รีวิว Brother HL-3170CDW ปริ้นเตอร์ที่เหมาะกับคนทำงานยุคนี้
แม้ว่าการทำงานในยุคนี้เริ่มเข้าสู่ Paperless แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอกสารยังจำเป็นต่อธุรกิจหลายประเภท นั่นคือสาเหตุที่ผมได้นำ Brother HL-3170CDW เข้ามาไว้ในห้องทำงานเล็กๆ ของผม ตามเทรนของยุคนี้ที่ผู้คนหันมาเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ หรือรับงานฟรีแลนซ์เพิ่มช่องทางการหารายได้
สิ่งที่จุดประกายความคิดที่จะหาปริ้นเตอร์มาใช้งานก็คือ การติดต่อประสานงานโดยเฉพาะเอกสารทางการเงินในบ้านเรายังนิยมแบบ Hard Copy ที่เป็นกระดาษจับต้องได้ แต่ผมเองที่ห่างเหินจากการใช้ปริ้นเตอร์อย่างจริงจังมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ก็ยังคงโดนประสบการณ์ในอดีตตามหลอกหลอน โดยเฉพาะปัญหาหมึกตันเมื่อไม่ได้ใช้สักพัก
พอเข้า Google จัดแจงหาข้อมูลก็มีหลายคนแนะนำว่าให้ใช้ของ Brother เพราะมีระบบดูแลช่วยให้หมึกไม่ตันแม้จะเป็นแบบ Inkjet ก็ตาม จากนั้นก็ดำเนินการติดต่อเจ้าหน้าที่พร้อมกับเน้นย้ำว่าผมกลัวเรื่องหมึกตันมากๆ เพราะผมไม่ค่อยได้ใช้ ทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำมาหลายๆ รุ่นโดยเน้นที่แบบ Laser เพื่อให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน
สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเลือกรุ่น Brother HL-3170CDW ด้วยเหตุผลที่ว่ามีคุณสมบัติพื้นฐานที่น่าสนใจได้แก่ ความเร็วในการพิมพ์ 22 แผ่นต่อนาทีซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับเครื่องก่อนๆ ของผมที่เป็นแบบ Inkjet ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 แผ่นต่อนาทีเท่านั้น และยังให้ความละเอียดที่ 2,400×600 DPI พร้อมกับรองรับการพิมพ์ 2 ด้านอัตโนมัติ และหน่วยความจำ 128 MB ช่วยให้การ Buffer ต่อคิวการพิมพ์ทำได้ดีขึ้น
และคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้สำหรับ Tech Blogger อย่างผมก็คือการเชื่อมต่อผ่าน Network ที่รองรับทั้ง USB, LAN, Wi-Fi หลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมแม้กระทั่ง Wi-Fi Direct นอกจากนี้ยังได้รางวัล Good Design Award 2013 อีกด้วย สนนราคา ณ วันที่จัดหามาใช้อยู่ที่ 11,990 บาท
ในการใช้งานครั้งแรกไม่มีอะไรยาก เพียงแค่ทำตามคู่มือและคำแนะนำต่างๆ ที่แปะอยู่รอบตัวเครื่อง และเมื่อเริ่มกดปุ่ม Power เปิดเครื่องใช้งานก็จะพบเมนูภาษาอังกฤษที่เลือกเปลี่ยนภาษาได้ …แต่เท่าที่งมยังไม่เจอภาษาไทยครับ
การออกแบบแผงควบคุมบนตัวเครื่อง ดูเหมือนว่าไม่ต้องการให้เราเปิด-ปิดบ่อยๆ เพราะปุ่ม Power ค่อนข้างลึก แต่ทดแทนด้วย Sleep mode ที่สามารถตั้งเวลาได้ ซึ่งมันเหมาะมากกับการสั่งปริ้นจากนอกสถานที่ผ่าน Google Cloud Print และการที่ถาดใส่กระดาษรองรับ 250 แผ่นก็เสมือนการ Stand by พร้อมรอรับคำสั่งตลอดเวลาจากที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ ช่วยให้การทำงานเป็นแบบ Instant คิดแล้วทำได้ทันทีไม่ต้องจดใส่ To Do แล้วมารอจิ้มปริ้นที่หน้าเครื่อง
เมนูมีการจัดวางที่ใช้งานค่อนข้างง่าย ยกเว้นการ Input ป้อนค่าที่ค่อนข้างยากเพราะไม่มีแป้นพิมพ์ Keyboard QWERTY หมายความว่าเราต้องใช้ Arrow Key ในการเลื่อนเปลี่ยนอักษรทีละตัวในแต่ละตำแหน่ง …แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ลำบากขนาดนั้นเพราะมีแค่ส่วนของการกรอกรหัส Wi-Fi เท่านั้นที่ต้องใช้การป้อนค่าตัวอักษร และเราก็ไม่จำเป็นต้องกรอกสดแบบนั้น เพราะรุ่นนี้รองรับ WPS ที่ช่วยให้เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว แต่ปัญหาเล็กๆ ก็คือมันไม่รองรับ Wi-Fi 5G ดังนั้นต้องต่อผ่าน 2.4G เท่านั้น
การเชื่อมต่อทำได้ทั้งหมด 3 แบบคือต่อ USB ตรงเข้ากับ PC ที่รองรับทั้ง Windows, macOS, Linux หรือจะต่อแบบ LAN ที่เสียบเข้ากับ Router เลยก็ได้ และแบบสุดท้ายคือต่อแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi ส่วนการใช้งานบนมือถือ iOS และ Android ที่ง่ายสุดคือการโหลดแอพ Brother iPrint&Scan มาใช้งาน แต่ถ้าใครที่เป็น Power User คล่องมือหน่อยก็สามารถตั้งค่าเป็น Apple AirPrint หรือ Google Cloud Print ก็ได้เช่นกัน
ด้านคุณภาพของการปริ้นที่ได้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แถมยังทำงานได้รวดเร็วอีกด้วย ส่วนการบำรุงรักษาอย่างโทนเนอร์หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เติมหมึก” ก็แบ่งได้ 3 แบบดังนี้
- TN-261 BK (สีดำ) ราคา 2,390 บาท ปริ้นได้ 2,500 แผ่น
- TN-261 C/M/Y (สีฟ้า, ชมพู, เหลือง) ราคาสีละ 2,090 บาท เป็นแบบ Standard ปริ้นได้ 1,400 แผ่น
- TN-265 C/M/Y (สีฟ้า, ชมพู, เหลือง) ราคาสีละ 3,090 บาท เป็นแบบ High Yield ปริ้นได้ 2,200 แผ่น
คำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัยว่า Inkjet กับ Laser ต่างกันยังไงและอะไรเหมาะกับเรา? ผมขอสรุปในภาพรวมอย่างง่ายดังนี้
- Inkjet ราคาเริ่มต้นค่อนข้างถูก เหมาะจะทำมาปริ้นรูปภาพมากกว่า แต่มีปัญหาหมึกตัน เลอะเทอะ และปริ้นช้า
- Laser ราคาเริ่มต้นค่อนข้างสูง นิยมเอามาใช้ปริ้นเอกสารที่เน้นตัวอักษร ไม่มีปัญหาหมึกตัน และปริ้นเร็ว
อย่างไรก็ตาม Brother Inkjet ก็มีความพิเศษตรงที่ถ้าเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา ตัวเครื่องจะทำการดูแลไม่ให้หมึกตัน ซึ่งผู้ใช้งานจริงหลายคนก็บอกว่าหมึกไม่ตันแม้ไม่ได้พิมพ์หลายเดือน ดังนั้นถ้ามองว่า Brother Laser Printer มีราคาสูงเกินไป ก็ลองดูแบบ Inkjet ที่มีติด Tank มาจากโรงงาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า และยังมาพร้อมคุณสมบัติที่โดดเด่นไม่แพ้กัน เพียงแต่จะปริ้นได้ช้ากว่าเท่านั้นเอง