บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020

หลังจากที่สหรัฐฯ สั่งแบน HUAWEI เมื่อปี 2019 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ HUAWEI อย่างที่หลายคนคิด แต่ผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโน่มาจนถึงบ้านเรา เพราะนี่คือ “สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ” และเห็นได้ว่าฝั่งจีนเองก็ออกตัวชัดเจนว่ายิ่งใหญ่มีดีกว่าที่สหรัฐฯ คิด

ต้นเรื่องคือการกีดกันทางการค้าจีน และไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่าแบรนด์จากแดนมังกรมีความผิด

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน เพราะหลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวก็คิดว่า HUAWEI ขี้โกงเลยโดนแบน แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นเรื่องทางการค้าที่จีนและสหรัฐฯ ตกลงกันไม่ได้

HUAWEI เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน และกำลังจะครองโลกด้วย 5G แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็อาจต้องพึ่งพา 5G ของ HUAWEI นั่นจึงทำให้ HUAWEI ตกเป็นหมากเพื่อใช้ในการต่อรอง แบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งใช้เจรจาด้านการค้ากับจีนและยับยั้งการเติบโตของ HUAWEI เพื่อให้ค่ายอื่นตามทัน โดยสหรัฐฯ หวังว่าจีนจะยอมรับข้อเสนอเงื่อนไขด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่เข้าสู่ปี 2020 แล้วจีนก็ยังไม่ยอมเล่นตามเกมสหรัฐฯ

ประเด็นความปลอดภัยของเทคโนโลยี 5G ควรได้รับการตัดสินใจโดยผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่นักการเมือง และหวังว่าประเทศต่างๆ จะตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ฟังคำสั่งของผู้อื่น

Guo Ping — ประธานบริษัทหัวเว่ยให้สัมภาษณ์ในปี 2019

ในครั้งนั้นสหรัฐฯ หยิบยกประเด็นด้านความโปร่งใสในการทำงานของ HUAWEI โดยใจความหลักคือกลัว HUAWEI จะร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศจีน และใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการสอดแนม โดยเฉพาะตอนนี้ที่เทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูงแบบ 5G กำลังจะมา จึงมองว่านี่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

พร้อมรวมเรื่องการปลดแบน HUAWEI ในเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้ากับจีน แม้ HUAWEI จะเป็นอันตรายต่อประเทศ

โดนัล ทรัมป์ — ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

สาเหตุที่แท้จริงเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อจีนไม่เล่นด้วยและแนวโน้มก็ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ ก็จะเจ็บหนักเหมือนกัน ทำให้ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า “พร้อมรวมประเด็นการปลดแบน HUAWEI ในเงื่อนไขข้อตกลงการค้ากับจีน” นั่นจึงชี้ให้เห็นว่าที่จริงแล้วสหรัฐฯ เพียงแค่ต้องการกีดกันการค้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้จีนยอมรับเงื่อนไข

นอกจากนี้ประเทศแถบยุโรปก็ออกมาหนุนโรงว่า HUAWEI ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ รวมถึง HUAWEI เองก็ยินดีเซ็นเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่มีการสอดแนม ตามที่สหรัฐฯ ได้กล่าวอ้าง แต่เรื่องนี้ก็เงียบหายไปและการแบนยังคงอยู่ เพราะที่จริงแล้วสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการความร่วมมือจาก HUAWEI แต่ต้องการให้จีนทำตามเงื่อนไขทางการค้าต่างหาก

ถ้าแสงไฟดับลงในโลกตะวันตก โลกตะวันออกก็จะยังคงส่องสว่าง และหากซีกโลกเหนือมืดมิดก็ยังคงมีซีกโลกใต้ อเมริกาไม่ใช่ทั้งโลก อเมริกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก

เหริน เจิ้งเฟย — ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งหัวเว่ยให้สัมภาษณ์ในปี 2019

แบรนด์จีนผนึกกำลัง ผสานพลังมังกร

หลังจากเกิดสงครามการค้าก็มีความคิดเห็นต่างๆ นานา แต่ก็มีบทวิเคราะห์ถึงทิศทางที่ว่าการเดินเกมของสหรัฐจะเป็น “การกระตุกหนวดมังกร” เหมือนทำให้ใครสักคนโกรธและลุกขึ้นมารวมพลังสู้ ประหนึ่ง Avengers Assemble ที่ผนึกกำลังต่อต้านผู้รุกราน

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 3
ข้อมูลจาก Couterpoint Research

หากไล่เรียงดูรายชื่อแบรนด์สมาร์ทโฟนแล้ว จะพบว่าแบรนด์ดังเกือบทั้งหมดมาจากจีน ไม่ว่าจะเป็น HUAWEI, OPPO, vivo, Xiaomi, realme, OnePlus, Lenovo, Moto รวมถึง BlackBerry ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ TCL และพึ่งจะปิดตำนานไปอีกรอบ ถ้าหากแบรนด์จีนร่วมมือกันก็จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองได้เหนือกว่าฝั่งสหรัฐฯ บางกระแสก็ลือกันว่าการกระทำของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดระบบปฏิบัติการแห่งชาติของจีนด้วยซ้ำ ถึงแม้จะฟังดูยากและห่างไกล แต่ก็เป็นไปได้ถ้าจีนคิดจะทำ เพราะเทคโนโลยีของจีนตอนนี้ไม่ได้เป็นรองทางสหรัฐฯ เลย

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 5

เรื่องราวเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราได้เห็นความร่วมมือระหว่าง Xiaomi, OPPO และ vivo จับมือกันสร้าง Ecosystem ให้แชร์ไฟล์ข้ามค่ายได้ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและอันที่จริงก็มีแอปหลายตัวทำแบบนี้ได้ แต่การที่ทางแบรนด์ออกมาสื่อสารแบบนี้มันคือเรื่องของกลยุทธ์ ที่ชี้ให้เห็นว่าจีนเริ่มผนึกกำลังกันแล้ว

ระหว่างนั้นเราก็เริ่มเห็นแบรนด์จีนเริ่มรุกหนักในแง่การสร้างรากฐานมากขึ้น โดยเฉพาะ OPPO และ HUAWEI ที่เดินหน้าจัดงานในแง่กลยุทธ์และการพัฒนาโครงสร้างระบบ ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยเน้นที่แถบเอเชียแปซิฟิคซึ่งเป็นฐานตลาดสำคัญของวงการสมาร์ทโฟน โดยยอดขาย 50% ของโลกมาจากเอเซียแฟซิฟิค

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 7

และเรื่องราวก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ทาง HUAWEI, OPPO, vivo และ Xiaomi ได้จับมือกับสร้าง Global Developer Service Alliance (GDSA) ที่เปรียบเสมือน App Store กลางเพื่อให้นักพัฒนาส่งแอปให้ถึงมือผู้ใช้งานได้ง่ายและเข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น

แม้ว่า Xiaomi จะออกมาชี้แจงว่าไม่มีเจตนาที่จะต่อต้าน Google แต่การร่วมมือกันแบบนี้ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักพัฒนาหันมาสนใจมากขึ้น และเมื่อมีแอปดีๆ มากขึ้นก็จะทำให้ลูกค้าไหลออกจาก Google ส่งผลให้แบรนด์จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบในเกมนี้

“Global Developer Service Alliance มีหน้าที่หลักเพื่ออำนวยความสะดวกในการอัพโหลดแอปพลิเคชัน โดยดีเวลลอปเปอร์สำหรับแอปสโตร์สำหรับ Xiaomi, OPPO, Vivo ตามลำดับ ซึ่งบริการนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการแข่งขันกับ Google Play Store”

คำแถลงการณ์จาก Xiaomi

Google ไม่เคยอยากตัดสัมพันธ์กับแบรนด์จีน และสหรัฐฯ กำลังทำให้ Google เดือดร้อน

ถ้าได้อ่านข่าวเมื่อปี 2019 จะเห็นชัดเลยว่าทุกบริษัทของสหรัฐฯ ไม่เคยอยากตัดความสัมพันธ์จากจีน เพราะต่างฝ่ายต่างพึ่งพากัน แม้ว่าระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android มาจากฝั่งสหรัฐฯ แต่ Apple ที่มีฐานผลิตใหญ่ตั้งอยู่ในจีนก็โดนผลกระทบ เช่นกันกับ Google ที่สมาร์ทโฟน Android ส่วนใหญ่ก็มาจากจีน

กลยุทธ์ของ Google ในการสร้าง Android ก็เพราะต้องการให้สมาร์ทโฟนทุกเครื่องใช้ Google Search เป็นค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นที่มาของรายได้และฐานข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล ในการนำไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อยอดเช่น AI และบริการต่างๆ

เหตุการณ์นี้ทำให้แบรนด์จีนไม่ไว้ใจ Google และ Android อีกต่อไป เพราะอาจโดนรัฐบาลสหรัฐฯ แทรกแซงได้ทุกเมื่อ จึงต้องเริ่มจริงจังกับแผนสำรองในการดัน Ecosystem ของตัวเอง

แม้ว่าหลายคนจะตื่นตัวกับข่าวเรื่อง GMS ของ Google และ HMS ของ HUAWEI แต่ถ้าสังเกตุให้ดี สมาร์ทโฟน Android แทบทุกค่ายจะมีระบบของตัวเองซ้อนอยู่ และเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว แม้กระทั่งแบรนด์อันดับหนึ่งอย่าง Samsung ก็มี Galaxy Store ของตัวเองที่ทับซ้อนหน้าที่กับ Google Play นั่นก็เพราะทุกค่ายเตรียมแผนรับมือและพึ่งพาตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร

ถ้า GDSA เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งที่ตามมาก็คือ Google จะเสียรายได้ไปอีกมหาศาล ทั้งเม็ดเงินจากส่วนแบ่งในการซื้อขายแอปแบบซื้อขาด, แบบ Subscribe, แบบ In-App Purchase รวมไปถึงโฆษณาต่างๆ ที่ฝังในตัวแอปด้วย

หากรวมส่วนแบ่งยอดขายโดยประมาณของ Samsung และ Apple จะอยู่ราว 35% นอกนั้นเป็นสมาร์ทโฟนจากจีนแทบทั้งหมด ถ้าแบรนด์จีนจับมือกันก็จะมีฐานผู้ใช้เยอะที่สุด

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี Android App Store เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีระบบจริงจังและมีความยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ถ้าจะใกล้เคียงหน่อยก็คงเป็น Amazon App Store ซึ่งก็ยังห่างไกลจากการจับมือครั้งนี้

และถ้ารายได้ไหลเข้า GDSA มากขึ้น ก็หมายความว่าแบรนด์จีนก็มีงบไปพัฒนาและมีฐานข้อมูลเพื่อทำวิจัยต่อยอดได้เยอะขึ้น รวมถึงนักพัฒนาก็จะได้รับเงินเยอะขึ้นด้วย นี่จึงเป็นการเดินหมากของสหรัฐฯ ที่ทำให้ Google สุ่มเสี่ยงมาก

Google คือมิตรและหอกข้างแคร่ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android …ผู้ผลิตคิด ค้นคว้า วิจัย ลงทุนผลิต แต่ถ้าคนชอบแล้ว Google ก็อาจหยิบมาใส่ใน Android เอง

นอกจากนี้ถ้าย้อนรอยดูพัฒนาการของ Android ในแต่ละเวอร์ชั่น ก็จะเห็นว่ามีการหยิบยืมฟีเจอร์ต่างๆ ที่แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทำ นำมาใส่ในตัว Android ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แบรนด์ไม่ได้พอใจนัก เนื่องจากลงทุนคิดค้นวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าตัวเอง แต่กลับถูก Google ทำของที่คล้ายกันและฝังใส่ Android ให้ทุกค่ายได้ใช้ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่แบรนด์หัวแถวอย่าง Samsung หรือแม้แต่ HUAWEI ต้องเตรียมแผนสำรองเผื่อแยกตัว ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองใน Ecosystem เช่น Tizen ของ Samsung และ HarmonyOS ของ HUAWEI เพื่อเป็นทางหนีทีไล่

การกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จากที่คุกรุ่นเป็นทุนเดิมก็ทำให้คู่ค้าและคู่แข่งรวมตัวกันคานอำนาจเยอะขึ้น

ถ้าย้อนไปตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ก็จะพบว่าสายงานเทคโนโลยีมีความหวั่นวิตกกับการมาของทรัมป์อยู่แล้ว เพราะจะมีผลกระทบกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และทรัมป์ก็เคยเชิญบริษัทหัวกะทิมานั่งหารือกัน โดยมีผู้เข้าร่วมเช่น Microsoft, Amazon, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Facebook, Paypal, Apple, Tesla, Oracle, Cisco, IBM ฯลฯ ประเด็นที่ทรัมป์ต้องการและมีผลกระทบกับบริษัทเทคโนโลยีเช่น เรื่องการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ, ภาษี, สิทธิพลเมือง รวมถึงการห้ามมุสลิม 7 ประเทศเข้าประเทศ ก่อนที่จะสั่งแบน HUAWEI ในปี 2019 ที่ถือเป็นต้นเหตุของเรื่องราว

Google กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิต ยากเกินจะตัดขาด

แม้ว่าในแง่มุมของแบรนด์จะผลักดันทางเลือกมาทดแทนบริการของ Google แต่ก็ต้องยอมรับว่ามนุษย์โลกส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกเหนือจากประเทศจีน ก็ผูกติดกับ Google ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Gmail, YouTube, Google Maps และอีกหลากหลายบริการ นี่ต่างหากที่เป็นโจทย์หินว่าทำยังไงให้คนยอมปล่อยมือจาก Google แล้วหันไปเข้ารีตด้วย

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 9

จากเสียงผู้ใช้ที่ได้ลองอยู่กับ HMS ที่ไร้ซึ่งบริการของ Google ก็ทำให้รู้ทันทีว่าที่จริงแล้วเราต้องการ Google มากแค่ไหน แม้ว่าจะสามารถจะโน้มน้าวจูงใจให้นักพัฒนาหันมาสมทบกับ GDSA ได้ หรือแม้กระทั่งหาบริการมาทดแทน Google Maps ได้ แต่สิ่งที่เป็น User Generated Content อย่าง YouTube คือสิ่งที่ทดแทนกันไม่ได้

ครั้งหนึ่งเราใช้ MSN แต่ตอนนี้เราใช้ Facebook … เราขาด Google ไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของอนาคต

แต่นั่นก็ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต เพราะถ้ามีปัจจัยที่ดึงดูดมากพอ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คนจะหันไปอัปโหลดคลิปขึ้นช่องทางอื่นแทน หรืออาจจะมี Tool ในการช่วยให้ดูดคลิปเก่าๆ มาขึ้นในช่องทางใหม่ก็ยังได้ หากเวลาอันเหมาะสมมาถึง

ลองนึกย้อนกลับไปในอดีต ใครจะคิดว่ายักษ์ใหญ่แห่งวงการมือถืออย่าง Nokia จะค่อยๆ ทรุดลงจนตอนนี้กลายเป็นแบรนด์นอกสายตา หรือโปรแกรมแชทยอดนิยมอย่าง MSN จะถูกแทนที่ด้วย Facebook ซึ่งนั่นก็เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกว่า Google เองก็อาจก้าวขาเข้าสู่เกมที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบแล้ว

…เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะหยุดทำสงครามการค้าและปลดแบน เพื่อให้แบรนด์จีนชะลอการพัฒนาระบบของตัวเองและลดแรงต่อต้าน เพื่อให้แบรนด์ฝั่งสหรัฐฯ ได้มีเวลาปรับทัพเช่นกัน

สภาพแวดล้อมวงการสมาร์ทโฟนและความน่าจะเป็นในปี 2020

เมื่อมองที่ส่วนประกอบในแวดวงสมาร์ทโฟนแล้วก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งหลายฝ่ายบอกตรงกันว่าปี 2020 เป็นปีที่คาดเดาทิศทางได้ยากมาก ต่างจากปีก่อนๆ ที่พอเห็นเค้าลางบ้าง นั่นก็เพราะปีนี้มีปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องสงครามการค้า, สภาพเศรษฐกิจ, ไวรัสอู่ฮั่น รวมไปถึงการฟาดฟันกันอย่างรุนแรงของแต่ละค่าย ที่เหมือนสะสมปัญหาจนมากระทบในปีนี้

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 11
ข้อมูลจาก Counterpoint Research

ในแง่ยอดขายและราคาต้องยอมรับว่า Apple เป็นเพียงรายเดียวที่ไร้ซึ่งคู่แข่งมาโดยตลอด เนื่องจากพัฒนาระบบ iOS ของตัวเอง เลยไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงเหมือนพวก Android ที่มีหลายรุ่นหลายแบรนด์ ดังนั้น Apple จึงมีกำไรสูงสุดมาตลอด และที่สำคัญก็คือไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 เราได้เห็น Apple มียอดขายแซงนำ Samsung ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง

ซึ่งข้อมูลชุดนี้ก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจก็คือ Apple โกยฐานผู้ใช้จากฝั่งสหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก เมื่อประกอบเข้ากับข้อมูลที่ว่า OPPO เป็นเบอร์หนึ่งในไทยและโดดเด่นในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ส่วน HUAWEI ตอนนี้ก็มีฐานหลักจากจีน นั่นทำให้มีความน่าสนใจว่า Samsung ใช้กลยุทธ์อะไรถึงยังเป็นเบอร์หนึ่งตลอดกาล

บทวิเคราะห์การตอบโต้จากแบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่งจีน หลังโดนสหรัฐฯ สั่งแบนในสงครามการค้า ฉบับปี 2020 13
ข้อมูลจาก IDC

จากสถิติที่ว่าเอเซียแปซิฟิคคือถังเงินหลักของโลกสมาร์ทโฟน ทำให้ Samsung เองก็พยายามรุกตลาดนี้ให้มากขึ้นเพื่อแย่งส่วนแบ่งจากเบอร์หนึ่งอย่าง OPPO กรณีที่เห็นได้ชัดคือการใช้ประเทศไทยในการจัด Global Launch และพา BLACKPINK มาเรียกกระแสด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะได้ผลไม่ดีนักเพราะคู่แข่งเน้นขายตัดราคาได้ถูกกว่า และสุดท้ายคนก็เลือกรุ่นที่ถูกกว่า โดยเฉพาะช่วงราคา 6,000 – 20,000 บาทที่แบรนด์จีนเน้นทำตลาด ทำให้ Samsung มีช่องว่างทางตลาดไม่มากนัก หากยังอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งในแง่ยอดขายก็ต้องลงไปเล่นที่รุ่นราคาต่ำซึ่งปีที่ผ่านมาก็ทำได้ดี แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป Samsung จะหลุดจากตำแหน่งอย่างแน่นอน

ปี 2020 ในช่วงที่จีนหยุดยาวกับเทศกาลตรุษจีน Samsung จึงฉวยจังหวะนี้ในการเริ่มเดินเครื่องก่อน ด้วยการเปิดตัว A series พร้อมกับ BLACKPINK ที่อินโดนีเซีย และทำการ Refresh Flagship กับรุ่น Lite ให้มีราคาถูกลงและจับต้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจนทำให้คนเริ่มตั้งตารอดู Next Flagship อย่าง Samsung Galaxy S20

และถ้าสังเกตปี 2019 จะเห็นชัดเลยว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเริ่มอิ่มตัวสุดๆ แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะ Google เองพยายามตีกรอบ Android ให้ทุกค่ายเหมือนกันเพื่อลด Flagmentation และลดภาพจำที่ว่า Android ช้าและหน่วง แต่นั่นก็ทำให้การแข่งขันและทางเลือกลดลงไปด้วย ประกอบกับการที่ Samsung ออกตัวแรงร่อนจดหมายหาสื่อโดยมีใจความว่า “Galaxy S20 จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของวงการสมาร์ทโฟนในปี 2020” จึงมีแนวโน้มว่าแต่ละค่ายจะมีของคล้ายๆ กันเหมือนปีที่ผ่านมา และยังคงแข่งกันที่ราคาต่อไป

แต่ก็ใช่ว่านี่จะเป็นปีที่ยากสำหรับ Samsung เพราะแบรนด์ Android หมายเลขสองอย่าง HUAWEI ก็ยังคงถูกแบนห้ามใช้ GMS ซึ่งแม้ว่า HUAWEI Mate 30 Pro ที่มาพร้อม HMS จะมียอดขายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่นั่นก็เพราะรุ่นเรือธงของ HUAWEI ได้ปูฐานตลาดคือกลุ่ม Expert และคนที่เป็น Tech Enthusiast ไม่ใช่กลุ่มที่เน้นซื้อตามกระแสหรือแฟชั่น จึงไม่กระทบกับยอดขายมากนัก บวกกับฐานลูกค้าในจีนก็เติบโตขึ้นเนื่องจากการรวมตัวต่อต้านสหรัฐฯ แต่สำหรับรุ่นกลางและล่างก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักถ้าจะวางขายทั่วไปแบบไม่มี GMS

หัวแถวตีกัน ส้มอาจหล่นที่ OPPO

ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนเกมจะเข้าทาง OPPO มากที่สุด เพราะสามารถขายได้ทั่วโลกตามปรกติ และยังได้ลูกค้าจากในจีนซึ่งแบรนด์ต่างชาติเจาะเข้ายาก รวมไปถึงภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคที่ OPPO แข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะรุ่นกลางและล่าง

สิ่งที่ OPPO กำลังจะทำในปี 2020 ก็คือการยึดตลาดเรือธง เมื่อตีครบทุกช่วงราคาในเวลาที่ HUAWEI โดนกีดกันและ Samsung โดนรุมกินโต๊ะอยู่ ก็น่าจะเป็นแบรนด์ที่เส้นทางสวยหรูที่สุดในตอนนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงไม่สามารถโค่น Samsung ลงได้ในเร็ววัน และแบรนด์ที่จะสามารถโค่น Samsung ได้ก็โดนสหรัฐฯ สั่งแบนไปแล้ว ต้องให้เวลาอีกพักใหญ่กว่า HMS จะแข็งแกร่งพอลงสนามรบ ซึ่ง GDSA ก็จะเป็นอีกส่วนผสมที่ช่วยเร่งให้ HMS แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน

อีกตัวละครสำคัญก็คือ Apple อย่าลืมว่าไตรมาสล่าสุด Apple กลับมาสร้างยอดขายได้มากที่สุดเหนือ Samsung แล้ว ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงก็คือ Apple มีกำไรเยอะมาก เหลือเฟือพอที่จะลดราคาแล้วปั่นยอดขายให้ทิ้งห่าง Samsung สบายๆ แต่นั่นจะทำให้โครงสร้างตลาดพังทั้งหมด และก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่ Apple ต้องทำแบบนั้น เว้นแต่ Tim Cook จะอยากได้สถิติสวยๆ ว่ามียอดขายสมาร์ทโฟนมากที่สุดแบบไตรมาสที่ผ่านมา

ถ้าของราคาสูงแต่ขายได้ นั่นแปลว่าของเค้าดีจริงและคนยอมจ่าย

ถ้านับเฉพาะวงการสมาร์ทโฟนไม่รวบสินค้าอื่นที่แต่ละแบรนด์วางขาย คงต้องบอกว่าจากข้อมูล ณ ตอนนี้ OPPO เส้นทางสะดวกที่สุดแล้ว และยิ่งมีโปรเจ็คความร่วมมือ GDSA ก็จะช่วยให้แบรนด์จีนทุกรายเติบโตเร็วขึ้นอีกด้วย อีกปัจจัยสำคัญก็คือในยุค 5G และ AI เทรนจะเริ่มไปทาง IoT และสมาร์ทโฮมแทน ทำให้แบรนด์ที่เน้นด้านสมาร์ทโฟนเป็นหลักมีโอกาสมากยิ่งขึ้น

แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังยืนยันคำเดิมว่าปี 2020 เป็นปีที่คาดเดาสถานการณ์ยากที่สุดตั้งแต่ผมเริ่มเข้าสู่วงการนักรีวิวเลยก็ว่าได้