รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6

ปัญหาคลาสสิคที่เน็ตบ้านมีปัญหาเมื่อไร คนก็มักจะโทษเน็ตทันทีโดยลืมนึกถึงตัวเร้าเตอร์ในบ้าน ซึ่ง TP-Link Archer AX20 เป็นเร้าเตอร์อีกตัวที่ช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานเน็ตในบ้านดียิ่งขึ้น

เป็นที่รู้กันว่าเร้าเตอร์ที่ทางผู้ให้บริการเน็ตบ้านจัดมาให้ในชุด มักจะมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานทั่วไป ประเภทว่ารองรับจำนวนเครื่องและการรับส่งข้อมูลไม่เยอะมาก แต่ถ้าบ้านใครใช้ IoT หรือ Smarthome หรือมีอุปกรณ์เยอะๆ ก็มักจะพบปัญหาด้านความเสถียรทันที

TP-Link Archer AX20 ติดตั้งง่ายทำได้เอง

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 3

TP-Link Archer AX20 มีการดีไซน์ค่อนข้างแปลกด้วยความยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงการจัดวางด้วย พอร์ตการใช้งานมี WAN และมีช่อง LAN มาให้อีก 4 พอร์ต มีช่อง USB 2.0 สำหรับเสียบ HDD, SSD เพื่อทำเป็นไดรฟ์สำหรับแชร์และใช้เป็น Time Machine สำหรับ Backup ให้กับ macOS ได้ด้วย

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 5

การเริ่มต้นใช้งานทำได้ง่ายมาก สามารถตั้งค่าผ่านหน้าเว็บ http://tplinkwifi.net หรือใช้แอพ TP-Link Tether ตั้งค่าผ่านมือถือก็ได้

เราสามารถตั้งค่าพื้นฐานและจัดการ Device ต่างๆ ผ่านตัวแอพได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม Priority ให้ Device นั้นมีความสำคัญกว่าปรกติ หรือการจัดการ Parental Control การตั้งค่า QoS การเรียกใช้ Diagnostics เพื่อวิเคราะห์ปัญหาในกรณีที่เน็ตมีปัญหา ทำได้แม้กระทั่งการจัดการไฟสถานะ LED ไปจนถึงการสั่ง Reboot

ระบบ Smart Connect ควบรวมการเชื่อมต่อทั้ง 2 ความถี่ให้ง่ายขึ้น

ความถี่ Wi-Fi แบ่งออกเป็น 2.4GHz และ 5GHz ซึ่งทั้งคู่มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน โดยแบบ 2.4GHz จะมีอาณาบริเวณครอบคลุมไกลกว่า แต่ให้ความเร็วที่ต่ำกว่า ดังนั้นถ้าอยากใช้เน็ตเร็วๆ ต้องเชื่อมต่อกับความถี่ 5GHz แต่ก็ต้องบอกว่าอุปกรณ์หลายอย่างโดยเฉพาะกลุ่ม Smarthome มันจะรองรับแค่ 2.4GHz เพราะอุปกรณ์พวกนี้ไม่ต้องการความเร็วมากมาย แต่ต้องการระยะการเชื่อมต่อที่ไกล

ปัญหาที่ตามมาก็คือการตั้งชื่อ Wi-Fi ที่ค่อนข้างวุ่นวาย เพราะถ้าตั้งเป็นชื่อเดียวกันทั้ง 2 ความถี่ บางครั้งตัวอุปกรณ์ก็จะสับสนว่าต้องเชื่อมต่อตัว 2.4GHz หรือ 5GHz ดังนั้นหลายคนเลยนิยมตั้งชื่อแยกเช่น MyWiFi และ MyWiFi_5GHz ซึ่งแบบนี้จะเสถียรกว่าแต่ก็น่าเบื่อกับการที่ต้องมาเลือกว่าจะเชื่อมต่อเน็ตอันไหน

ดังนั้น Smart Connect จึงเป็นทางออกที่ดี เพราะเราเพียงแค่กดเชื่อมต่อ Wi-Fi ตามปรกติ แล้วระบบหลังบ้านจะบริหารจัดการเองว่าอุปกรณ์ตัวนี้ควรจะวิ่งที่ 2.4GHz หรือ 5GHz

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 13

ในทางปฏิบัติสำหรับ TP-Link Archer AX20 สามารถเชื่อมต่อได้สะดวก แต่ยังไม่สามารถตั้งค่าได้ว่าจะเน้นจับ 5GHz ที่เร็วกว่า หรือจะกระจายความถี่ให้สมดุลเพื่อให้ส่งสัญญาณได้ดี ซึ่งส่วนตัวแล้วผมต้องการใช้ Notebook, PC, Smartphone, Tablet จับกับ 5GHz ที่เร็วกว่า และอุปกรณ์อื่นๆ จำพวก IoT, Smarthome จับกับ 2.4GHz แต่ในความเป็นจริงแล้วบ่อยครั้งที่ Smartphone ไปจับกับ 2.4GHz ที่ช้ากว่า ทำให้เล่นเน็ตไม่สะใจเท่าที่ควร

Wi-Fi 6 ที่เร็วกว่าและระบบบริหารจัดการสัญญาณที่ดีกว่า

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 15

ผมใช้เน็ตของ True Gigatex Fiber ความเร็ว 1000/500 Mbps ซึ่งการจ่ายรายเดือนใช้เน็ตราคาสูง ผมก็คาดหวังจะได้รับประสบการณ์ที่ลื่นไหล ซึ่งเร้าเตอร์ที่ทางทรูแถมมาให้จัดว่าดีพอตัว แต่ดีไม่พอสำหรับการใช้งานของผม เนื่องจากผมมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Smarthome ตลอดเวลาราว 20 ชิ้น ไม่รวมอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่ง IoT จะมีการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งเกิดความสามารถของเร้าเตอร์ที่แถมมาจนทำให้ระบบไม่เสถียร

ผมจึงแก้ไขลดภาระเร้าเตอร์แถมด้วยการจับมันทำเป็นเสมือนโมเดม แล้วต่อสาย WAN เข้า TP-Link Archer AX20 เพื่อทำหน้าที่กระจายสัญญาณแทน ก็เสถียรขึ้นในระดับที่ใช้งานได้แบบไม่หงุดหงิดใดๆ

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 17

นอกจากนี้ยังมีระบบ OFDMA ที่จะจัดการ Packet ข้อมูลต่างๆ ให้ต่อเนื่องยิ่งขึ้น ถ้าให้อธิบายอย่างง่ายก็คือระบบดั้งเดิมจะใช้วิธีส่งสัญญาณไปหาอุปกรณ์ทีละเครื่องสลับวนกันไป ถ้ามีอุปกรณ์หลายอย่างก็ทำให้แต่ละเครื่องต้องรอนานกว่าจะวนมาถึงรอบของตัวเอง แต่แบบ OFDMA จะใช้วิธีส่งข้อมูลพร้อมกันทุกเครื่อง ทำให้ใช้งานได้รวดเร็วทุกอุปกรณ์

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 19

มีการใช้ Beamforming ที่ยิงสัญญาณไปหาอุปกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น และรองรับ MU-MIMO ทำให้มีสปีดการใช้ Wi-Fi สูงอยู่ที่ประมาณ 1200 Mbps และจากการใช้งานจริงด้วย HUAWEI P40 Pro ที่รองรับ Wi-Fi 6 ก็ได้ความเร็วที่สูงกว่า Wi-Fi แบบเดิมๆ พอตัว

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 21

UI เข้าใจง่าย ตั้งค่าการใช้งานได้สะดวก

นอกจากส่วนหลักอย่างการกระจาย Wi-Fi แล้ว ยังสามารถตั้งค่า Guest Network สำหรับผู้มาเยือนได้ด้วย โดยเลือกเปิดได้ทั้ง 2.4GHz และ 5GHz และยังเลือกได้ว่าจะใช้ Guest แต่ละเครื่องมองเห็นกันเองได้ไหม หรือเข้าสู่วงหลักในบ้านของเราได้รึเปล่า

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 23

การตั้งค่า USB เพื่อต่อ HDD หรือ SSD ในการทำเป็นไดร์ฟสำหรับแชร์ข้อมูลภายในบ้าน ก็เลือกได้ว่าจะให้ Permission ไอดีไหนในการเข้าถึงข้อมูลจาก USB รวมถึงสามารถตั้งให้เข้าถึงข้อมูลจากนอกบ้านได้ด้วย โดยใช้ DDNS

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 25

การใช้งาน DDNS หรือ Dynamic DNS เพื่อเข้าถึงข้อมูลจากนอกบ้าน สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ของฟรีจาก TP-Link, NO-IP หรือ DynDNS

รีวิว TP-Link Archer AX20 เร้าเตอร์ Wi-Fi 6 27

การ Monitor ดูข้อมูลการทำงานต่างๆ ก็ทำได้อย่างเรียบง่าย นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเวลาการทำงานได้ด้วยว่าจะให้มีการ Reboot หรือปิด Wi-Fi เมื่อไร

บทสรุปรีวิว TP-Link Archer AX20

สิ่งแรกที่ทำได้น่าตื่นเต้นคือความเป็น Wi-Fi 6 ถ้าใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่รองรับก็ทำงานได้เร็วมาก ซึ่งมือถือรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มรองรับ Wi-Fi 6 กันแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่าระบบ Smart Connect ยังทำได้ไม่ดีเท่าไร แม้จะเชื่อมต่อได้ง่าย แต่ระบบก็จัดการเลือกความถี่ให้ไม่ถูกใจเท่าไร มันมักจะผลัก iPhone 11 Pro Max ของผมไปจับ 2.4GHz แล้วเอา iPad กับ HUAWEI Mate 30Pro และ HUAWEI P40 Pro ไปจับ 5GHz ซะงั้น กลายเป็นว่า iPhone ผมเล่นเน็ตช้ากว่าเครื่องอื่นเฉยเลย ซึ่งผมยังหาวิธีตั้งค่าตรงนี้ไม่เจอ อาจจะต้องรอลุ้นกับการอัพเดท Firmware อีกที

ถ้าเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องการบริหารความถี่อุปกรณ์จริงๆ แนะนำว่า Manual เลือกเชื่อมต่อเองดีกว่าว่าจะให้อุปกรณ์ตัวไหนต่อ 2.4GHz หรือ 5GHz แต่ถ้าใช้งานทั่วไปก็ถือว่าเพียงพอแล้วครับ

เรื่องความเสถียรนับว่าทำได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ใช้ต่อเนื่องหลายวันโดยไม่ต้องทำการ Reboot ได้สบาย การใช้งานต่างๆ ถือว่าทำง่ายมาก แทบไม่จำเป็นต้องมีความรู้ก็สามารถตั้งค่าพื้นฐานได้สบาย