รีวิว Vivo Y12 ฉบับใช้งานจริง มือถือจอ 6.35 นิ้ว แบตอึดถึก 5,000 mAh
วันนี้ผมจะมารีวิวมือถือสำหรับคนไม่ชอบอยู่ติดปลั๊ก ไม่อยากชาร์จแบตบ่อยๆ กับ Vivo Y12 ที่มีจุดเด่นเป็นแบตเตอรี่ขนาด 5,000 mAh แค่เห็นตัวเลขก็รู้แล้วว่าแบตอึดแน่นอน สำหรับสเปกอื่นๆ มีดังนี้
- หน้าจอ Halo FullView Display ขนาด 6.35 นิ้ว ความละเอียด HD+
- ขนาดตัวเครื่อง 159.43 × 76.77 × 8.92 มม.
- น้ำหนัก 190.5 กรัม
- ชิปเซ็ต MediaTek Helio P22 (MT6762)
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32 GB
- แรม 3 GB
- กล้องหลัง 3 ตัว 13 MP f/2.2 + 8 MP f/2.2 Ultra-wide + 2 MP f/2.4
- กล้องหน้า 8 MP f/1.8
- Wi-Fi 2.4GHz + 5GHz
- Bluetooth 5.0
- สแกนลายนิ้วมือและปลดล็อกด้วยใบหน้า
- แบตเตอรี่ 5,000 mAh ไม่มีชาร์จเร็ว
- micro USB
- ช่องหูฟัง 3.5 มม.
- ระบบปฏิบัติการ Funtouch OS 9 (มีพื้นฐานบน Android 9.0)
- ราคาเปิดตัว 4,999 บาท
ซึ่งวันนี้ผมจะมารีวิวความอึดถึกทนของแบตเตอรี่ด้วยการใช้งานจริงกันไปเลย ว่าจะรับการใช้งานของผมได้ขนาดไหน
แกะกล่องชมตัวจริง
Vivo Y12 ให้อุปกรณ์มาอย่างครบครัน โดยอุปกรณ์ในกล่องมีดังนี้
- Vivo Y12
- เคสยางใส
- เข็มจิ้มซิม
- ที่ชาร์จและสายชาร์จ
- คู่มือ
สิ่งที่ดูจะขาดไปคือหูฟัง แต่ในยุคปัจจุบันหลายคนมีหูฟังเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และหูฟังหลักร้อยเสียงดีๆ มีให้เลือกซื้อมากมาย จึงอาจจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่
สำหรับการดีไซน์ต้องบอกเลยว่าเป็นมือถือที่ดีไซน์ออกมาได้สวยงามมาก สำหรับเครื่องที่ได้มารีวิวเป็นสี Aqua Blue ที่ได้แรงบันดาลใจจาและมีเอฟเฟกต์ที่เล่นกับแสงสร้างลวดลายบนฝาหลังอย่างสวยงาม
กล้องหลังสามตัวตัดขอบด้วยสีทองเพิ่มความหรูหรา พร้อมสัญลักษณ์ AI TRIPLE CAMERA ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นของรุ่นนี้
บริเวณขอบเครื่องและปุ่มต่างๆ ทำเป็นสีเดียวกับฝาหลัง เพิ่มความสวยงามเข้าไปอีก
เริ่มต้นใช้งาน
ขั้นแรกต้องใส่ซิมกันก่อน เมื่อใช้เข็มจิ้มสล็อตใส่ซิมออกมา ก็พบว่าเป็นสล็อตแบบแยกกัน 3 สล็อตระหว่างซิมและ micro SD ด้วย
เสร็จแล้วก็นำเครื่องใส่เข้าไปในเคสที่แถมมา เคสฟิตเข้ากับตัวเครื่องพอดี ขอบเคสด้านหน้าทำนูนสูงจากหน้าจอทำให้ไม่ต้องกังวลเวลาวางคว่ำหน้า และหน้าจอก็ติดฟิล์มมาให้เรียบร้อยแล้ว ตัวเคสมีฝาปิดพอร์ต USB ป้องกันฝุ่นเข้าด้วย
เมื่อใส่ซิมเสร็จก็เปิดเครื่องและเซ็ตอัพระบบจนเรียบร้อย โดยรุ่นนี้สามารถปลดล็อกเครื่องได้สองวิธี คือ ปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือด้วยเซ็นเซอร์ด้านหลังเครื่อง และปลดล็อกด้วยใบหน้าซึ่งทำงานได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับการควบคุมตัวเครื่อง สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ปุ่มควบคุมแบบที่เราคุ้นเคยกันหรือใช้การควบคุมด้วยท่าทาง ทำให้แสดงผลได้อย่างเต็มจอ โดยวิธีควบคุมมีดังนี้
- ปัดขึ้นจากขอบซ้ายเพื่อเปิดศูนย์ควบคุม
- ปัดขึ้นจากตรงกลางเพื่อกลับหน้าหลัก
- ปัดขึ้นจากมุมขวาเพื่อย้อนกลับ
- ปัดขึ้นจากตรงกลางแล้วกดค้างไว้เพื่อเข้าหน้า Recent apps
เมื่อตั้งค่าต่างๆ เสร็จก็ถึงเวลาดาวน์โหลดแอปลงเครื่อง ซึ่ง Vivo Y12 ให้พื้นที่เก็บข้อมูลมา 32 GB ซึ่งถือเป็นความจุที่ให้เราสามารถดาวน์โหดแอปและเกมลงเครื่องได้สบายๆ ไม่ต้องเกร็ง หลังจากลงแอปที่ผมใช้ส่วนใหญ่จนครบ ยังเหลือที่ให้ใช้งานอีกถึง 13.85 GB
เซ็นเซอร์ต่างๆ ก็ใส่มาให้อย่างครบถ้วน
Vivo Y12 ใช้ระบบปฏิบัติการ Funtouch OS ที่มีพื้นฐานบน Android 9 Pie โดยทาง Vivo ได้เพิ่มฟีเจอร์และปรับปรุงหน้าตาระบบ Android ให้สวยงามและใช้งานง่ายขึ้น เมื่อปัดลงจากด้านบนจะเป็นศูนย์รวมการแจ้งเตือนต่างๆ พร้อมแถบค้นหาแบบครอบจักรวาล (ซึ่งผมจะอธิบายให้ฟังทีหลัง) และเมื่อปัดขึ้นจากมุมซ้ายจะเป็นศูนย์ทางลัด ที่สามารถใส่ทางลัดทำกิจกรรมต่างๆ และเป็นศูนย์ควบคุมและตั้งค่าของเครื่อง
โดยหน้าขวาสุดของหน้าจอจะเป็นหน้าผู้ช่วยอัจฉริยะ ที่จะบอกข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตารางการแข่งขันฟุตบอลทีมโปรด สภาพอากาศ การแจ้งเตือนปฏิทิน และทางลัดเข้าแอป พร้อมช่องค้นหาแบบครอบจักรวาล ที่สามารถค้นหาได้ทุกอย่างตั้งแต่แอป ข้อความ รายชื่อภายในเครื่อง จนถึงค้นหาผ่าน Search engine อย่าง Google
สำหรับใครที่เบื่อง่าย สามารถเข้าไปดาวน์โหลดธีมต่างๆ มาเปลี่ยนได้เลย โดยเปลี่ยนได้ทั้ง วอลเปเปอร์ รูปแบบหน้าล็อกหน้าจอ จนถึงแบบอักษรภายในเครื่อง
เครื่องรองรับการโคลนแอป ทำให้ใช้แอป Social media ต่างๆ แบบ 2 แอคเคาท์ได้
i Manager เป็นแอปดูแลเครื่องแบบครบวงจร ไม่ต้องไปหาดาวน์โหลดจากที่ไหนมาเพิ่ม โดยมีฟีเจอร์ดังนี้
- ล้างพื้นที่ ลบไฟล์ขยะในเครื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่าง
- การสแกนไวรัส สแกนไวรัสเพื่อความปลอดภัยของเครื่อง โดยเฉพาะคนที่ดาวน์โหลดไฟล์บ่อยๆ ใช้เอนจินจาก Avast โปรแกรมสแกนไวรัสชื่อดัง
- การจัดการเครือข่าย สำหรับคนที่มีปริมาณอินเทอร์เน็ตจำกัด ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้เราจำกัดได้ว่าแอปไหนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายได้บ้าง
- ตัวจัดการแอป รวมการตั้งค่าต่างๆ ของแอปในเครื่องไว้ที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นการอัปเดต ถอนการติดตั้ง ให้สิทธิ์ต่างๆ เป็นต้น
- ป้องกันการรบกวน จัการเบลอที่บล็อก
- การเข้ารหัสแอป บังคับให้ใส่รหัสก่อนเข้าใช้งานแอป
การใช้งานอัจฉริยะ เป็นศูนย์รวมฟีเจอร์พิเศษจาก Vivo ที่ทำให้เราใช้งานเครื่องได้สะดวกสบายมากขึ้น
- Smart wake สั่งงานเครื่องขณะที่จอปิดด้วยการวาดสัญลักษณ์ลงบนหน้าจอ
- ใช้งานโดยไม่สัมผัส สั่งงานเครื่องด้วยการโบกมือไปมาเหนือหน้าจอเวลาเครื่องวางอยู่บนพื้นและปิดหน้าจออยู่
- เปิด/ปิด หน้าจอแบบอัจฉริยะ เป็นฟังก์ชั่นที่ทำให้เราควบคุมการเปิดปิดหน้าจอได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องกดปุ่ม Power อย่างเดียว เช่น ยกมือถือขึ้นมาแล้วหน้าจอเปิดเอง แตะที่หน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดจอ หน้าจอจะไม่ดับเองเวลาเราจ้องจออยู่ เป็นต้น
- เขย่าเพื่อเปิดไฟฉาย เขย่าเครื่องเพื่อเปิดฟังก์ชันไฟฉาย
- การเตือนอัจฉริยะ เวลาเรายกมือถือขึ้นจากโต๊ะ หน้าจอจะขึ้นแจ้งเตือนให้เราดูอัตโนมัติ
ภาพหน้าจอพิเศษ ใช้คีย์ลัดด้วยการปัดสามนิ้วเพื่อจับภาพหน้าจอ และสามารถจับภาพหน้าจอแบบยาวได้ด้วย รวมถึงบันทึกวิดีโอหน้าจอด้วย
เริ่มต้นใช้งานด่วน ตั้งค่าให้เวลากดปุ่มลดเสียงค้างเวลาปิดหน้าจอเป็นคีย์ลัดต่างๆ โดยตั้งได้อิสระว่าจะให้เปิดไฟฉาย เปิดกล้อง หรือจะให้เปิดแอปก็ได้
สำหรับเครื่องที่นำมารีวิวใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน PD1901EF_EX_A_1.13.3 ซึ่งการใช้งานจริงมีการกระตุกเป็นพักๆ ซึ่งตรงนี้คาดว่าเกิดจากเป็นซอฟต์แวร์เวอร์ชันก่อนขายจริง จึงยังไม่สมบูรณ์ เวอร์ชันขายจริงน่าจะใช้งานได้อย่างลื่นไหล
หลังจากนั่งทำงานมานานก็ได้เวลาออกเดินทางเพื่อไปทำธุระอื่นๆ แล้ว โดยตลอดการเดินทาง ผมจะใช้ Vivo Y12 เปิด Hotspot ให้มือถือเครื่องหลักของผมตลอดเวลาด้วย
เมื่อออกมาข้างนอก ผมเลยได้ใช้ประโยชน์ของหน้าจอ Halo FullView Display ขนาด 6.35 นิ้ว ที่ขอบบางทั้งสี่ด้าน ทำให้เรามีมือถือหน้าจอใหญ่ที่ควบคุมด้วยมือเดียวได้ ยิ่งเปิดการใช้งานควบคุมด้วยท่าทางยิ่งทำให้เต็มจอสุดๆ แถมหน้าจอยังสว่างมากพอที่จะสู้แดดกรุงเทพฯ ตอนเที่ยงได้สบายๆ ไม่ต้องคอยเพ่งเวลาใช้ หรือหากใครมือเล็ก ก็มีโหมดใช้งานมือเดียวมาช่วยเช่นกัน
ระหว่างทางผมได้ทดสอบกล้องหลัง 3 ตัว AI TRIPLE CAMERA ประกอบด้วยกล้อง 13 MP f/2.2 + 8 MP f/2.2 Ultra-wide + 2 MP f/2.4 ของเจ้า Vivo Y12
หน้าอินเทอร์เฟซกล้องมีการนำเมนูที่เราน่าจะใช้บ่อยออกมาวางข้างนอกเลย อย่างเช่น ฟิลเตอร์ภาพ, HDR, จับเวลาถ่ายภาพ สลับกล้องหลักและกล้องมุมกว้าง รวมถึงเปลี่ยนอัตราส่วนภาพเป็นแบบเต็มจอ กล้องสามารถสั่งให้ถ่ายโดยยกฝ่ามือขึ้นมาได้ด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกในการถ่ายภาพหมู่
แต่มีจุดเล็กๆ ที่ควรปรับปรุงคือหน้าตั้งค่ากล้องที่พอเลือกเปิด/ปิดออปชั่นใดๆ ก็ตาม หน้าตั้งค่าจะปิดอัตโนมัติ ทำให้เวลาต้องการตั้งค่าทีละหลายๆ อย่างนั้นเสียเวลามาก
กล้องยังมี AI ที่ช่วยปรับการตั้งค่ากล้องอัตโนมัติ เช่น ถ้าถ่ายท้องฟ้าจะมีการเร่งสีท้องฟ้าให้สวยงาม ถ้ามีการถ่ายย้อนแสงจะเปิด HDR ให้อัตโนมัติ
และมีเลนส์มุมกว้างที่ช่วยในการถ่ายวิวและอาคารต่างๆ และยังช่วยให้ถ่ายภาพในมุมมองที่แปลกใหม่ได้ด้วย
สำหรับกล้อง 2MP จะมาช่วยในการถ่ายภาพแบบจำลองเอฟเฟกต์ Bokeh หรือหน้าชัดหลังเบลอ ให้มีการตัดขอบได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นยังเลือกจุดโฟกัสทีหลังได้ด้วย
สำหรับใครที่ชอบปรับแต่งเอง ก็มีโหมดอาชีพให้ใช้ โดยสามารถเปิดชัตเตอร์ได้นานสุดถึง 32
ฟีเจอร์สุดท้ายที่ถือว่าเด็ดมากๆ คือ DOC เพียงถือถ่ายเอกสารต่างๆ กล้องจะทำการตรวจจับมุมกระดาษและตัดภาพพร้อมปรับมุมและสีสันให้ออกมาเหมือนเครื่องถ่ายเอกสารเลย
สำหรับโหมด Beauty ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยในรุ่น Vivo Y12 สามารถแต่ง Beauty ได้ 6 ระดับ พร้อมปรับสีผิวได้ตามต้องการ
ผมใช้เวลา 30 นาทีหมดไปกับการทดสอบกล้องสลับกับเล่นเกม Harry Potter : Wizards Unite ที่มีทั้งกราฟิก 3 มิติ การใช้กล้องเพื่อเปิด AR และ GPS นำทาง พร้อมกับแชร์อินเทอร์เน็ตให้มือถืออีกเครื่องตลอดเวลา และเปิดแสงหน้าจอสุด 100% อีกด้วย แบตเตอรี่หายไปเพียง 10% เท่านั้น
เนื่องในโอกาสนี้จึงได้ทดลองฟีเจอร์ อัลตร้าเกม ที่จะมาอำนวยความสะดวกของคุณในการเล่นเกม พร้อมฟีเจอร์ที่อัดแน่นสุดๆ โดยเมื่อเปิดเกม เครื่องจะทำการเตรียมความพร้อมของเครื่องให้เหมาะกับการเล่นเกม รีดเค้นทุกพลังออกมา เวลาเปิดเกม เราสามารถลากแถบควบคุมจากมุมซ้ายของหน้าจอออกมาได้ โดยสามารถตั้งค่าได้ดังนี้
- การโทรในเบื้องหลัง เวลามีสายเข้า เราสามารถกดรับสายได้โดยไม่ต้องออกจากเกม และเครื่องจะเปิดสปีกเกอร์โฟนให้อัตโนมัติ
- การบล็อกการแจ้งเตือน ปิดการแจ้งเตือนต่างๆ ไม่ให้มารบกวนการเลานเกมของเรา
- สายที่ปฏิเสธ ตัดสายโทรเข้าอัตโนมัติขณะที่เราเล่นเกมอยู่
- การเล่นอัตโนมัติขณะหน้าจอดับ สามารถปิดหน้าจอโดยเกมยังทำงานอยู่ได้ เหมาะสำหรับเกมที่ต้องปล่อยบอท
- ป้องกันการสัมผัสโดยบังเอิญ ปิดฟีเจอร์จับภาพหน้าจอด้วย 3 นิ้วขณะเล่นเกม
อีกฟีเจอร์คือการลาก 3 นิ้วระหว่างเล่นเกม จะสามารถเปิดแอป Social เป็นหน้าต่างเล็กๆ ได้ ทำให้แชทได้โดยไม่ต้องออกจากเกม
หลังจากนันผมก็ใช้งานเจ้า Vivo Y12 ในการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค แชร์ Hotspot สลับกับเชื่อต่อ Wi-Fi จนเย็น จึงขอพักผ่อนเล็กๆ ด้วยการเปิดซีรีส์ใน Netflix บนหน้าจอ 6.53 นิ้ว ใหญ่เต็มตา พร้อมเปิดเสียงออกลำโพงด้วย สำหรับคนที่ไม่อยากเปิดเสียงออกลำโพงรบกวนคนอื่น สามารถต่อหูฟังเข้ากับพอร์ต 3,5 มม. ด้านล่างเครื่องได้เลย หรือถ้าใครใช้แบบไร้สาย Vivo Y12 ยังรองรับ Bluetooth Codec อย่างครอบคลุมตั้งแต่ SBC จนถึง LDAC รับประกันเรื่องเสียงได้เลย
หลังจากโดนใช้งานทดสอบฟีเจอร์ต่างๆ รวมถึงใช้งาน Social Network จนถึงเวลาเที่ยงคืนครึ่ง ใช้งานเครื่องไปทั้งหมด 15 ชม. แบตเตอรี่ก็ยังเหลือถึง 63% ให้ใช้งานต่อในวันรุ่งขึ้นได้อีกทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จแบตใหม่
บทสรุปของ Vivo Y12
Vivo Y12 เป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัด มาพร้อมกับหน้าจอ Halo FullView Display ขนาด 6.35 นิ้ว ใช้งานกันแบบไม่ต้องเพ่ง พื้นที่ 32 GB ใช้ได้แบบสบายๆ ลงแอปแล้วพื้นที่ยังเหลือ จุดเด่นที่กล้องหลัง 3 ตัวพร้อมเลนส์ Ultra-Wide ที่ช่วยเพิ่มจินตนาการในการถ่ายภาพได้มากกว่าเดิม พร้อมระบบ AI ที่ช่วยปรัยค่ากล้องอัตโนมัติ ถ่ายปุ๊บสวยปั๊บ และแบตเตอรี่ 5,000 mAh ที่ใช้กันแบบหมดวันแล้วยังเหลือเกินครึ่ง ยิ่งถ้าคนที่ใช้มือถือไม่มากน่าจะอยู่ได้ 3-4 วันแบบสบายๆ เรื่องเล่นเกมมีโหมดอัลตร้าเกมมาส่งเสริมอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่แนะนำสำหรับสายเกมเท่าไหร่ Vivo Y12 จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากได้เครื่องสำรองเอาไว้ทำงานหรือให้ลุกหลานไว้ใช้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่