึ่งจริงๆ ระดับนี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานปกติแล้ว

และจุดที่ดีที่สุดคือแรม 8 GB ที่สามารถเก็บแอปได้มากกว่า 10 แอปไว้ในแรมได้โดยไม่จำเป็นต้อง SWAP เลย ซึ่งการใช้งานจริงเราอาจจะแทบไม่เห็นความแตกต่างจากมือถือแรม 6 GB ด้วยซ้ำ

สำหรับสมาร์ทโฟนที่ให้แรมมากกว่า 8 GB ทางเว็บไซต์ Android Authority กล่าวว่าเป็นการให้แรมมากเกินความจำเป็นและเป็นเพียงวิธีเพิ่มราคาเครื่องอย่างไร้สาระเท่านั้น