ก่อนหน้านี้เราได้พรีวิวกันไปแล้วว่า OnePlus Nord เป็นรุ่นที่ให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีมาก มาครั้งนี้เราจะมาเจาะลึกลงไปถึงแต่ละแง่มุมว่า Lite Flagship รุ่นนี้มีดีอะไรบ้าง
สเปคแรงในช่วงราคา เล่นเกมได้ลื่น เฟรมเรทไม่รูด
OnePlus Nord ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 765G ซึ่งไม่น้อยหน้าตระกูล 800 ตัวก่อนๆ แรงพอที่จะเล่นเกมกราฟิกหนักๆ ได้ลื่น เฟรมเรทโดยรวมค่อนข้างสูง ซึ่งผมชอบทดสอบกับเกม Survival Heroes ที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เปิดสุดไม่ไหว ผลก็คือ OnePlus Nord ลื่นไหลเฟรมเรทวนอยู่ที่ 59-60 ด้วยการตั้งค่า High Graphic, High Frame Rate, HD Resolutions ถือว่าน่าประทับใจมากกับเกมเขมือบสเปคแบบนี้
นอกจากนี้ยังมี Game Mode ที่ช่วยปรับจูนเสริมประสบการณ์ที่ดี อย่างการ Disable Automatic Brightness ที่จะหยุดปรับแสงหน้าจอ เพื่อไม่ให้แสงโดดไปมาระหว่างเล่นเกม รวมถึง Intelligent Network Management ที่จะสลับไปยังเน็ตที่ลื่นไหลที่สุด และที่สำคัญคือการออกแบบระบบแจ้งเตือนที่ทำให้เราไม่พลาดข่าวสารแต่ก็ไม่ใหญ่จนบังหน้าจอตอนเล่นเกม
และยังให้ระบบชาร์จเร็ว Warp Charge 30T กับแบตเตอรี่ 4,115mAh โดยยังพกจุดเด่นเรื่องหน้าจอมาเช่นเคย ด้วยหน้าจอแบบ Dual Punch Hole ที่ใช้พาแนล Fluid AMOLED ขนาด 6.44 นิ้ว ความละเอียด FHD+ รองรับ HDR10+ และมี Refresh Rate 90Hz
ส่วนหน่วยความจำภายในและแรมจะมี 2 รุ่นให้เลือกคือ รุ่นหน่วยความจำภายใน 256 GB แรม 8 GB และรุ่นหน่วยความจำภายใน 512 GB แรม 12 GB เอาเป็นว่าเรื่องสเปคและความลื่นไหลในการใช้งานจริงหายห่วง
ประสบการณ์เหนือชั้นด้วย OxygenOS
OxygenOS ถือเป็นจุดขายของ OnePlus อย่างแท้จริง แม้ว่าทุกค่ายจะมีการปรับแต่ง Software เป็นของตัวเอง แต่ OxygenOS เป็นรอมที่ปรับจูนมาได้เด่นกว่าหลายเจ้า ด้วยความคลีนคล้ายกับ Google Pixel ทำให้ปัญหาค่อนข้างน้อยและลื่นไหลมาก ผสมผสานกับฟีเจอร์ที่ช่วยเติมเต็มการใช้งาน จึงทำให้ใครที่ใช้ OnePlus ก็มักจะหลงรัก OxygenOS
“หากปราศจาก Software ดีๆ Hardware ก็เป็นเพียงแค่แผงวงจรเท่านั้น”
เมื่อ OxygenOS ทำงานร่วมกับหน้าจอ Refresh Rage 90 Hz และ Snapdragon 765G ก็จะรู้สึกได้เลยว่ามันลื่นติดนิ้วมาก และยังมี Dark Theme หรือที่เปลี่ยน UI ให้เป็นสีดำเพื่อความสบายตาและช่วยประหยัดแบตเตอรี่ แค่นั้นยังไม่พอเพราะยังมี Night Mode ที่จะช่วยปรับโทนสีหน้าจอให้อุ่นกว่าเดิม ลดอาการแสงแยงตา และที่เด็ดสุดๆ ก็คือ Reading Mode ที่เลือกปรับหน้าจอเป็นโทนสี Chromatic หรือ Mono ก็ได้ ซึ่งจะคล้ายกับ Amazon Kindle ที่เกิดมาเพื่อเป็น E-Book ซึ่งดูแล้วสบายตาประหนึ่งอ่านหนังสือจริงๆ
นอกจากนี้ยังมี Ambient Display ที่จะแสดงข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการหยิบเครื่องหรือแตะหน้าจอ โดยเราสามารถตั้งข้อความเพิ่มได้ ซึ่งคนนิยมตั้งเป็นช่องทางการติดต่อในกรณีที่ทำเครื่องหาย และยังสามารถจัดการ Icon Manager ได้ว่าจะให้แสดงสัญลักษณ์อะไรที่แถบด้านบนบ้าง เช่น สถานะการเสียบหูฟัง, การปล่อย Hotspot, NFC ซ่อนได้แม้กระทั่งสถานะแบตเตอรี่และนาฬิกาที่หลายรุ่นทำไม่ได้
การปรับแต่งธีมทำได้ละเอียดมาก แบ่งเป็น Accent color, Tone, System Icons, Icon Pack และ Font ส่วนระบบเสียงนอกจากจะมี Dirac Audio Tuner ที่ขับกล่อมผ่านลำโพงด้านล่างที่คุณภาพดีพอตัวแล้ว ยังมี Live Caption ที่จะทำการแปลงเสียงคำพูดจากหนังหรือคลิปที่เราดู ให้กลายเป็น Subtitle ซึ่งดีมากๆ …แต่น่าเสียดายว่าตอนนี้รองรับภาษาอังกฤษเท่านั้น
จุดเด่นอีกอย่างคือการ Integrate ควบรวมความเป็น Google เข้ามาได้อย่างแนบเนียน อย่างเช่นการฝัง Google Lens ไว้ในอัลบั้มรูปและกล้อง ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลจากรูปภาพได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นภาพที่คล้ายกัน, ข้อมูลจาก Wikipedia, ค้นหาสถานที่, แหล่งซื้อสินค้า, การคัดลอกข้อความจากรูปภาพ หรือแม้แต่การแปลภาษาจากรูป
ปรับโหมดเสียงได้ง่ายและมั่นใจกว่า
ปุ่ม Alert Slider นับเป็นอีกจุดเด่นของค่ายนี้ ที่สามารถปรับโหมดเสียง เงียบ, สั่น, เสียง ได้ง่ายและมั่นใจด้วยการเลื่อนปุ่มข้างเครื่อง ลักษณะคล้ายกับฝั่ง iPhone และยังสามารถปรับปุ่มบนหน้าจออย่าง Navigation Bar ให้เป็นแบบ 3 ปุ่มดั้งเดิมหรือ Gesture ก็ได้ นอกจากนี้ยังมี Quick Gesture ยอดนิยมอย่างการลาก 3 นิ้วเพื่อจับภาพหน้าจอ Screenshot หรือการเคาะเพื่อเปิดหน้าจอ และการลากนิ้วเพื่อเปลี่ยนเพลง นอกจากนี้ยังสามารถ Custom ตั้งค่าเองได้อีกหลายคำสั่ง รวมถึงปุ่ม Power ที่สามารถตั้งค่าการกด 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องและกดค้างเพื่อเรียก Google Assistant
รองรับการโคลนแอพเยอะมาก รองรับการใช้งานหลายคนบนเครื่องเดียว
แม้ว่าฟีเจอร์โคลนแอพจะมีกันแทบทุกรุ่น แต่ส่วนมากมักจะจำกัดแค่ไม่กี่แอพ ต่างจาก OnePlus Nord ที่รองรับเยอะมาก เท่าที่ทดสอบก็สามรถโคลน Facebook, Facebook Messenger, Instagram, LINE, Telegram, WeChat, Discord, KakaoTalk, Skype, Twitter, หรือแม้แต่ Tinder
ในกรณีที่ใช้งานหลายคนแบบแยกกันชัดเจน อย่างเช่นเป็นเครื่องของบริษัทที่ให้พนักงานใช้ร่วมกัน หรือเราต้องการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างการทำงานและการใช้งานส่วนตัว ก็สามารถสร้าง User เพิ่มได้ ซึ่งที่จริงแล้วนี่เป็นของที่ติดตัว Android มาอยู่แล้ว ซึ่งบางค่ายก็ตัดทิ้งแต่ OnePlus ยังคงเก็บไว้ ทำให้เราสามารถสร้างหลาย User บน OnePlus Nord เครื่องเดียวได้
ปลดล็อกด้วยการสแกนนิ้วบนหน้าจอ พร้อมทางลัดเข้าแอพ
นอกจากสารพันฟีเจอร์ที่มีให้เลือกใช้แล้ว เรายังสามารถปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือผ่านการสแกนบนหน้าจออย่างรวดเร็ว และยังสามารถตั้งค่า Quick Launch ที่จะแสดงแอพที่เราเลือกไว้หลังจากที่ปลดล็อกสำเร็จ เพื่อความรวดเร็วยิ่งขึ้น
กล้องใช้งานได้ดีในแบบฉบับ OnePlus
กล้องหลังของ OnePlus Nord ยกเครื่องมาจาก OnePlus 8 โดยมีกล้องหลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซลพร้อมกันสั่น OIS กล้องมุมกว้าง 119 องศาความละเอียด 8 ล้านพิกเซล กล้องวัดความลึก 5 ล้านพิกเซล และกล้องมาโคร 2 ล้านพิกเซล
แม้ว่าความละเอียดสูงสุดจะอยู่ที่ 48 ล้านพิกเซล แต่ในการใช้งานจริงจะมีการทำ Pixel Binning ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันแทบจะทุกค่าย เพื่อให้คุณภาพไฟล์ดีขึ้นแต่ความละเอียดจะลดลงมาเหลือ 12 ล้านพิกเซล ซึ่งถือว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานจริงที่คนส่วนใหญ่ใช้อัพขึ้นโซเชียล
ในโหมดภาพนิ่งยังสามารถเลือกใช้ฟิลเตอร์ได้ด้วย รวมถึงการเรียกใช้งาน Google Lens ได้ทันที แม้ว่ากล้องหลังจะไม่มีเลนส์เทเลที่ใช้สำหรับซูม แต่ OnePlus Nord ใช้วิธีเอาความละเอียด 48 ล้านพิกเซลมาครอปแทน และเราสามารถเรียกใช้กล้องมุมกว้างและมาโครได้จากหน้านี้เลย
โหมดภาพถ่ายบุคคล Portrait สามารถเลือกได้ทั้งกล้องมุมกว้างและมุมปรกติ และยังสามารถเลือกบิ้วตี้ได้อีก 3 ระดับ โดยโหมดบิ้วตี้ของ OnePlus Nord จะเป็นการเกลี่ยผิวให้เนียนและเพิ่มสีให้ดูสวยงามมากขึ้น แต่จะไม่ใช่การปรับโครงสร้างใบหน้า ดูแล้วเหมือนตัวจริง ซึ่งการถ่ายภาพมุมกว้างก็ให้คุณภาพที่อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วงราคาใกล้เคียงกัน
เช่นกันกับ Nightscape หรือโหมดกลางคืนที่รองรับทั้งกล้องมุมกว้างและมุมปรกติ โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ดีตามประสา Night Mode ยุคนี้ และถ่ายง่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง แต่ถ้ามีขาตั้งกล้องก็สามารถเปิดโหมด Tripod Long Exposure ซึ่งจะเปิดหน้ากล้องได้ถึง 30 วินาที ช่วยให้เก็บแสงได้มากขึ้น
การถ่าย Time-lapse สามารถรันได้ยาวๆ แต่การถ่าย Slow Motion จะถ่ายได้ 60 วินาทีเท่านั้น ส่วนโหมด Pro ก็สามารถถ่าย RAW และตั้งค่าได้เยอะขึ้นพอตัว ความดีงามอีกอย่างของ UI ก็คือถ้าเราเปลี่ยนใจจากการถ่ายภาพนิ่งและต้องการถ่ายวีดีโอแทน ก็แค่กดค้างที่ปุ่มชัตเตอร์ก็จะกลายเป็นการถ่ายวีโอแทน ทำให้เราไม่เสียเวลาสลับโหมด
ความละเอียดวีดีโอสูงสุดอยู่ที่ 4K 30fps และยังมีโหมด 4K Cine 30fps ให้เลือกด้วย โดยโหมดนี้จะถ่ายวีดีโอที่อันตราส่วน 21:9 ซึ่งนิยมใช้กันในการถ่ายภาพยนตร์ ความน่าสนใจของกล้องหลังก็คือ Super Stable VDO ที่ใช้เลนส์มุมกว้างมาครอปเพื่อลดทอนการสั่น ซึ่งดีในระดับที่ไม่จำเป็นต้องใช้กิมบอลเลย แต่ข้อเสียคือเลนส์มุมกว้างมีคุณภาพด้อยกว่าเลนส์หลัก ฉะนั้นไม่ควรใช้โหมดนี้ในที่แสงน้อย
ส่วนกล้องหน้าเป็นแบบ Dual Camera โดยกล้องหลังมีความละเอียด 32 ล้านพิกเซล และกล้องมุมกว้าง 105 องศามีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล สามารถเลือกสลับกล้องได้ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ แต่ในโหมด Portrait จะบังคับว่าต้องเป็นกล้องหลักเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี AI ที่ช่วยให้การถ่าย Group Selfie ชัดทุกคน โดยการ Detect หาใบหน้าที่เล็กหรือไม่ชัดที่สุด แล้วใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ใบหน้าชัดทุกคน
โหมดการใช้งานของกล้องหน้าจะน้อยกว่ากล้องหลัง โดยมีเพียงโหมดภาพนิ่ง, วีดีโอ, ภาพถ่ายบุคคล, Time-Lapse แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่โหมดวีดีโอความละเอียดสูงสุดคือ 4K 60fps
ในแง่ UI มีจุดเด่นตรงที่สามารถสลับตำแหน่งหรือปิดการใช้งานแต่ละโหมดได้ ทำให้เราสามารถเลื่อนเอาโหมดที่ใช้บ่อยไว้ใกล้ๆ ได้
ประสบการณ์ใช้งานจริง
แม้ว่าสมาร์ทโฟนในปี 2020 ถ้าเทียบในช่วงราคาใกล้เคียงกันอาจมีสเปคไม่ต่างกันมาก แต่ OnePlus Nord มีจุดเด่นตรง OxygenOS ที่ปรับแต่งได้ลงตัวมาก รอมคลีนมากทำให้ไม่ค่อยมีปัญหากับแอพต่างๆ ที่มาติดตั้งเพิ่มเอง แต่ก็ไม่ได้คลีนจนขาดฟีเจอร์ที่คนชื่นชอบ เรียกได้ว่าลงตัวสุดๆ สิ่งที่ทำให้ประทับใจเกินคาดก็คือ Parallel Apps ที่รองรับการโคลนแอพเยอะมาก
แม้ว่า OnePlus Nord จะรองรับการใช้งาน 2 ซิม แต่การโทรออกจะไม่มีปุ่มแยกแต่ละซิม แต่จะมีให้เลือกหลังจากที่กดโทร ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ความชอบความถนัดของแต่ละคน และที่จริงแล้วรุ่นนี้รองรับ 5G ตั้งแต่เกิดแต่ต้องรอการประมูลความถี่กันอีกทีช่วงปลายปี แต่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือระบบ Dual Channel Download Acceleration ที่จะใช้ Wi-Fi และ Mobile Data พร้อมกันเพื่อให้โหลดได้เร็วขึ้น ซึ่งเท่าที่ทดสอบก็พบว่าตอนนี้รองรับเฉพาะ Google Drive, Gmail และการ Update ระบบเท่านั้น การปล่อย Hotspot กระจาย Wi-Fi สามารถเลือกสัญญาณได้ทั้ง 2.4Ghz และ 5GHz
สิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษในแง่ UI คือ Icon Manager ที่สามารถจัดการสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แถบด้านบนได้ทั้งหมด ซึ่งรุ่นอื่นมักจะทำแบบนี้ไม่ได้ โดยส่วนมากจะบังคับเปิดสัญลักษณ์แบตเตอรี่ แต่ OnePlus Nord เลือกปิดได้ทุกอย่าง ทำให้สามารถไปลงแอพตกแต่งเพิ่มเติมได้ง่าย อย่างเช่น Energy Ring ที่บอกปริมาณแบตเตอรี่ด้วยไฟที่วนรอบกล้องหน้า จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกับสัญลักษณ์แบตเตอรี่
ระบบเสียงแม้จะเป็นลำโพงเดี่ยวด้านล่าง แต่ความดังและคุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี และ Live Caption แม้จะยังไม่รองรับภาษาไทย แต่การใช้ร่วมกับภาษาอังกฤษก็ช่วยทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้น จุดเด่นอีกอย่างของค่ายนี้คือการอัพเดทที่ยาวนาน เอาแค่ที่ผมใช้อยู่ตอนนี้ก็ปล่อยอัพเดทออกมาหลายตัวแล้วครับ ใช้ยาวๆ ได้หายห่วง
ช่องทางการสั่งซื้อ
สามารถซื้อ OnePlus Nord ได้ที่ AIS, DTAC, TRUE และช่องทางจำหน่ายทั่วไทย สำหรับช่องทางออนไลน์ได้แก่
- Lazada https://bit.ly/2Q7Hsyc
- JD https://bit.ly/3j04MdY
- Shopee https://bit.ly/3hdfXzf
- Thishop https://bit.ly/2EiJ8lO