
ทำความรู้จักเทคโนโลยี Pixel Binning เทคนิครวมพิกเซลที่ทำให้กล้องมือถือเก่งขึ้น
ช่วงต้นปี 2018 ทาง Huawei ได้เปิดตัวมือถือรุ่นท็อป Huawei P20 Pro ที่มาพร้อมกล้องความละเอียดสูงถึง 40 ล้านพิกเซล มีเทคโนโลยี Pixel Binning พอมาถึงช่วงปลายปี 2018 ต้นปี 2019 ทั้ง Huawei, Xiaomi, Samsung และอีกหลายยี่ห้อต่างขนมือถือที่มาพร้อมกล้องความละเอียด 48 ล้านพิกเซลพร้อมเทคโนโลยี Pixel Binning ออกมาเช่นกัน มาดูกันว่า Pixel Binning คืออะไร แล้วทำไมต้องมาพร้อมกล้องความละเอียดสูงด้วย
ก่อนจะไปรู้จัก Pixel Binning เรามาทำความรู้จักเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องก่อนดีกว่า เซ็นเซอร์รับภาพมีหน้าที่รับแสงจากเลนส์กล้อง และแปลงค่าแสงเป็นข้อมูลดิจิทัลไปยังชิปประมวลผล เพื่อนำไปรวมเป็นภาพอีกที เซ็นเซอร์รับภาพจะประกอบด้วย Photodiode (เม็ดพิกเซล) จำนวนมาก เวลาเราพูดว่า เซ็นเซอร์นี้มีความละเอียด 40 ล้านพิกเซล หมายความว่าบนเซ็นเซอร์มีเม็ดพิกเซลอยู่ทั้งหมด 40 ล้านเม็ดนั่นเอง
ยิ่งเม็ดพิกเซลใหญ่ ยิ่งดี
เม็ดพิกเซลนี้มีคุณสมบัติคือ ยิ่งเม็ดใหญ่ ยิ่งดี เพราะจะเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลไม่ตกหล่น ทำให้ได้ภาพที่สีสดใสสวยงาม Noise น้อย แต่เซ็นเซอร์มือถือมีพื้นที่เล็กมาก มีขนาดเพียง 1/2.3-1/2 นิ้ว เท่านั้น เซ็นเซอร์กล้องมือถือเลยมักมีความละเอียดอยู่ไม่เกิน 16 ล้านพิกเซล เพื่อให้มีขนาดเม็ดพิกเซลที่ไม่เล็กเกินไป
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้ทำเซ็นเซอร์รับภาพที่มีความละเอียดสูงระดับ 40 ล้านพิกเซลได้ ซึ่งเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงๆ จะช่วยในเรื่องการซูมและเก็บรายละเอียด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยขนาดเม็ดพิกเซลที่เล็กจิ๋ว ทำให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยเลวร้ายมาก จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยี Pixel Binning
เทคโนโลยี Pixel Binning จะทำการรวมเม็ดพิกเซลบริเวณใกล้เคียงกัน (โดยส่วนมากจะเป็นการรวม 4 เม็ด) ให้ทำงานเหมือนเป็นเม็ดพิกเซลเม็ดใหญ่ 1 เม็ด
เซ็นเซอร์ Sony IMX586 ที่ใช้ใน Honor V20 ความละเอียด 48 ล้าน มีขนาดเม็ดพิกเซล 0.8 ไมครอน เมื่อใช้ Pixel Binning จะทำการรวมเม็ดพิกเซลรอบข้าง 4 เม็ดเป็นเม็ดเดียว ได้ภาพเทียบเท่าเซ็นเซอร์ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ขนาดเม็ดพิกเซล 1.6 ไมครอน
ด้วยเทคนิคนี้ เราจึงได้เซ็นเซอร์ความละเอียดสูงสำหรับถ่ายภาพในสถานการณ์ที่แสงพอเพียง และเซ็นเซอร์คุณภาพเยี่ยมในการถ่ายในที่แสงน้อย