มือถือ Android ควรมี RAM เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน?
ช่วงปีที่ผ่านมาปริมาณแรมในสมาร์ทโฟน Android เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาก โดยปัจจุบันมีรุ่นที่แรมสูงสุดถึง 12 GB ซึ่งหลายคนก็มีคำถามขึ้นมาในหัวว่า “จริงๆ แล้วเราต้องการแรมเท่าไหร่กันแน่?” ทางเว็บไซต์ Android Authority เลยพาเรามาหาคำตอบนี้กัน
Lenovo Z5 Pro GT แรม 12 GB |
ก่อนจะหาคำตอบ ขั้นแรกเราต้องรู้วิธีการทำงานของแรมก่อน ตามปกติแล้ว เมื่อเราเปิดแอปใหม่ขึ้นมา แอปจะไปทำการจับจองพื้นที่ในแรมตามที่แอปต้องการ แต่หากแรมไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ระบบจะมีการจัดการด้วยการ Swapping ไปใช้ zRAM นั่นคือการนำข้อมูลชั่วคราวของแอปที่เก่าที่สุดและถูกเรียกใช้น้อยที่สุดย้ายไปอยู่ในพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องก่อน เพื่อนำแรมมาใช้ และหากต้องการใช้ข้อมูลส่วนนั้นค่อยย้ายกลับมาไว้ในแรม แต่ข้อมูลชั่วคราวเหล่านี้มักจะมีขนาดเล็กอยู่แล้ว จึงได้พื้นที่ว่างคืนมาไม่มาก ระบบจึงมีวิธีจัดการแรมอีกแบบที่ใช้วิธีที่รุนแรงกว่าเดิม คือตัดสินใจปิดแอปที่ไม่ใช้งานทิ้ง ตรงนี้ระบบจะมีขั้นตอนมาคิดคำนวณว่าแอปไหนเป็นแอปที่ไม่สำคัญกับเราและสามารถปิดทิ้งได้ เพื่อไม่ให้เจอเหตุการณ์ระบบปิดแอปที่เรากำลังใช้งานอยู่ ซึ่งการปิดแอปทิ้งนี่แหละทำให้เราเจอเหตุการณ์เวลาออกจากแอปแล้วสลับกลับมา แอปจะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่ได้ค้างอยู่ที่หน้าที่เราใช้งานล่าสุด
หลังจากทราบการทำงานคร่าวๆ แล้ว มาดูกันว่าแอปที่ใช้ในชีวิตประจำวันเราแต่ละแอปใช้แรมเท่าไหร่ เพื่อจะได้นำมาคิดคำนวณได้ว่าเราต้องใช้แรมแค่ไหน โดยทาง Android Authority ได้สร้างแอปพิเศษขึ้นมาเพื่อจับตาการทำงานแอปและวัดว่าแต่ละแอปใช้แรมเท่าไหร่ โดยพบว่าแอปทั่วๆ ไปจะใช้แรมประมาณ 130-400 MB ต่อแอป สำหรับแอปที่มีคอนเทนต์ด้าน Media จำนวนมาก เช่น แอป Google Photos หรือ Instagram ก็จะใช้ปริมาณแรมเพิ่มขึ้นมาเป็น 400-700 MB ต่อแอป และสำหรับแอปขนาดใหญ่ เช่น เกม จะใช้แรม 800-1,200 MB ต่อแอป
แอป | ปริมาณแรมที่ใช้ |
---|---|
VLC | 130 MB |
Google Play | 200 MB |
YouTube | 230 MB |
Spotify | 300 MB |
400 MB | |
Google Photos | 440 MB |
Gmail | 500 MB |
700 MB | |
Chrome (3 Tabs) | 900 MB |
Asphalt 9 | 1,024 MB |
PUBG | 1,152 MB |
แรมที่มาในมือถือแต่ละรุ่น ก็ใช่ว่าเราจะใช้ได้ทั้งหมด เพราะแรมบางส่วนจะต้องถูกแบ่งไปให้ระบบปฏิบัติการใช้ โดยเราจะทำการยกตัวอย่างมือถือบางรุ่นให้ดู
รุ่น | แรมทั้งหมด | แรมที่ใช้ได้ | Total SWAP |
---|---|---|---|
Huawei Mate 8 | 2881 MB | 1392 MB | 551 MB |
Google Pixel 3 XL | 3548 MB | 1740 MB | 1023 MB |
Samsung Galaxy Note 8 | 5339 MB | 2799 MB | 2559 MB |
Samsung Galaxy Note 9 | 5580 MB | 3597 MB | 2048 MB |
OnePlus 6T | 7640 MB | 5065 MB | 0 MB |
จากตารางจะสังเกตว่า Samsung แบ่งพื้นที่สำหรับ Swapping ไว้ถึง 2 GB เลยทีเดียว ในขณะที่ OnePlus ที่มาพร้อมแรม 8 GB นั้นมั่นใจในปริมาณแรมของตัวเองจนไม่จำเป็นต้องกันพื้นที่ไว้สำหรับ Swapping เลย
เมื่อมาพิจารณาสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น สมาร์ทโฟนอย่าง Google Pixel 3 XL จะสามารถเปิดแอปทั่วๆ ไปได้ประมาณ 5 แอปโดยไม่ต้อง SWAP เลย และสามารถเปิดได้ประมาณ 8 แอปหาก SWAP ด้วย แต่หากมีการเปิดแอปขนาดใหญ่พร้อมกันก็อาจจะมีการปิดตัวเองของแอปที่ไม่ได้ใช้ให้เห็นบ้าง
สำหรับ Note 8 และ Note 9 ที่มาพร้อมแรม 6 GB โดย Note 8 มีพื้นที่ว่างประมาณ 2.5 GB และ Note 9 ประมาณ 3.5 GB และมีพื้นที่สำหรับ SWAP อีกประมาณ 2 GB นั่นหมายความว่าคุณสามารถเปิดเกมที่ใช้แรมเยอะและสลับมาเปิด Chrome 3 แท็บโดยที่เกมไม่ปิดตัวเองได้ พร้อมเปิด Instagram และยังมีพื้นที่ว่างพอให้เปิดแอปทั่วๆ ไปได้อีก 5 แอปโดยที่แอปทั้งหมดยังอยู่ใน RAM ซึ่งจริงๆ ระดับนี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานปกติแล้ว
และจุดที่ดีที่สุดคือแรม 8 GB ที่สามารถเก็บแอปได้มากกว่า 10 แอปไว้ในแรมได้โดยไม่จำเป็นต้อง SWAP เลย ซึ่งการใช้งานจริงเราอาจจะแทบไม่เห็นความแตกต่างจากมือถือแรม 6 GB ด้วยซ้ำ
สำหรับสมาร์ทโฟนที่ให้แรมมากกว่า 8 GB ทางเว็บไซต์ Android Authority กล่าวว่าเป็นการให้แรมมากเกินความจำเป็นและเป็นเพียงวิธีเพิ่มราคาเครื่องอย่างไร้สาระเท่านั้น