รีวิว CloudWays ฉบับปี 2022 เร็วและน่าใช้ขึ้นเยอะ
CloudWays จัดว่าเป็นตัวช่วยด้านเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ด้วยความที่เอาประสิทธิภาพของ Cloud ระดับโลกมาให้เลือกใช้ บวกกับการยำรวมทุกสิ่งที่คนทำเว็บต้องการ แต่ที่ผมหยิบมาเล่าในปี 2022 เพราะเค้ามีการจับมือกับ Cloudflare และมี Object Cache Pro ทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก
รวมเครื่องมือไว้ทุกอย่าง
สิ่งที่ทำให้หลายคนรัก CloudWays ก็คือความเป็น All-in-One จบเรื่องการทำเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้ในที่เดียว ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่าพวก Cloud ระดับโลกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น DigitalOcean, Vultr, Google Cloud, Linode, AWS มันไม่เหมาะกับมือใหม่ เพราะต้องทำการติดตั้งระบบนั่นนี่ก่อนเพื่อให้รันเว็บได้ และ CloudWays เข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นนั่นเอง
ระบบจัดการแคชดีขึ้น
จุดที่ CloudWays เพิ่มเข้ามาและน่าสนใจมาก ก็คือปรกติแล้วเราสามารถจัดการหน้าเว็บให้เร็วได้ด้วยการทำ Cache แบบต่างๆ แต่ส่วนที่ Cache ช่วยไม่ค่อยได้ก็คือหลังบ้าน โดยเฉพาะคนทำ WordPress จะเห็นชัดเลยว่าหลังบ้านของเจ้านี้ค่อนข้างอืดเลยล่ะ ซึ่งเค้าก็รู้ตัวและก็แก้ด้วยการแถม Object Cache Pro มาให้
ถ้าเราไปซื้อ Object Cache Pro เองต้องบอกว่าราคาแสนแพง เพราะเค้าคิดเดือนละ 95 USD/เว็บ กระอักแน่นอน …ซึ่งพอเค้าแถมมาให้มันก็ช่วยให้เว็บเร็วขึ้นไม่น้อย และตัว Breeze Cache Plugin ซึ่งเป็นตัวจัดการแคชของทาง CloudWays ก็ทำได้ดีขึ้นเยอะ ในระดับน้องๆ WP-Rocket เลย ทำให้ประหยัดเงินได้มาก
มี Cloudflare Enterprise ราคาพิเศษที่ถูกมาก
ยังไม่จบแค่นั้น เพราะเค้ายังมี Option ให้อีก โดยมี Cloudflare Enterprise ราคาพิเศษให้ใช้ ซึ่งมันถูกมาก เริ่มต้นที่เดือนละ 4.99 USD/เว็บ และถ้าซื้อเยอะก็มีส่วนลดให้อีก …คือมันถูกกว่าราคาปรกติมาก ถูกกว่าตัว Cloudflare Pro อีก ทั้งที่ตัวนั้นมีฟีเจอร์น้อยกว่าแต่ราคาก็ 20 USD/เว็บแล้วครับ
และ Cloudflare Enterprise ถือว่าเป็นทีเด็ดเลย เพราะมันช่วยจัดการบีบรูปทำ Image Optimization ในระดับ CDN รวมถึงทำ Mobile Optimization ด้วย มี WAF กับ DDoS สำหรับป้องกันการโจมตีให้ดียิ่งขึ้น …คุ้มมาก
แถมระบบป้องกันบอท
ส่วนระบบเดิมๆ ที่ทำได้ดีก็คือ Malcare Bot Protection ที่ช่วยป้องกันบอทที่พยายามจะแฮกเว็บ ซึ่งตัวนี้ถ้าไปซื้อแยกก็อย่างน้อยเดือนละ 8 USD/เว็บ
ย้ายเว็บจากที่อื่นได้ง่าย
แถมยังมีตัวช่วยย้ายเว็บจากที่อื่นด้วย โดยเป็นความร่วมมือกับ BlogVault ซึ่งเท่าที่ลองใช้มามันย้ายได้ค่อนข้างสมบูรณ์และย้ายได้เกือบทุกเซิร์ฟเวอร์ แต่ก็มีบางกรณีที่กลายเป็นภาษาต่างดาวเพราะ Database ตั้งค่าคนละแบบ
วิธีการใช้งานก็ง่ายสุดๆ แค่เข้าไปที่ CloudWays แล้วโหลด Plugin ที่เค้าทำไว้เป็นพิเศษ แล้วก็กรอกค่าตามไม่กี่ช่อง จากนั้นก็รอมันทำการย้ายให้
ทำให้การส่งเมลเป็นเรื่องง่าย
สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้แถมระบบส่งเมลมาให้ด้วย ทำให้ต้องออกแรงตั้งค่าให้ WordPress หรือเว็บของเราส่งเมลได้ แต่ที่นี่เค้ามี Addon ให้เปิดใช้ง่ายๆ แค่เลือกเปิดใช้ Elastic Email โดยมีราคาเริ่มต้นเดือนละ 0.10 USD สำหรับ 1,000 อีเมล
มี Temporary Domain ให้ใช้
ในการสร้างเว็บใหม่ การที่เราจะเข้าไปดูเว็บนั้นได้ก็ต้องทำการชี้โดเมนใช่ไหมครับ แต่ของ CloudWays สะดวกกว่านั้นเพราะเค้าจะมีการสร้างโดเมนสำหรับทดสอบมาให้ ซึ่งเราสามารถใช้งานเว็บได้ตามปรกติเลย และถ้าพร้อมรันจริงเมื่อไรก็แค่เอาโดเมนจริงมา Mapping แค่นั้นเลย
ทีเด็ดอยู่ที่ Block Storage
เนื่องจากเว็บยุคใหม่เป็นแบบ Dynamic ที่มีการอัพเดทปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะเว็บข่าวหรือบล็อกที่มีการอัพรูปเรื่อยๆ ส่งผลให้ใช้พื้นที่เยอะ ยิ่งถ้าทำเว็บหลายๆ ปีก็จะพบว่าเว็บบวมมาก หลายเว็บทะลุ 100 GB เลยก็มีไม่น้อย ถ้าเรามองหาเซิร์ฟเวอร์ที่ให้พื้นที่เยอะๆ แบบไม่ใช่ Shared Host ก็จะพบว่าราคาสูงมาก หรือไม่ก็หาไม่ได้เลย
แต่เราจัดการปัญหานี้ได้ง่ายๆ ที่ CloudWays เพราะเราสามารถเอา Block Storage มาแทนที่พื้นที่เดิมๆ บนเซิร์ฟเวอร์ โดยราคาตกแค่ 1 USD ต่อ 10 GB ซึ่งถ้าคุณไม่อยากเล่นท่ายากจับแยก Database, File, Image ไว้คนละที่ การเลือกใช้ Block Storage ของเจ้านี้ง่ายที่สุดละครับ …คุณสามารถจ่ายเงินแค่ 112 USD ก็ได้พื้นที่ 1 TB เลย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกสเปคอื่นๆ สูงขึ้นแค่ไหนด้วย
แน่นอนว่าต้องมีระบบ Backup ในตัว
เราสามารถเลือกทำ Backup แบบ Off-site ได้ในราคา 0.033 USD/GB ซึ่งเป็นการสำรองไฟล์ไว้ที่อื่น ซึ่งอันนี้เราไม่ต้องรู้ครับ เป็นหน้าที่ของระบบ CloudWays แต่ถ้าเราอยากจับต้องไฟล์ อยากโหลดเก็บ ก็ตั้งค่าแบบ Local Backup ได้ โดยทำได้ทั้งระดับเซิร์ฟเวอร์และระดับเว็บเลย
รองรับการทำงานเป็นทีม
ข้อดีอีกอย่างคือการรองรับระบบทีมและโปรเจ็ค ทำให้เราสามารถแบ่งหน้าที่กับทีมงานได้
มี SFTP และตัวจัดการ Database พร้อมใช้
ข้อดีอีกอย่างก็คือการมีตัวจัดการฐานข้อมูลรวมถึงพวก SSH และ SFTP ให้ใช้งาน โดยสามารถสร้าง User เพิ่มได้ในระดับเว็บ เพื่อแยกสิทธิ์ให้ชัดเจนไม่สามารถเข้าถึงเว็บอื่นๆ ได้
ดูการใช้ทรัพยากรแบบแยกรายเว็บได้
ข้อนี้เหมาะมากกับคนที่รวมหลายเว็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน หรือทำเว็บให้ลูกค้า จะได้รู้ว่าเว็บไหนมีการใช้ทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้บริหารจัดการได้ถูก
จุดที่ CloudWays อาจไม่เหมาะกับคุณ
แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่ CloudWays ก็มีจุดที่ต้องมานั่งคิดทบทวนเหมือนกัน เริ่มจากโครงสร้างราคาที่เจ้าอื่นคิดเฉพาะค่า Panel จะมีกี่เว็บกี่เซิร์ฟเวอร์ก็จ่ายเท่าเดิม แต่ของ CloudWays เป็นการชาร์จราคาต่อเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งราคาก็สูงกว่าเกือบเท่าตัว ดังนั้นถ้าเริ่มเป็นมือโปรคอนฟิกเก่งๆ แล้ว การย้ายไปใช้เจ้าอื่นอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
และถ้าเทียบกับพวก Ploi.io, GridPane, Runcloud ก็ต้องบอกว่า CloudWays มี Panel ที่เชื่องช้ามากๆ และด้วยความที่มันเป็นระบบ All-in-One ทำให้ข้อมูลทุกอย่างผูกติดกับ CloudWays ต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่ข้อมูลเราอยู่บน Cloud Storage ทำให้เคลื่อนย้ายจัดการได้ง่ายกว่า
และแม้ว่า CloudWays จะมีการ Isolate แยกเว็บแต่ละอันออกจากกันเพื่อความปลอดภัย แต่เวลาที่เราทำการแก้ไขค่าคอนฟิกเว็บใดเว็บหนึ่ง ก็จะทำให้เราไม่สามารถเข้าใช้งาน Panel ของเซิร์ฟเวอร์นั้นได้เลยจนกว่าจะประมวลผลเสร็จ
บทสรุป CloudWays ปี 2022
CloudWays แม้ว่าจะมีข้อเสียที่น่าหงุดหงิดอยู่พอควร แต่ถ้าเทียบกับความง่ายแบบจบได้ในที่เดียว เหมาะกับมือใหม่รวมถึงฟรีแลนซ์ที่รับทำเว็บ และบริษัทที่อยากลดภาระงานฝ่ายไอที ก็ต้องบอกว่า CloudWays ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่