กินฟรีกับการรีวิว มันคือการ Barter ? …ใช่ มันคือการ Barter นั่นแหละ ต้องทำงานแลกเปลี่ยนด้วย

สรุปประเด็นเด่น

  • การ Barter หมายถึงการแลกเปลี่ยน ดังนั้นการได้รับสินค้าหรือบริการฟรี ก็คือการแลกเปลี่ยนให้ Creator ทำคอนเทนต์ให้
  • การ Barter ก็มีมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติคือการตำหนิอย่างสุภาพ หรือหากเราเจอปัญหาก็ควรแจ้งให้ร้านค้าแก้ไขก่อนที่จะเผยแพร่เนื้อหา เหมือนมีคนทำข้าวให้เรากินฟรีแต่เรามาบ่นว่ารสชาติห่วยออกสื่อ ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม
  • หากเป็นแบรนด์ระดับโลก สินค้าบางประเภทยินดีให้คนวิจารณ์สับเละ เพราะท้ายที่สุดมันเป็นเรื่องของความชอบ และการสับเละอาจทำให้คนอยากเข้าไปเห็นด้วยตาตัวเอง เป็นการเพิ่มยอดขายทางอ้อม
  • ร้านอาหารส่วนมากคือ SME ขนาด Micro ที่ไม่มีกำลังจ่ายมากพอที่จะจ้างนักรีวิวราคาสูงๆ
  • การแข่งขันในวงการ Content Creator แรงขึ้นเรื่อยๆ ราคาค่าจ้างโดยรวมก็ต่ำลงเรื่อยๆ ยกเว้น Top Tier
  • ทั้งตัวนักรีวิวและทางร้านก็มีต้นทุนของตัวเอง ควรเจรจาว่า Barter เพียงพอไหม หรือควร Offer อะไรเพิ่มเติม
  • หากไม่พึงพอใจการ Barter ก็ควรเจรจาต่อรอง ถ้าไม่ลงตัวก็แค่แยกย้าย
  • กรณีที่เอาอาหารมาวางเรียงเยอะๆ หรือเอามาถ่ายรูปนานๆ จนเย็นชืดกินไม่ได้ กรณีนี้ไม่สามารถนับเป็นการ Barter ได้ เพราะเป็นการออกอาหารมาเพื่อ Content โดยที่ Creator ไม่ได้กินอาหารอย่างที่ควรจะเป็น

ผมอยากเขียนเรื่องการกินฟรีกับการรีวิว เพราะช่วงหลังผมเห็นนักรีวิวรุ่นหลังๆ พยายามบอกว่า “การกินฟรีไม่ใช่การ Barter” รวมไปถึงการให้ที่พักฟรีหรือข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นการให้สินค้าหรือบริการฟรี เพราะต้องการให้ร้านจ่ายเงินว่าจ้าง ซึ่งสรุปสั้นเลยว่าผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะการกินฟรีมันคือการ Barter นั่นล่ะ แต่ถ้าคุณไม่พอใจข้อเสนอก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหรือเจรจาเพิ่มเติมได้ แต่ Barter มันก็คือ Barter จะมาบิดคำนี้มันไม่ได้

Barter คืออะไร?

ก่อนจะไปเรื่องอื่น มาเริ่มกันก่อนว่า Barter แปลว่าอะไร? …อ้างอิงจากพจนานุกรมของ Longdo ที่ใช้ฐานข้อมูลของ NECTEC’s Lexitron ให้คำแปลว่า Barter คือการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้า

กินฟรีกับการรีวิว มันคือการ Barter ? ...ใช่ มันคือการ Barter นั่นแหละ ต้องทำงานแลกเปลี่ยนด้วย 2

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นมันคือการแลกเปลี่ยนด้านการงานการเงินกัน โดยร้านค้าหรือแบรนด์จะยื่นข้อเสนอ offer ให้ creator ด้วยการให้สิ่งของแทนการว่าจ้างด้วยตัวเงิน และทาง creator ก็ต้องทำงานแลกเปลี่ยน

รูปแบบการว่าจ้างในภาพรวม

หากมองในภาพรวมแล้วการจ้างทำ content มีอยู่ 2 แบบ

  1. จ้างด้วยตัวเงิน
  2. แลกเปลี่ยนด้วยสินค้าหรือบริการ

ฉะนั้นถ้าถามว่าการที่ร้านอาหารให้กินฟรีคือการ Barter ไหม? …คำตอบง่ายๆ เลยก็คือเป็นการ Barter เพื่อจ้างให้ทำ content แลกเปลี่ยนนั่นแหละครับ

การที่ผมย้ำเน้นชัดมาตลอดว่าการกินฟรีคือการ Barter ที่ต้องทำรีวิวแลกเปลี่ยน อาจทำให้คนบางส่วนไม่พอใจแล้วรู้สึกว่าคุณเป็นใครทำไมมาพูดแบบนี้

Man making photo of food on camera

ผมขอบอกว่าผมคือ Food Blogger, Lifestyle Blogger ยุคแรกๆ ของประเทศไทยเลยครับ ผมเริ่มทำ nuania.com ในปี 2011 และตอนนั้น NuaNia โด่งดังมากในเรื่องการรีวิวอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นการรีวิวเองแบบจ่ายเงินกินเองรีวิวเอง เพราะตอนนั้นคนยังไม่รู้จักคำว่ารีวิวและไม่เข้าใจเรื่องการตลาดออนไลน์มากนัก จะมีก็แค่ร้านอาหารในโรงแรมที่เชิญไปรีวิวบ่อยมาก เพราะรีวิวของ NuaNia ติด Google อันดับแรกๆ เยอะมาก

ผมเคยได้ข้อเสนอทั้งการ กินฟรีจากร้านอาหาร, บินฟรีจากสายการบิน, พักฟรีจากโรงแรม, ได้มือถือฟรี, ได้โน้ตบุ๊คฟรี, ได้น้ำยาเช็คจอฟรี, ได้ฟิล์มติดจอฟรี ดูหนังฟรี และอีกสารพัดรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามามันคือการ Barter ที่เราต้องแลกเปลี่ยนด้วยการทำอะไรตอบแทน เช่นรีวิว หรือบอกต่อ

ใจเค้าใจเรา ลองคิดมุมกลับถ้าเราเป็นร้านค้าให้กินฟรีล่ะ?

หากยังมองว่า Food Blogger กินฟรีได้และจะไม่ทำงานให้ก็ได้ หรือจะไปรีวิวเสียๆ หายๆ ก็ได้ ให้ลองคิดมุมกลับครับ ถ้าคุณเป็นคนเปิดร้านเอง แล้วเอาอาหารให้คนอื่นกินแล้วเค้าไม่ทำงานตอบแทน อ้างว่ากินฟรีก็คือกินฟรี ไม่เกี่ยวกับการ Barter ไม่ต้องทำงานให้ หรือจะรีวิวเสียๆ หายๆ ยังไงก็ได้ …คุณคิดว่าคุณรู้สึกยังไง?

ต้องไม่ลืมว่าร้านค้าเกือบ 100% ที่คนนิยมไปรีวิวคือ SME ในระดับ Micro เลย ซึ่งเล็กกว่าระดับ Small และ Medium ซะอีก ดังนั้นการให้กินฟรี 1 มื้อ มันก็คือมูลค่าที่ไม่น้อยสำหรับมุมมองของร้านค้า และถ้าคุณเป็น Blogger, Creator ที่คิดจะหากินกับการทำ content ให้ร้านค้าระดับนี้ ก็ต้องเข้าใจว่า budget เค้าไม่ได้เยอะ เค้ามีข้อเสนอไหวแค่นี้ ถ้าคุณคิดว่าไม่โอเคก็แค่ปฏิเสธข้อเสนอก็แค่นั้น

Delicious Thai food prepared by authentic Thai chefs

การที่ทางร้านค้ายื่นข้อเสนอให้เราใช้สินค้าหรือบริการได้ฟรี มันก็ย่อมมีต้นทุนทางการตลาด จะมากน้อยแค่ไหนนั่นอีกประเด็น แต่ในเมื่อมันมีมูลค่ามันก็คือของที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่าการกินฟรีคือการ Barter แต่ถ้าคุณไม่พอใจก็มีสิทธิ์ปฏิเสธหรือเจรจา

ในแง่ข้อเท็จจริงก็หนีไม่พ้นว่าการกินฟรีคือการ Barter ที่ต้องทำงานแลกเปลี่ยน แต่เราก็มีสิทธิ์จะปฏิเสธข้อเสนอหากเรามองว่าข้อเสนอนั้นไม่เหมาะกับเรา

ในมุมที่ผมก็ทำ Marketing ให้ร้านอาหารหลายแห่ง ผมเจอ Food Blogger หลังไมค์มาส่งข้อเสนอขายแพ็คเกจบ่อยมาก มีทั้งแบบอยู่ดีๆ ส่งราคามาให้พิจารณาเลยทั้งที่เราไม่เคยมองอยู่ในแผนการตลาดมาก่อน รวมถึงพวกที่อยู่ดีๆ ทักมาขอกินฟรีโดยอ้างว่าตัวเองมียอดผู้ติดตามเยอะ …ซึ่งพวกที่อ้างว่าตัวเองยิ่งใหญ่ แทบทั้งหมดเลยคือคนที่ไม่มี power ขนาดนั้น เพราะคนที่เจ๋งจริงชื่อเสียงจะมาก่อนตัว

ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว Food Blogger ที่น่าสนใจจริงๆ ทางร้านมักจะติดต่อไปเองพร้อมยื่นข้อเสนอ ส่วนมากก็จะเป็นการกินฟรีแลกการรีวิว แต่ถ้าทาง Food Blogger ไม่มีนโยบายกินฟรีแลกรีวิว เค้าก็จะส่ง ratecard มาให้แทน แล้วร้านก็จะพิจารณาอีกที

เทรนด์การรีวิวมันเปลี่ยนไป

มันก็เหมือนกับบทความก่อนหน้านี้ที่ผมได้บอกว่า Content Creator ยุคนี้อยู่ยาก เพราะผู้เล่นมันเยอะเกินไปจนกลายเป็น red ocean ถ้าคิดจะลุยสายงาน Content Creator ต่อก็ต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงของเดิม

ตั้งแต่มี TikTok ที่คนกระโดดมาเป็น Creator มากขึ้น และทำให้คนเห็นความ Real มากขึ้น มันเลยทำให้กระแสนิยมของการรีวิวสาย Advertise ดรอปลงไป เพราะคนต้องการความเป็นจริง ไม่ใช่การ setup for reviewer จนทำให้คนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

Asia teen girl vlogger group look camera VoIP talk on reel IG tiktok app filming shoot

จนกระทั่งรูปแบบการว่าจ้างก็ปรับตัวตาม แม้แต่แบรนด์ระดับโลกหรือห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ก็เปลี่ยนวิธีจ้าง กลายเป็นประกาศหา Creator ธรรมดาที่ไม่ได้เป็น Influencer ด้วยซ้ำ ด้วยเรทราคาราวๆ 500-800 บาทก็มี

ซึ่งถ้าคุณไม่อยากจะอยู่ใน Tier นี้ ก็ต้องทุ่มทุนอลังการเพื่อที่ให้ตัวเองขยับไปอยู่ใน Tier ที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้งานจ้างหลักหมื่นหลักแสน

แต่ก่อนกินฟรีรีวิว แต่ตอนนี้คือเน้นถ่ายรูปจนกินไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงในการรีวิวอาหาร แต่ก่อนจะเป็นการให้สิทธิ์ในการกินจริงๆ แล้วทำรีวิว แต่พอเทรนด์เปลี่ยนเป็นเน้นภาพเพื่อการโฆษณา เลยมีการจัดจานเต็มโต๊ะ หรือเอามาเวียนถ่ายรูปกันหลายเพจ จนอาหารจืดชืดกินไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ควรนับว่าเป็น Barter เพราะมันกินไม่ได้ครับ

บางทีร้าน Barter เพราะมูลค่างานคุณมีแค่นั้น หรือเค้าพร้อมแค่นั้น

บางทีก็ต้องย้อนกลับมามองตัวเราว่าทำไมคนถึงเสนอการกินฟรีให้ อย่างแรกเลยคือร้านต้องมองว่าเราน่าจะช่วยกระจายชื่อเสียงร้านได้ ถัดมาคือร้านมีงบแค่นั้น หรือไม่ก็งานของคุณมีมูลค่าแค่นั้นแหละ

คุณอาจบอกว่ารีวิวฉันทำให้คนมากินตั้งหลายคน มันก็ถูกครับ แต่เวลาเค้าคิดในแง่การตลาดแล้วมันไม่ใช่ 1:1 แต่มันต้องมากกว่านั้น เช่น เรายิง ad 100 บาท เราก็คาดหวังผลลัพธ์ที่มากกว่า 100 บาท

ทีนี้ก็อาจมีบางคนมองว่าการ Barter อาหารมูลค่ามันน้อยไง มันไม่เหมือน Barter มือถือ …ก็ถูกครับ มันก็วนกลับไปข้างบนเลย คือมูลค่างานของคุณมีแค่นั้น หรือไม่ก็ร้านค้าจ่ายไหวแค่นั้น

Blogger taking food photos in restaurant

ในมุมของผมเองที่ได้ Barter สินค้าและบริการมาหลายรูปแบบ ผมก็แค่ปฏิเสธหรือยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมหากมองว่ามูลค่าที่ได้รับมันน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม หากเป็นร้านอาหาร ผมไม่เคยเรียกเงินร้านค้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าผมจะสร้าง Traffic ให้ร้านอาหารมามากมาย เพราะผมมีนโยบายว่าจะสนับสนุนร้านค้า SME โดยเฉพาะร้านระดับ Micro แต่กลับเป็นทางร้านเองต่างหากที่เกรงใจและให้ผมกินฟรี

กินฟรีแล้วจะรีวิวเสียหายยังไงก็ได้?

เอาแบบตรงๆ เลยนะครับ… ทุกวงการรีวิวมันก็มีกลุ่มคนสาย Dark อยู่ เค้าเรียกกันว่ามาเฟียวงการ คือไปล็อบบี้ร้านบ้าง ไปรีวิวเสียๆ หายๆ บ้างเพื่อเรียกเงินค่าแก้ไขรีวิว แต่นั่นก็คือส่วนน้อย

มุมมองที่เกิดจากการคิดว่ากินฟรีไม่ใช่ Barter มันเลยทำให้นักรีวิวรุ่นหลังๆ อาจไปรีวิวร้านค้าในเชิงเสียเพราะมองว่าก็ฉันกินฟรีและได้รับประสบการณ์แบบนี้จริงๆ นี่นา มันก็เลยวนกลับมาที่คำถามว่า “จ้างรีวิวแล้วต้องพูดแต่ข้อดีเหรอ?”

เรื่องนี้ตอบยากเลยครับ เพราะผมเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ยุคที่การรีวิวคือการรีวิวที่แท้จริง รีวิวไม่ใช่การโฆษณา โดยที่แบรนด์จะสนับสนุนในแนวทางของเราและไม่ก้าวก่าย ไม่ขอตรวจดราฟ ไม่ขอแก้งาน แต่ในยุคหลังที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้น การที่แบรนด์และร้านค้าลงทุนส่วนนี้เค้าก็มาว่าเป็นสื่อโฆษณาของทางแบรนด์ เหมือนที่จ้างรายการทีวีให้โฆษณาสินค้า ดังนั้นรีวิวต้องบรีฟได้ ห้ามพูดข้อเสีย

Caucasian female blogger capturing her breakfast food

อย่างไรก็ตามมันก็มีแนวทางปฏิบัติและมารยาทอันดีงามของการ Barter อยู่ คือโดยมากจะ feedback ข้อเสียไปยังเจ้าของสินค้าก่อนที่จะทำการเผยแพร่ข้อมูลออกไป โดยให้ทางร้านค้าทำการแก้ไขปัญหาก่อน แต่ถ้าต้องเผยแพร่ข้อมูลก็จะใช้คำตำหนิที่สุภาพ เพื่อไม่ให้ตัว Creator เสียความน่าเชื่อถือ และไม่ให้ทางร้านค้าเสียหาย

ผมเองก็เคยได้รับ Barter มือถือมา แล้วก็คิดว่าเราต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ผมก็เทียบกับค่ายคู่แข่งเลยว่าในราคาเท่ากันเนี่ยคู่แข่งดีกว่า หลังจากนั้นผู้หวังดีก็ทักมาบอกว่านายทำไม่ถูกนะ มันไม่มีมารยาทเอาซะเลย

ผมมาคิดอีกทีมันก็เหมือนกับการที่เพื่อนเราทำอาหารเลี้ยงเราฟรีๆ แล้วเราก็เอามาเขียนด่าว่ารสชาติห่วย ซึ่งมันก็ไม่ควรใช่ไหมล่ะ …นั่นแหละคำตอบว่าควรไหม

สุดท้ายแล้ว กินฟรีมันก็คือการ Barter ที่ต้องทำงานแลก แต่ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องรับ มันก็แค่นั้น

การว่าจ้างหรือยื่นข้อเสนอในการทำ content มันคือความพึงพอใจระหว่าง 2 ฝ่าย ถ้าคุยกันแล้วไม่ลงตัวก็แค่แยกย้าย แต่คุณไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการกินฟรีคือการ Barter ที่มีต้นทุนและมีมูลค่าทางการตลาด

แต่ถ้าถามว่าการได้รับสินค้าและบริการฟรีโดยไม่ต้องรีวิวมีไหม? …ก็มีครับ บางทีทางร้านอยากได้ feedback ก่อนวางขาย หรืออุปกรณ์บางชิ้นให้เราเซ็น NDA แล้วทดสอบก่อนวางขายก็มี