
ทดลองขับ ORA Good Cat 400 PRO / 500 ULTRA รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่สมรรถนะและลูกเล่นดีเกินคาด!
ในยุคที่น้ำมันแพงและผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างหันมาโฟกัสกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีนโยบายให้ลดการใช้รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปและสนับสนุนให้หันไปใช้รถยนต์ไฮบริดกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเองภาคประชาชนก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตบางรายเริ่มมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย รวมไปถึง ORA แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่เตรียมนำ ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้าหน้าตาน่ารักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอีกหนึ่งรุ่นที่ผู้คนต่างจับตามองและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยแบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยได้แก่รุ่น 400 TECH, 400 Pro และ 500 ULTRA ซึ่งในวันที่เปิดให้จองเป็นวันแรกนั้นก็มีผู้จองเจ้าแมวดีไฟฟ้าเป็นจำนวนมากถึง 4,296 คัน ภายใน 24 ชั่วโมง


ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้รับเกียรติจาก GWM ให้เข้าร่วมทดสอบ ORA Good Cat รุ่น 400 PRO จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น มาติดตามกันต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ

ORA Good Cat 400 PRO Specification
- มิติตัวถัง
- ความยาว 4,235 มิลลิเมตร
- ความกว้าง 1,825 มิลลิเมตร
- ความสูง 1,596 มิลลิเมตร
- ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร
- ระยะห่างล้อคู่หน้า / หลัง 1,557 / 1,577 มิลลิเมตร
- ความสูงใต้ท้องรถ 145 มิลลิเมตร
- มอเตอร์แบบ Permanent Magnet Synchronous
- แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ความจุ 47.788 kWh (สำหรับ ORA Good Cat 500 ULTRA มาพร้อมกับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร)
- ระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กิโลเมตร
- แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร
- แรงม้าสูงสุด 143 (PS)
- การชาร์จ
- แบบกระแสตรง (0-80%) 45 นาที
- แบบกระแสตรง (30-80%) 32 นาที
- ชาร์จไฟบ้าน 8 ชั่วโมง
- ช่วงล่าง
- ด้านหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
- ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง
- พวงมาลัยไฟฟ้า
- ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน/ดิสก์เบรก
- ยางขนาด 215/50 R18



ดีไซน์
มีคนไม่น้อยที่บอกว่าเห็น ORA Good Cat แล้วนึกถึง Porsche 911 ในส่วนนี้ทาง GWM เล่าว่าได้ดึงคนที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ Porsche 911 มาดีไซน์เจ้าแมวดีตัวนี้ ซึ่งพอผมได้มามองแบบรวม ๆ และพินิจพิเคราะห์อย่างใกล้ชิดก็พบว่าเจ้า Good Cat นั้นก็ไม่ได้มีความเป็น Copycat ค่ายไหนเป็นพิเศษ ด้วยด้านหน้าของรถ เส้นสาย ทรวดทรง ไปจนถึงท้ายรถประกอบรวมกันแล้วมีความเป็นตัวของตัวเองมากพอสมควร

มาดูดีไซน์รวม ๆ ของเจ้า ORA Good Cat กันบ้าง






ไฟหน้า LED ทรง Cat Eye ที่ไฟ Daytime Running Light ทำหน้าที่เป็นไฟเลี้ยวในตัว น่ารักสุด ๆ หรือจะมองให้ดูเท่ก็ได้อยู่เหมือนกัน


ไฟท้าย LED Tail light Strip สวยแบบไม่ซ้ำใคร เข้ากับรูปทรงและบั้นท้ายของรถอย่างลงตัว

กันชนหน้ามีดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นลายรวงผึ้งด้วย

ตอนเห็นในรูปคิดว่า ORA Good Cat เหมือนจะเป็นรถขนาดเล็ก แต่พอได้เข้าไปนั่งก็พบว่าเป็นรถที่ใหญ่กว่าตาเห็นมาก นี่เป็นรถไซซ์ C-segment ที่ภายในนั่งสบายไม่แพ้รุ่นอื่นใน segment เดียวกัน ขนาดคนนั่งหน้าตัวใหญ่จนดันเบาะมาด้านหลังให้ตัวเองนั่งสบาย คนที่นั่งหลังก็ยังเหลือ legroom เยอะพอที่จะไม่รู้สึกอึดอัด แล้วถ้าเกิดคนนั่งหน้าขนาดตัวตามมาตรฐานคนไทย บอกเลยว่าข้างหลังมีพื้นที่เหลือเยอะมาก


ในส่วนของหลังคาถือว่าสูงใช้ได้ ผมสูง 174 มีพื้นที่ headroom เหลือตั้งกำปั้นครึ่ง เป็นรถที่นั่งแล้วไม่อึดอัด ปลอดโปร่งมาก


และจากที่เคยมีความคิดว่า EV น่าจะนั่งไม่สบายเท่า ICE (Internal Combustion Engine: เครื่องยนต์สันดาปภายใน) เพราะพื้นห้องโดยสารคงจะสูงกว่าปกติเนื่องจากมีแบตเตอรี่อยู่ข้างใต้ท้องรถ แต่พอมานั่งเจ้าแมวดีกลับรู้สึกว่าแทบไม่ต่างจากรถ ICE เลยในจุดนี้ ตอนแรกที่ได้เข้าไปนั่งด้านหลังนั้นรู้สึกว่า ORA Good Cat เป็นรถที่นั่งสบาย แต่พอทันทีที่รถเริ่มเคลื่อนที่ก็รู้สึกได้ถึงความแข็งกระด้างของช่วงล่างตั้งแต่ช่วงความเร็วต่ำ จนรู้สึกว่าถ้าคนที่เมารถง่ายต้องมานั่งรถคันนี้อาจจะต้องปรับตัวกันพอสมควร

มาพูดถึงเรื่องขับขี่กันบ้าง ในตอนแรกนั้นไม่ได้คาดหวังว่า ORA Good Cat จะโดดเด่นในเรื่องการขับขี่ เพราะหน้าตาของเจ้า Good Cat นั้นมีความเป็นรถบ้านมาก และผมไม่ได้ stereotype นะครับ มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าเจ้าแมวดีตั้งใจจะเจาะตลาดคนที่ต้องการรถที่ขับในเชิง Lifestyle มากกว่า Performance แต่ผิดคาดครับ

หมายเหตุ: เพื่อไม่ให้คุณผู้อ่านสับสน การทดสอบในวันนี้จะมีทั้ง ORA Good Cat รุ่น 400 PRO และรุ่น 500 ULTRA โดยรุ่น 400 PRO จะเป็นการขับออกทริปกับทาง GWM และสื่อมวลชนท่านอื่น ๆ จาก IMPACT Speed Park ไป The Summer House Ayutthaya และในรุ่น 500 ULTRA จะเป็นการทดสอบในสนามด่านต่าง ๆ ที่ทาง GWM จัดให้ทดสอบรถใน IMPACT Speed Park ครับ ซึ่งหลัก ๆ แล้วในเรื่องการขับขี่ของ 2 รุ่นนี้จะแตกต่างกันที่ขนาดและชนิดของแบตเตอรี่ ส่วนในเรื่องช่วงล่างกับการควบคุมรถ ผมเองยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 รุ่นนี้ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่ได้ทดสอบ
อัตราเร่ง
ต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของ EV จะมีแรงบิดมหาศาลตั้งแต่ตอนออกตัว ซึ่ง ORA Good Cat มาพร้อมแบตเตอรี่ 47.778 kWh แรงบิด 210 นิวตัน-เมตร แรงม้า 143 (PS) สเปคไม่น่าเกลียดเพราะ EV ที่มีขายในไทยตอนนี้ความจุแบตก็ไม่หนีจากนี้มาก ซึ่งจากที่มีคนที่ไปด้วยกันทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงออกมาเจ้าแมวดีคันนี้ใช้เวลาที่ประมาณ 9-10 วินาที ซึ่งอาจจะไม่ได้เร็วเท่า EV ยอดนิยมบางรุ่นที่ทำเวลา 0-100 ได้ราว ๆ 8 วินาทีกว่า แต่ถ้ามองในแง่ว่านี่เป็นรถในกลุ่ม C-segment อัตราเร่งระดับนี้กับช่วงราคาที่คาดการณ์ไว้ก็น่าจะเป็นรองแค่รถเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น แต่ความดีงามเรื่องอัตราเร่งคือถึงจะเป็นช่วงความเร็วตั้งแต่ 100 ขึ้นไปเจ้าแมวดีก็ยังมีเรี่ยวแรงให้เค้นได้เรื่อย ๆ และไต่ไปที่ความเร็ว 120 กับ 140 ได้ไม่ยาก ตรงส่วนนี้ผมเองไม่ได้จับเวลา แต่จากที่สังเกตคือมันเร็วมากจริง ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องเร่งแซงหายห่วง ทดสอบมาหมดแล้วไม่ว่าจะแซงรถบัสหรือรถพ่วงยาว ๆ ก็ไม่ต้องลุ้นอะไร เอาอยู่หมด

ช่วงล่าง
เดี๋ยวคุณผู้อ่านจะทราบว่าทำไมผมถึงพูดถึงช่วงล่างก่อนไปเรื่องการควบคุม ORA Good Cat เป็นรถที่ช่วงล่างแข็งกระด้างและมีความตึงตังเวลาวิ่งผ่านรอยต่อหรือหลุมบนถนน แต่ความแข็งของช่วงล่าง + แบตเตอรี่ที่อยู่ใต้ท้องรถทำให้เจ้าแมวดีสามารถวิ่งที่ความเร็วสูงได้นิ่งจนน่าประทับใจ ขนาดวิ่งรูดหลุมรถยังไม่เสียการทรงตัว ถึงในสเปคจะบอกว่า Top Speed อยู่ที่ 152 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่ผมแอบลองกดไปได้ถึง 158 (และก็ตันอยู่แค่นั้น) ซึ่งถึงจุดนี้ก็ยังรู้สึกว่ารถยังนิ่งอยู่ ไม่แกว่ง ไม่โคลงเคลงแม้ว่าจะมีลมประทะอยู่บนทางด่วนก็ตาม เรียกว่าเป็นรถที่คนนั่งหลังอาจจะไม่สบาย แต่คนขับจะสบายใจมากเมื่อมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้ความเร็ว ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเลนคือใช้ได้เลย ลองเปลี่ยนเลนกระทันหันแบบหักซ้ายหักขวาติดต่อกันแล้วรู้สึกว่าตัวถังคืนตัวกลับมาได้ดีมาก ไม่รู้สึกโยนตัวจนน่ากลัว ลองเอาไปเทโค้งรูปตัว C ใน track แบบกระทืบคันเร่งในโค้งด้วยความเร็วประมาณ 50 ก็ยังรู้สึกว่าลิมิตของเจ้าแมวดีสามารถไปได้ไกลกว่านี้อีกถ้าคนขับใจถึง


การควบคุม
อ่านมาถึงตรงนี้คงคิดว่า ORA Good Cat คงเป็นรถที่เอามาซิ่งได้แน่ ๆ ใช่ครับ คุณเอาไปซิ่งได้ แต่ถ้าจะเอาไปมุดซ้ายมุดขวาหรือเล่นโค้งก็ต้องทำความคุ้นชินกับบุคลิกของพวงมาลัยรถซะก่อน คือช่วงล่างน่ะรับไหว กำลังเครื่องใช้ได้ แต่พวงมาลัยดันมีความเบาและแอบโหวง ๆ มีระยะฟรีพอสมควร ช่วงหมุนองศาต่ำล้อจะค่อย ๆ หักทีละนิด แต่ถ้าหักเยอะ ๆ คือวงเลี้ยวแคบใช้ได้ พวงมาลัยเจ้าแมวดีไม่ได้คมแบบพวกรถที่ออกแบบมาให้ขับสนุก แถมขนาดแอบกว้างหน่อย ๆ คือเซ็ตมาเพื่อความสบายในการขับขี่ในเมืองล้วน ๆ

แต่ถึงกระนั้นเราก็ขับให้สนุกได้นะครับ ถ้าเรารู้จังหวะพวงมาลัยแล้วก็ไม่มีปัญหา ที่ประทับใจคือวงเลี้ยวแคบมากกกกก คนที่ต้องไปยูเทิร์นกลับรถเพื่อขับรถเข้าหมู่บ้านถูกใจสิ่งนี้ กลับรถในที่ที่พื้นที่จำกัดได้ดีเลยล่ะ

แบตเตอรี่และการขับขี่บนท้องถนน
มาดูการใช้งานจริงบนท้องถนนกันบ้าง ด้วยการออกทริปกับทาง GWM และสื่อมวลชนท่านอื่น ๆ จาก IMPACT Speed Park ไป The Summer House Ayutthaya






ขับไปกลับ เมืองทองธานี – อยุธยา + ขับเล่นอีกนิดหน่อย ระยะทางร่วม 123 กิโลเมตร แบตเตอรี่เหลือ 36% แต่ใจเย็น ๆ ครับ อย่าพึ่งคิดว่าทำไมมันห่างจากที่เคลมไว้ 400 กิโลเมตรขนาดนี้ เพราะขาไปเมืองทอง > อยุธยาที่ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรพวกเราขับแบบเป็นขบวนที่ใช้ความเร็วปานกลางแต่มีการเร่งแซงอยู่หลายครั้งและรถค่อนข้างติด ส่วนภายในรถเปิดแอร์เย็นช่ำ เปิดเพลงไปอีกเกือบ ๆ สิบเพลง และต่อ iPhone 11 Pro Max เข้ากับ Apple CarPlay ไปด้วย (บริโภคแบตเตอรี่ของเจ้าเหมียวแทบทุกทาง) เจ้าแมวดีคันนี้ใช้แบตเตอรี่ไปประมาณ 37% เหลือระยะทางวิ่งได้อีก 282 กิโล ใช้พลังงานเฉลี่ย 19.9 kWh ต่อ 100 กิโล

พักรับประทานอาหารกลางวันที่ The Summer House Ayutthaya กันสักนิด ต้องขอบพระคุณทาง GWM Thailand เป็นอย่างสูงด้วยครับ อาหารรสชาติดีมาก ๆ






ในส่วนของขากลับผมลองขับเจ้า Good Cat ในรูปแบบ Bad Cat ดูบ้าง ผมเปิดโหมด Sport และลองเหยียบคันเร่งแบบจมมิดรวม ๆ 14 ครั้ง ทำความเร็วไปถึงระดับ Top Speed หลายรอบ ซึ่งในช่วงแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50% เนี่ยรู้สึกได้ว่าเรี่ยวแรงของรถเริ่มหายไป แต่ไม่ได้หายแบบน่าเกลียด หายแบบให้รู้ว่าคนขับอย่าทรมานน้องแมวดีคันนี้ไปมากกว่านี้เลย และที่แบตเตอรี่ลดฮวบมาจนถึง 36% เพราะผมฝืนที่จะเฆี่ยนเจ้าแมวดีตัวนี้ให้พุ่งทะยานต่อไปแบบไม่สนใจแบตเตอรี่ ซึ่งพอกลับมาถึงที่หมายก็ได้ความว่าคนอื่น ๆ เหลือแบตกันถึงระดับ 40 กว่า% เลยล่ะ ระยะทางจาก Impact Speed Park ไป The Summer House Ayutthaya ประมาณ 60 กิโล ลองคำนวณจากขาไปที่ขับแบบคนปกติ + เท้าหนักหน่อย ๆ แบตเหลือให้ใช้ 282 กิโล บวกลบกันคร่าว ๆ ผมว่าไม่น่าเกลียด เพราะของยี่ห้ออื่นระยะทางจากการใช้งานจริงก็ห่างจากเลขที่เคลมไม่ต่างกัน


ระบบความปลอดภัยและฟีเจอร์ลูกเล่นต่างๆ
เพื่อไม่ให้บทความยาวกว่านี้ผมขอพูดแบบรวม ๆ ละกันนะครับ ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันถือว่าจัดเต็มมาก สามารถขับขี่แบบอัตโนมัติในระดับ L2+ (รถสามารถช่วยคนขับควบคุมบางส่วน) ซึ่ง ORA Good Cat ก็ให้มาแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA)
- ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI)
- การเบรกฉุกเฉินความเร็วต่ำ
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
- ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK)
- ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS)
- การเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent Turn)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA)
- ระบบตรวจความดันลมยาง (TPMS)
- กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา
- ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ (IAP)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
- ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM)
ในวันที่ทดสอบผมได้ใช้ระบบ ACC, ICA, AEBI, LKA, LCK, Intelligent Turn เป็นระยะ ๆ ตลอดการเดินทาง พบว่าสามารถทำงานได้ดีและเสถียรมาก โดยเฉพาะโหมด ACC คือถูกใจคนที่อยากขับทางไกลแบบชิล ๆ เพียงแค่ขับรถตามรถคันข้างหน้าแล้วกดปุ่มมาตรวัดที่อยู่ตรงกลางระหว่าง RES กับ SET จากนั้นเลือกปรับความเร็วได้ตามใจชอบ โดยกด + เพื่อเพิ่มความเร็วขึ้นทีละ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือกด – เพื่อลดความเร็วลงทีละ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วยังเลือกได้ด้วยว่าจะเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าขนาดไหน ซึ่งความดีงามของโหมดนี้คือเมื่อเราต้องการเปลี่ยนเลนหรือขับแซงแล้วไปต่อท้ายรถคันอื่น เจ้า ACC ก็ยังจะทำงานต่อได้หลังจากที่มีรถคันข้างหน้าให้เราขับตาม จนกว่าเราจะกดยกเลิกหรือมีพฤติกรรมการขี่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแบบกระทันหัน

โหมด Single-pedal เองก็ใช้งานได้ดี ใครไม่เคยใช้ก็ปรับตัวได้ไม่ยาก ขับทางไกลได้สบาย ๆ แถมยังสามารถตั้งให้รถหน่วงมากหรือหน่วงน้อยเมื่อถอนคันเร่งเพื่อกู้คืนพลังงาน ได้สามระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และมาก ในส่วนของระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติเองก็สามารถใช้งานได้ดี UI แสดงผลได้เข้าใจง่าย ที่ชอบมาก ๆ เลยคือกล้องรอบกับกล้องถอยคันภาพชัดมากขนาดรถที่ขายในท้องตลาดยังต้องอาย แถมกราฟิกเส้นทางการเดินรถแสดงผลได้ดีจนทำให้เราเดินรถได้ง่ายขึ้น



จอ Infotainment ก็ออกแบบ User Interface ได้เข้าใจง่าย ไม่ต่างจากการใช้สมาร์ทโฟน แต่เรื่อง User eXperience ผมคิดว่า GWM ยังสามารถทำให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้

สำหรับเรื่องจอ Infotainment ถือว่าสว่างสู้แสงใช้ได้ (รถทดสอบไม่ได้ติดฟิล์ม) แต่จอมาตรวัดความเร็วไม่ค่อยสว่างมากนัก ถึงแม้ว่าอยู่ในตำแหน่งคนขับก็ยังต้องเพ่งหน่อย ๆ แต่คนนั่งข้าง ๆ คือมองแทบไม่เห็นแล้ว อันที่จริงดูเผิน ๆ แล้วเหมือนว่าจอ Infotainment กับจอมาตรวัดความเร็วจะเป็นจอเดียวกันทั้งหมด แต่ที่จริงคือเป็นจอ 2 จอแยกกันที่ถูกครอบทับด้วยกระจกแผ่นเดียวกันครับ



สำหรับระบบคำสั่งเสียงคือใช้งานง่าย ถ้าไม่แย่งกันพูดหรือ User Error เองถือว่าตอบสนองดี ทำงานได้ฉับไว และยังสามารถตั้งชื่อรถได้ด้วย แต่… ระบบคำสั่งเสียงกลับมีจุดที่ทำให้ผมรู้สึกขัดใจมาก ๆ ถ้าเราพูดคำว่า “บ้าน” เมื่อไหร่ระบบนำทางจะเปลี่ยนไปนำทางกลับบ้านทันที ผมไม่รู้ว่านี่คือบั๊กหรือฟีเจอร์ หรือสามารถไปปรับแต่งคำสั่งทีหลังได้ แต่การทำแบบนี้มาเป็นค่าเริ่มต้นผมว่าคนที่ใช้ ORA Good Cat ช่วงแรก ๆ คงงงเป็นไก่ตาแตก
ลองใช้คำสั่ง “หวัดดีโอร่า เปิดซันรูฟ” น้องแมวดีของเราก็ทำตามทันทีอย่างเชื่อฟัง



นอกจากนี้ยังมีระบบชาร์จไร้สายสำหรับชาร์จสมาร์ทโฟนด้วยนะ

สามารถดูข้อมูลรถและสั่งการบางอย่างผ่านแอปพลิเคชัน ORA บนสมาร์ทโฟนได้ด้วย


สำหรับเรื่องวัสดุภายในถือว่าใช้ได้ ไม่ได้ดีเลิศแต่ก็ไม่ได้เข้าขั้นแย่ ภายในดูหรูหราด้วยการออกแบบให้ดูพรีเมี่ยม ถ้าดูด้วยตาเราจะรู้สึกว่าดูแพงมาก แต่ถ้าเอามือไปสัมผัสจุดต่าง ๆ ก็จะพบว่าวัสดุอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของรถตามท้องตลาด ส่วนเรื่องการเก็บเสียงผมไม่กล้าฟันธงว่าเก็บเสียงดีหรือไม่ดี เนื่องจากรถที่ผมขับอยู่เป็นประจำนั้นเก็บเสียงเข้าขั้นแย่สุด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะไปขับรถรุ่นไหนผมก็จะรู้สึกว่าเก็บเสียงได้ดีทั้งนั้น แต่จากการพยายามสังเกตด้วยการฟังอย่างตั้งใจพบว่า ORA Good Cat จะมีเสียงตามขอบกระจกเข้ามาไม่มาก ถ้าจะมีเสียงเข้ามาก็เป็นในส่วนของพื้นรถมากกว่า






เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเจ้า ORA Good Cat

เวลาขึ้นรถนั้นเราไม่จำเป็นต้องกดปุ่มสตาร์ทรถหรือบิดกุญแจแต่อย่างใด เพียงแค่เหยียบเบรกลงไปให้สุด ระบบไฟฟ้าของเจ้าแมวเหมียวแสนดีก็จะทำงานและพร้อมให้คุณเปลี่ยนเกียร์เพื่อขับขี่ได้ทันที เป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ

ส่วนเวลาจะดับเครื่องกดที่ปุ่มด้านขวาสุดได้เลย ส่วนปุ่มด้านซ้ายสุดจะเป็นการปรับโหมดการขับขี่ ที่สามารถปรับได้ถึง 5 แบบ ได้แก่ มาตรฐาน, Sport, ECO, ECO+ และ อัตโนมัติ ซึ่งจากที่ผมลองมาโหมดที่มีประโยชน์มากคือโหมด ECO กับ ECO+ ที่จะทำให้เราประหยัดแบตได้มากขึ้น กับโหมดอัตโนมัติที่รถจะเลือกโหมดต่าง ๆ เองตามลักษณะการขับขี่ของเรา (โหมดตามใจเท้า) ส่วนโหมด Sport เปิดไว้เอาเท่เฉย ๆ ครับ ไม่ได้รู้สึกว่าทำให้รถแรงขึ้นมากแบบมีนัยยะสำคัญ

สำหรับก้านไฟเลี้ยวจะอยู่ทางฝั่งซ้าย ใครขับรถญี่ปุ่นอาจต้องปรับตัวนิดนึง ยกเว้นคนที่ขับพวก Subaru รุ่นนำเข้าหรือรถยุโรปก็อาจไม่ต้องปรับตัวมากมายนัก

ส่วนก้านปัดน้ำฝนจะอยู่ทางฝั่งขวา เชื่อว่าใครที่ไม่เคยขับรถที่เซ็ตก้านข้างพวงมาลัยแบบนี้มาก่อนต้องมีเผลอเปิดที่ปัดน้ำฝนตอนจะเปิดไฟเลี้ยวบ้างแหละ อย่างเช่นแอดสนุ้กแห่ง The Review ที่เผลอลั่นไปหลายรอบมาก

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าระบบส่งกำลังจะไม่เหมือนกับรถยนต์สันดาปที่จะมีเกียร์หลายจังหวะหรือมาในรูปแบบ CVT ซึ่งเจ้า ORA Good Cat นั้นจะใช้เกียร์แบบหมุนที่สั่งการได้ 3 คำสั่งเท่านั้น ได้แก่ เดินหน้า (D), หยุดนิ่ง (N) กับ ถอยหลัง (R) ไม่มีเกียร์จอด (P) แบบรถทั่ว ๆ ไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเบรกมือไฟฟ้ามาให้ซึ่งตำแหน่งอยู่ถัดจากเกียร์ลงมานิดนึง (ปุ่มตัว P) โดยงัดขึ้นเพื่อดึงเบรกมือและกดลงเพื่อปลดเบรกมือ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็น Auto Brake Hold เพื่อช่วยให้รถหยุดอยู่นิ่งเวลาติดไฟแดงหรือรถติดโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกค้างไว้ให้เมื่อยอีกด้วย
สรุป
ผมจะยังไม่บอกว่า ORA Good Cat เป็นรถที่ดีหรือไม่ดีถึงแม้ว่าเจ้าแมวเหมียวไฟฟ้าคันนี้จะมีภาพรวมที่ออกมาดีมากกว่าที่ผมคาดหวังไว้ และจะไม่ฟันธงในเรื่องนี้ตราบใดที่ผมยังไม่รู้ราคา ซึ่งถ้าหากเปิดมาหลักแสนปลาย ๆ ถึงล้านต้น ๆ ผมว่าเจ้าแมวดีเป็นรถที่ไม่เลวและอยู่ในเกณฑ์ที่น่าซื้อมาก รถมีสมรรถนะที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขับขี่ได้สบาย ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ สามารถขับไปยังแถบปริมณฑลได้แบบสบาย ๆ (ถ้าเท้าไม่หนัก) เปี่ยมไปด้วยระบบรักษาความปลอดภัยและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แถมยังมีดีไซน์ที่ดึงดูดทั้งเจ้าของและผู้คนบนท้องถนน เรียกได้ว่ามีดีทั้งด้านวิศวกรรมและศิลปะ ในภาพรวมเท่าที่ได้เห็นได้สัมผัสในวันที่ทดสอบก็ไม่ได้แย่ไปกว่ารถที่ขายในท้องตลาดเลย แต่ผมว่าจุดขายของรถดันสวนทางกับบุคลิกของรถที่เห็นในครั้งแรก ผมเชื่อว่าคนที่อยากซื้อ ORA Good Cat อยากได้รถบ้านที่นั่งสบาย เน้นโดยสารมากกว่าความสนุกในการขับขี่ แต่ดันมาติดตรงที่ช่วงล่างด้านหลังที่แข็งไปหน่อย ซึ่งยุค 2021 นี้บริษัทรถยนต์สามารถปรับแต่งช่วงล่างคานบิดให้นุ่มสบายได้มากขึ้นจากยุคก่อนมากแล้ว ผมยังรับได้นะถ้า GWM จะทำให้ Good Cat มีสมรรถนะของช่วงล่างที่ลดลงแลกกับความสะดวกสบายของผู้โดยสารตอนหลังที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่อย่างนั้นคุณก็เซ็ตพวงมาลัยให้คมขึ้นมาเลยเถอะ จะขับสนุกขึ้นอีกมากเป็นกอง

ทิ้งท้ายก่อนจากกัน
ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าเจ้า ORA Good Cat เป็นรถที่ดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจไม่ใช่เพียงแค่เจ้า ORA Good Cat นั้นมีภาพรวมที่ออกมาดีมากกว่าที่ผมคาดไว้ แต่ผมชอบที่ GWM สื่อสารกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาว่านี่เป็นรถยนต์สัญชาติจีน มีแนวทางพัฒนาในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องพยายามทำตัวเป็นคนอื่น คือก็ต้องยอมรับแหละครับว่าในยุคนี้คนไทยยังมีอคติกับรถยนต์จากจีนอยู่บ้างถึงแม้ว่าจะเปิดใจให้กับสินค้าอื่น ๆ อย่างพวกสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แล้วก็ตาม แต่รถยนต์ในประเทศไทยไม่ใช่สินค้าที่คนสามารถเปลี่ยนได้บ่อย เพราะฉะนั้นทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้าในระยะสั้นและระยะยาว บริการหลังการขาย และภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการที่ผมเฝ้าสังเกตดูรุ่นพี่อย่าง Haval H6 นั้นถือว่าทำได้ดีในเรื่องคุณภาพของสินค้าในระยะสั้นกับบริการหลังการขาย ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า GWM จะยังรักษามาตรฐานนี้ไว้ได้ในวันที่ยอดขายเติบโตมากขึ้น และหวังอีกด้วยว่าสินค้าที่ขายออกไปจะไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจมากจนเกินรับได้ในระยะยาว ส่วนเรื่องภาพลักษณ์นั้นไม่ใช่แค่ว่าออกแบบให้สวยงามหรือมีการนำเสนอแบบน่าตื่นตาตื่นใจแล้วจะสามารถตัดสินได้เลย ในเรื่องนี้ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันนับทศวรรษ ซึ่งเราก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตข้างหน้าภาพลักษณ์ของค่าย GWM ในสายตาคนไทยจะเป็นอย่างไร สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าราคาของเจ้า ORA Good Cat นั้นจะไม่ทำให้คนหลายพันคนที่ลงชื่อจับจองกันไปแล้วต้องรู้สึกว่าตัวเองโดนหักหลัง ซึ่งก็ขอเอาใจช่วยให้ทีมงานของ GWM ตั้งราคาเจ้า ORA Good Cat ให้ออกมาเป็นแมวที่ดีสมชื่อ ไม่ใช่แมวที่ทำให้คนไทยไม่กล้ารับเลี้ยงเพราะมีค่าตัวที่สูงจนลูกค้าที่ GWM มองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายเอื้อมไม่ถึง