ทีมนักเรียนจาก ร.ร.อ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม คว้าที่หนึ่งด้วย ‘โครงงาน IoT แจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้’ จากการแข่งขันโค้ดดิ้ง micro:bit
เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์จัดกิจกรรม #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทยให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง ผ่านการแข่งขันการใช้ทักษะดิจิทัล ซึ่งปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้นำ micro:bit เข้ามาใช้เป็นปีแรก โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงงาน “แบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT” โดยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุปกรณ์จะสามารถตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนดไว้หรือไม่ จากนั้น อุปกรณ์จะทำการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ผ่านแอปพลิเคชันการส่งข้อความ พร้อมส่งข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่ แผนที่พิกัดที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุณหภูมิที่เกิดเหตุ ชื่อของผู้ใช้งาน และเบอร์ติดต่อ ไปที่เว็บไซต์ที่จัดทำให้สำหรับสถานีดับเพลิง โดยในขณะเดียวกัน ตัวอุปกรณ์ก็จะสามารถสั่งงานให้เปิดน้ำเพื่อดับไฟแบบเบื้องต้นได้อีกด้วย โดยทีมผู้ชนะ ซึ่งได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แข่งขันร่วมกับทีมนักเรียนทั้งหมด 13 ทีม และมีนักเรียนหญิงผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน
นางสาวจุฬาลักษณ์ แตงเอี่ยม หนึ่งในสมาชิกของทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขัน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า “ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สมาชิกทุกคนในทีมของเราไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโค้ดมาก่อนเลย ซึ่งเราได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดเป็นครั้งแรกจากการฝึกอบรมที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้นในวันแรกของการแข่งขัน และเรารู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเรา มันไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ เมื่อเอามาประกอบความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรารับรู้ว่าเราทำได้ โครงงานแบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT ถูกจัดทำขึ้นเพราะเราเห็นว่าในปัจจุบัน มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันหรือลดการสูญเสียได้ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
โครงการ #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด