มาดูกันว่าฟีเจอร์ Night Sight ของ Google Pixel ทำงานอย่างไร ทำไมถึงถ่ายรูปในที่มืดได้ดีขนาดนี้
เมื่อวานนี้ Google ได้ทำการปล่อยฟีเจอร์ Night Sight ที่ช่วยยกระดับคุณภาพภาพที่ถ่ายตอนกลางคืนให้สวยงามกว่าเดิมแก่ Google Pixel ทุกรุ่น และได้อัปเดตบล็อกเพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของฟีเจอร์นี้และอุปสรรคที่เจอระหว่างการพัฒนา มาดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ทำไมการถ่ายรูปในที่แสงน้อยถึงเป็นเรื่องยาก
การถ่ายรูปในที่แสงน้อยมักมีสิ่งที่มากวนใจคือ Noise เจ้า Noise คือจุดๆ สีที่ไม่ต้องการที่โผล่เข้ามาในภาพ ทำให้ภาพไม่สวย โดย Noise มีอยู่ 2 ชนิด
- Shot noise เกิดจากความแปรผันตามธรรมชาติของโฟตอนที่เข้ามาในเซ็นเซอร์รับภาพ กล้องทุกชนิดต้องเจอกับ Noise ชนิดนี้หมด
- Read noise เกิดจากการแปลงค่าแสงที่กระทบเซ็นเซอร์เป็นตัวเลขดิจิตอล
ตัวอย่างภาพถ่ายที่มี Noise |
เหล่า Noise สามารถวัดโดยใช้ค่า signal-to-noise ratio (SNR) ยิ่งค่า SNR มาก Noise ก็จะมากตาม ซึ่งค่า SNR นั้นแปรผกผันกับความเร็วชัตเตอร์ หมายความว่า ยิ่งเราเปิดชัตเตอร์นาน Noise ก็จะยิ่งน้อย แต่การเปิดชัตเตอร์นานทำให้ภาพเบลอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการถ่ายรูปในที่แสงน้อย
ในปี 2014 Google ได้นำเสนอเทคโนโลยี HDR+ ที่ใช้เทคโนโลยีกาาคำนวณขั้นสูงนำภาพหลายๆ ภาพที่ถ่ายแบบต่อเนื่องมารวมกันเป็นภาพเดียว ทำให้ได้ภาพที่มี Dynamic Range ดีขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยลด Noise ด้วย
(ซ้าย) ปิด HDR+ | (ขวา) เปิด HDR+ |
แล้วแค่ไหนที่เรียกว่ามืด? เวลาช่างภาพคุยกันเรื่องแสงในฉากที่ต้องการถ่าย มักจะวัดกันโดยใช้หน่วย Lux คือยิ่งค่ามาก ก็ยิ่งสว่าง โดย Google ได้เทียบค่าแบบเข้าใจง่ายให้เราไว้ดังนี้
- 30,000 Lux : ทางเดินตอนกลางวันที่มีแดดส่อง
- 10,000 Lux : ทางเดินในวันฟ้าเปิด แต่อยู่ในเงา
- 1,000 Lux : ทางเดินในวันฟ้าปิด
- 300 Lux : แสงในสำนักงานทั่วๆ ไป
- 150 Lux : โคมไฟตั้งโต๊ะที่บ้าน
- 50 Lux : ไฟในร้านอาหารทั่วๆ ไป
- 20 Lux : ไฟในร้านอาหารที่มีการจัดไฟเพื่อสร้างบรรยากาศ
- 10 Lux : ความสว่างอย่างน้อยที่สุดที่คุณสามารถหาถุงเท้าที่เข้าคู่กันในลิ้นชักได้
- 3 Lux : ทางเดินที่มีแสงจากไฟถนน
- 1 Lux : แสงอย่างน้อยที่สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้
- 0.6 Lux : ทางเดินที่มีแสงจากพระจันทร์เต็มดวง
- 0.3 Lux : ถ้าทำกุญแจตกไว้บนพื้นก็หาไม่เจอแล้ว
- 0.1 Lux : ถ้าจะไปไหนมาไหนก็อย่าลืมพกไฟฉาย
สำหรับกล้องสมาร์ทโฟนที่ถ่ายแค่รูปเดียวจะสามารถถ่ายได้ถึงประมาณ 30 Lux ส่วนสมาร์ทโฟนที่ใช้เทคนิครวมหลายๆ ภาพเข้าด้วยกัน เช่น HDR+ สามารถไปไกลได้ถึง 3 Lux เลยทีเดียว สำหรับฟีเจอร์ Night Sight ทาง Google ต้องการให้สามารถถ่ายรูปที่มีความสว่างเพียง 0.3 Lux โดยไม่ต้องใช้แฟลชช่วย การทำงานของ Night sight มีหลักการทำงานโดยคร่าวๆ ดังนี้
ขั้นตอนการทำงานของ Night Sight
กล้องของ Google Pixel ออกแบบมาโดยยึดพื้นฐาน Zero Shutter Lag หรือก็คือการกดถ่ายภาพปุ๊บได้ภาพทันทีโดยไม่มีการดีเลย์ Pixel ทำได้โดยทำการเก็บภาพล่วงหน้าไว้ในหน่วยความจำชั่วคราวก่อน หลักการทำงานจะคล้ายๆ กล้องติดรถยนต์ที่บันทึกภาพตลอดเวลา พอพื้นที่เต็มก็จะไปลบภาพเก่าเพื่อเก็บภาพใหม่แทน และเมื่อคุณกดชัตเตอร์เมื่อไหร่ เจ้า Pixel จะดึงภาพ 9-15 ภาพล่าสุดมาทำการประมวลผล HDR+ และ Super Res Zoom ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้แต่ละภาพถูกจำกัดความเร็วชัตเตอร์เอาไว้ไม่เกิน 66 มิลลิวินาทีต่อภาพ แต่การถ่ายภาพในตอนกลางคืนให้สว่างสดใสต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่นานกว่านั้น Google จึงเปลี่ยนมาใช้ Positive Shutter Lag ในโหมด Night Sight ที่จะเริ่มถ่ายภาพก็ต่อเมื่อเรากดชัตเตอร์ และต้องถือกล้องค้างไว้อีกสักครูเพื่อให้กล้องเปิดชัตเตอร์ได้นานขึ้นด้วย
เมื่อเปิดชัตเตอร์นานขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือภาพเบลอซึ่งเกิดจากการสั่นของมือและแบบในภาพเคลื่อนไหว แม้ในกล้องของ Pixel 2 และ Pixel 3 จะมีระบบกันสั่นด้วยฮาร์ดแวร์ (OIS) แต่ก็ช่วยได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น เพื่อจัดการเรื่องนี้ Google ได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Optical Flow เพื่อวัดการเคลื่อนไหวและการสั่นของภาพ จากนั้นจึงคำนวณความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่จะทำให้ภาพไม่เบลอ โดยสามารถเปิดชัตเตอร์ได้นานถึง 333 มิลลิวินาทีสำหรับภาพที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมากเลยทีเดียว นอกจากนั้น Google ยังนำการเคลื่อนไหวของมือมาคำนวนอีกด้วย เช่น หากพบว่ามือถือถูกตั้งอยู่บนขาตั้งกล้อง กล้องจะเปิดหน้ากล้องนานขึ้นสูงสุดถึง 1 วินาทีเลยทีเดียว
จากนั้นกล้องจะนำภาพแต่ละภาพมาเรียงซ้อนกันและเฉลี่ยค่าแสงเพื่อลด Noise เทคนิคนี้เป็นเทคนิคโบราณ เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับระบบภาพแบบดิจิตอลเลยทีเดียว เทคนิคนี้นักถ่ายภาพดวงดาวเรียกว่า Exposure Stacking ซึ่งการโพรเซสภาพนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ความยากอยู่ที่การนำภาพมาเรียงซ้อนกันอย่างพอดีและตัดส่วนที่ไม่สามารถซ้อนกันได้ออกไปต่างหาก โดย Google ได้พัฒนาเทคนิคนี้ตั้งแต่ปี 2010 จากแอปที่ชื่อว่า Synthcam แอปตัวนี้จะทำการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องและนำภาพมารวมกันเป็นภาพเดียวแบบ Real-time โดยใช้ความละเอียดต่ำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นภาพที่สว่างและไร้ Noise สำหรับ Night Sight ขั้นตอนการรวมภาพจะใช้เทคนิคเดียวกับ HDR+ และ Super Res-Zoom โดยทำแบบเต็มความละเอียดภาพ และไม่ Real-time
ภาพถ่ายที่ใช้เทคนิค Exposure Stacking นำภาพ 6 ภาพ แต่ละภาพถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 130 วินาทีมารวมกันเป็นภาพความเร็วชัตเตอร์ 780 วินาที (13 นาที) |
อีกอุปสรรคที่เจอคือ White Balance สายตามนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับสีให้ถูกต้องสูงมาก แม้จะเป็นการมองผ่านแว่นตากันแดดสีแปลกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเราถ่ายรูปที่มีภาพแสงอย่างหนึ่ง และนำรูปมาดูในอีกสภาพแสง เราจะเห็นว่ารูปมีการติดสีใดสีหนึ่ง และไม่สวยงาม เพื่อแก้ปัญหานี้ กล้องจึงมีการปรับ White balance ให้เหมือนภาพที่ถูกถ่ายโดยมีแหล่งกำเนิดแสงไปเป็นไฟสีขาว กระบวนการนี้เรียกว่า Auto White Balancing (AWB)
แต่กระบวนการนี้ก็มีปัญหาของตัวเองเช่นกัน เช่น หากภาพถ่ายของเรามีหิมะสีฟ้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหิมะมีสีฟ้า หรือหิมะมีสีขาว ส่วนสีฟ้ามาจากเงาสะท้อนของท้องฟ้า ในสภาพแสงปกติกล้อง Pixel 0ะไม่พบปัญหานี้ แต่พอเป็นตอนกลางคืนที่มีแหล่งกำเนิดแสงที่มีการติดสีเข้มๆ เช่น หลอดไฟสีเหลือง ปัญหานี้จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน
เพื่อแก้ปัญหานี้ Google ได้พัฒนา Learning-Based AWB Algorithm ซึ่งเป็น AI ที่ถูกสอนให้สามารถแยกแยะรูปภาพที่มี White balance ดีกับแย่ออกจากกัน และสามารถแนะนำการปรับสีของภาพให้มี White Balance ถูกต้องได้ กระบวนการสอน AI นี้ทำโดยการนำภาพถ่ายจาก Pixel จากหลายๆ สถานการณ์และสภาพแวดล้อม แล้วให้คนมาปรับ White balance ด้วยมือแล้วนำไปให้ AI เรียนรู้
(ซ้าย) ภาพถ่ายจากกล้อง Pixel โหมดปกติ | (ขวา) ภาพถ่ายที่ได้รับการปรับสีจาก Learning-Based AWB Algorithm แล้ว |
อีกอุปสรรคคือการทำ Tone Mapping ในภาพ ดวงตาของมนุษย์เวลามองในตอนกลางคืนที่ค่อนข้างมืด เราจะเห็นสีสันน้อยลง แต่ Google ต้องการให้ภาพจาก Night Sight มีสีสันที่สดใสตรงข้ามกับการมองเห็นของมนุษย์
ในอีกด้าน หากเราใช้กล้อง DSLR ถ่ายรูปโดยการเปิดชัตเตอร์นานๆ เราสามารถเปลี่ยนตอนกลางคืนเป็นกลางวันได้เลย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ Google ต้องการ สิ่งที่ Google ต้องการคือภาพตอนกลางคืนที่มีสีสันสดใส แต่ยังเหมือนภาพที่ถ่ายตอนกลางคืนอยู่
ตัวอย่างภาพถ่ายด้วยกล้อง DSLR ที่เปิดชัตเตอร์นานถึง 3 นาที ภาพที่ได้มีสภาพแสงเหมือนตอนกลางวัน แต่ที่จริงแล้วถ่ายตอนกลางคืน สังเกตได้จากดวงดาวบนท้องฟ้า |
สำหรับวิธีแก้ปัญหานี้ เหล่าศิลปินวาดภาพรู้วิธีแก้ปัญหามาตั้งแต่หลายร้อยปีที่แล้ว
A Philosopher Lecturing on the Orrery โดย Joseph Wright of Derby, 1766 |
Google จึงใช้ S-curve ในการทำ Tone mapping ในภาพ ซึ่งต้องใช้การปรับที่พอเหมาะพอเจาะระหว่าง สีสันที่สดใสราวต้องมนต์ กับ บรรยากาศแบบตอนกลางคืน
S-Curve |
ภาพถ่ายโดย Pixel 3 ที่ตั้งบนขาตั้งกล้องที่ใช้ S-Curve ในการทำ Tone Mapping ได้อย่างสวยงาม |
เคล็ดลับการถ่ายรูปด้วย Night Sight
นอกจากนั้น Google ยังได้แนะนำเทคนิคการใช้งาน Night Sight เล็กๆ น้อยๆ ไว้ด้วย
- Night Sight ไม่สามารถทำงานในที่มืดสนิทได้ ดังนั้นเลือกสถานที่ที่มีแสงบ้างเล็กน้อย
- แสงนุ่มๆ นวลๆ ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแสงแรงๆ แข็งๆ เพราะจะสร้างเงาดำที่วัตถุ
- ถ้าไม่อยากให้มีแสงแฟลร์ในภาพ พยายามไม่หันกล้องไปทางที่มีแหล่งกำเนิดแสงจ้ามากๆ
- หากต้องการเพิ่มความสว่างภาพ ให้แตะบนวัตถุที่ต้องการ แล้วดันแถบ Explosure Slider ขึ้น จากนั้นแตะอีกทีเพื่อปิดแถบ
- หากต้องการลดความสว่างภาพ ให้ถ่ายภาพมาก่อนแล้วค่อยไปปรับในแอป
- หากมืดเกินจนกล้องโฟกัสไม่ได้ ให้แตะบริเวณขอบของวัตถุที่แสงกระทบ
- หากยังโฟกัสไม่ได้อีก ให้สลับมาใช้ Manual Focus หากวัตถุอยู่ใกล้เลือก Near(1.2 เมตร) ถ้าอยู่ไกลเกิน 1.8 เมตร เลือก Far
- เพื่อให้ภาพคมชัดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ลองตั้งมือถือไว้บนโต๊ะ หรือเอาพิงกับกำแพงเวลาถ่าย
- Nightsight ใช้กับกล้องหน้าได้ด้วยนะ
Night Sight เป็นฟีเจอร์ที่จะทำให้คุณใช้ Google Pixel ถ่ายภาพกลางคืนได้อย่างสวยงามแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน แม้ Google จะปล่อยอัปเดต Night Sight ให้กับ Pixel 1 และ Pixel 2 แต่ฟีเจอร์นี้ถูกปรับแต่งมาให้เหมาะสมกับ Pixel 3 มากที่สุดทั้งด้านคุณภาพและความเที่ยงตรงของสี ดังนั้นผู้ใช้ Pixel 3 จะได้ผลประโยชน์จากฟีเจอร์นี้มากที่สุด
ที่มา Google, Digital Photography School