รีวิว DxO One กล้องขนาดพกพาจากเจ้าสำนัก DxOMark
DxO One เป็นกล้องอีกตัวที่มี Story เรื่องราวค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นกล้องของสำนัก DxOMark ที่มีชื่อเสียงด้านการจัดอันดับให้คะแนนกล้อง แต่เพราะเป็นผู้ให้คะแนนสินค้าตัวเองจึงเกิดข้อกังขากับค่าพลังของกล้องตัวนี้ที่ดูสูงเกินไป ประกอบกับการรีวิวจากผู้ใช้จริงออกมาค่อนข้างแย่ จึงมีการพัฒนาวางขายรุ่นใหม่ในชื่อเดิมและเพิ่มเติม WiFi พร้อมกับคุณสมบัติใหม่
Highlight
กล้อง DxO One ที่พัฒนาเป็น Generation ที่สอง เพิ่มความสะดวกด้วย WiFi และ Facebook Live ใช้ได้ทั้งเสียบเข้ามือถือและ Stand Alone โดดเด่นด้วยการถ่ายโอนไฟล์เข้ามือถือที่รวดเร็วและเสถียรกว่ารุ่นอื่น พร้อมแอพแต่งภาพที่ให้มาฟรี เมื่อเทียบกับกล้อง iPhone X ก็มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันไป
ย้อนไปเมื่อตอน DxO One รุ่นแรกเปิดตัวในปี 2015 พร้อมกับคะแนนที่สูงกว่ากล้อง Hi-End Compact อย่าง Sony RX100 M3 ที่ได้รับการยอมรับว่าคือหนึ่งในสุดยอดกล้องตัวเล็ก จนเกิดข้อครหาว่า DxOMark ไม่น่าเชื่อถือ มีการเอนเอียงเทคะแนนให้สินค้าของตัวเอง โดย DxO One เอาชนะไปด้วยคะแนน 70 ต่อ 67
ยิ่งไปกว่านั้นทาง DxOMark ยังอ้างว่าถ้าเปิดโหมด SuperRAW จะได้คะแนนสูงขึ้นไปอีก โดยมีคะแนนอยู่ที่ 85 คะแนน แต่ถ้าตามอ่านรีวิวของผู้ใช้จริงจะพบว่าโดนบ่นสารพัดเรื่องไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ที่หมดเร็วมาก, ระบบไม่เสถียร, โฟกัสช้า และอีกสารพัดปัญหา
กระทั่ง DxO One ออกเวอร์ชั่นใหม่มาทดแทนพร้อมกับเลิกขายเวอร์ชั่นเดิม โดยเวอร์ชั่นใหม่มีความเปลี่ยนแปลงด้าน Hardware ที่เด่นชัดคือการมี WiFi ในตัวและสามารถใช้งานได้แบบ Stand Alone ซึ่งราคาที่ผมซื้อมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท บวกกับอุปกรณ์เสริมอื่นที่ซื้อเพิ่มก็เบ็ดเสร็จประมาณ 18,000 บาท โดยฝากเพื่อนซื้อจากอเมริกา
DxO One ตอนนี้มีวางขาย 2 รุ่นคือ Lightning สำหรับ iPhone และ iPad กับรุ่น USB-C สำหรับ Android โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ถึง 1 นิ้วและรูรับแสง f/1.8 เท่ากับ RX100 M5 ที่ผมใช้อยู่ และยังมีหน้าจอสัมผัสแบบขาว-ดำให้ใช้งานด้วย
ขนาดของตัวกล้องถือว่าเล็กมากๆ แทบจะไม่ต่างกับ Sony RX0 หรือ Actioncam เลย แต่มีข้อดีตรงที่สามารถใช้งานแบบ Stand Alone หรือควบคุมผ่าน WiFi หรือแม้แต่เสียบใช้งานกับมือถือ ซึ่งข้อดีที่เหนือกว่ากล้องอื่นทุกตัวในท้องตลาดก็คือการเสียบกับเข้ามือถือโดยตรง ทำให้โอนไฟล์ได้รวดเร็วและเสถียรกว่า ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเวลาที่อยู่ในจุดที่สัญญาณรบกวนค่อนข้างเยอะ เช่น งานเปิดตัวสินค้าที่นักข่าวหลายคนพยายามส่งไฟล์ผ่าน WiFi จนเกินการชนกันของสัญญาณ
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องมีเพียง ซองผ้าขนาดพอดีตัว และฐานยางสำหรับวางตั้งตัวกล้อง ทำให้ผมตัดสินใจซื้อกระเป๋าเคสสำหรับพกพาเพิ่มอีกอัน และฐานสำหรับ Mount เข้ากับขาตั้งกล้อง ส่วนใครเป็นสายลุยจะซื้อเคสกันกระแทกเพิ่มก็มีขายเช่นกัน
ด้านหน้าเป็นฝาปิดเลนส์ที่เป็นเหมือนปุ่มควบคุมในตัว ด้วยการเลือกฝาปิดเลนส์ก็เท่ากับการเปิดเครื่องพร้อมใช้งานแบบ Stand Alone และถ้าเลือกลงจนสุดจะเป็นการดีดกางขาเสียบ Lightning สำหรับต่อมือถือที่หมุนปรับองศาได้ ส่วนด้านบนมีเพียงปุ่มชัตเตอร์แบบ 2 จังหวะเพียงปุ่มเดียว
แผงควบคุมด้านหลังเป็นจอขาว-ดำขนาดเล็กที่รองรับการควบคุมแบบสัมผัส โดยสามารถปัดไปมาเพื่อเลือกสลับระหว่างโหมด ภาพนิ่ง, วีดีโอ และโหมดล่าสุดที่เราตั้งค่าไว้บนมือถือ ซึ่งอาจประยุกต์ใช้ด้วยการตั้งค่าแบบ Manual ทิ้งไว้ก่อนถอดใช้แบบ Stand Alone …ถัดมาเป็นฝาปิดที่มีช่องเสียบ microSD, microUSB และปุ่มสำหรับ Reset เครื่อง ส่วนด้านล่างสุดเป็นที่คล้องสายห้อยข้อมือ
ในการใช้งานแบบ Stand Alone ก็เปรียบเสมือนมิติใหม่แห่งการถ่ายรูป เพราะมีเพียงหน้าจอขาว-ดำเล็กๆ ไว้ดูคร่าวๆ และการโฟกัสแบบ Contrast ที่ช้ากว่า iPhone X แต่เร็วพอๆ กับเรือธงหลายรุ่นบวกกับระยะโฟกัสใกล้สุดประมาณ 20 ซม. ทำให้ต้องฝึกใช้ระยะหนึ่งก่อนจะคล่องตัว
แต่พอจับเสียบเข้ากับ iPhone หรือ iPad ก็ดูเหมือนจะแปลงร่างเพิ่มความสามารถขึ้นมาทันที เนื่องจากมันมีการตั้งค่าที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยสามารถถ่ายแล้วบันทึกไฟล์เป็น JPEG, JPEG+RAW, JPEG+SuperRAW รวมถึงการยิงแฟลชจากตัว iPhone และยังรองรับการทำ Facebook Live อีกด้วย
โหมดการใช้งานมีทั้ง Auto, Scene, Manual โหมดโฟกัสก็มี AF-S, AF-C, AF-OD, MF ซึ่งตัวที่แปลกตาดูจะเป็น AF-OD ที่ย่อมาจาก On Demand หรือโฟกัสเมื่อเราต้องการ เนื่องจากกล้องตัวนี้ค่อนข้างจะบริโภคพลังงาน การใช้ AF-OD จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ รวมถึงการตั้งค่า SuperRAW เฉพาะยามจำเป็น และตั้งค่า Sleep time ก็ช่วยได้เช่นกัน ซึ่งระยะเวลาการใช้งานจริงผมรู้สึกว่าความอึดของแบตเตอรี่ไม่ต่างจากตอนใช้ Sony RX100 M5 มากนัก ส่วนการตั้งค่าอื่นๆ ก็ทำได้ไม่ต่างจากกล้องทั่วไปเช่น ISO สูงสุดที่ 51200 รูรับแสงปรับได้ระหว่าง f/1.8 ไปจนถึง f/11 ส่วน Speed Shutter ก็ตั้งแต่ 1/20,000 ถึง 30″
ด้านการเชื่อมต่อผ่าน WiFi มีให้เลือก 2 โหมดคือใช้งานผ่าน WiFi วงเดียวกับมือถือ และใช้งานแบบ WiFi Direct ทำให้สามารถควบคุมสั่งการผ่านมือถือได้คล้ายกับกล้อง Compact หรือ Mirrorless บางรุ่นที่มีแอพบนมือถือ ซึ่งการแสดงผลก็อาจมีการ Delay บ้างตามสถานการณ์ แต่ความสะดวกที่เหนือกว่ากล้องตัวอื่นๆ ก็คือการเชื่อมต่อเข้ากับมือถือโดยตรง โดยเฉพาะการที่จับคู่กับ Lightning ทำให้ส่งไฟล์ได้เร็วมาก แบบถ่ายปุ๊บพร้อมเปิดใช้งานบนมือถือได้ทันที ยกเว้นไฟล์วีดีโอที่จะต้องกดโหลดลงมาเอง อย่างไรก็ตามไฟล์ภาพนิ่งที่โหลดลงมือถืออัตโนมัติจะเป็นไฟล์ JPEG เท่านั้น ถ้าต้องการไฟล์ RAW หรือ SuperRAW ต้องเข้าไปกดโหลดจากในอัลบั้มอีกที
ข้อดียังไม่หมดแค่นั้น เนื่องจากไฟล์ภาพที่ถ่ายถูกส่งลงมายังมือถืออัตโนมัติ นั่นหมายความว่ามันก็จะถูก Sync ผ่าน iCloud ให้เราสามารถเปิดใช้งานบน MacBook หรือ iMac ได้ทันที และยังมีแอพ DxO OpticsPro for Photos มาให้ใช้กันฟรีๆ อีกด้วย ซึ่งแอพนี้สามารถแก้ไข Distortion ของเลนส์ และปรับแต่ง RAW อย่างง่ายได้
เรื่องของคุณภาพไฟล์เมื่อเทียบกับ iPhone X จะมีความต่างที่เห็นได้ชัดคือ ระยะของเลนส์ที่ iPhone X เก็บภาพได้กว้างกว่า ให้สีสันจบหลังกล้องได้จัดจ้านกว่า แต่เรื่องของมิติภาพระยะชัด-เบลอของ DxO One ทำได้น่าสนใจกว่า
การการทดสอบตั้งกล้องในระยะเดียวกันจะเห็นได้ชัดถึงความต่าง ที่ดูแล้วเหมือนว่า iPhone X จะให้สีสันที่สวยกว่าด้วยซ้ำ ขาดแต่เรื่องมิดิของภาพที่ไม่มีหน้าชัดหลังเบลอเหมือน DxO One
ด้วยความสงสัยเลยลองเอาไป Process ผ่านแอพที่แถมมาให้อย่าง DxO OpticsPro ผลก็คือสามารถปรับแสง ลด noise และดึงรายละเอียดออกมาได้ดีพอตัว
เปลี่ยนมาเทียบที่กล้องหน้ากันบ้าง ทีนี้เริ่มเห็นความต่างของเนื้อภาพที่ DxO One ดูจะให้รายละเอียดที่ดีกว่า ซึ่งมันก็หมายถึงการถ่ายวีดีโอจำพวก VLOG ก็จะให้คุณภาพที่น่าสนใจมากขึ้น แต่ติดปัญหาเล็กน้อยตรงที่เลนส์ค่อนข้างแคบไปหน่อย ซึ่งทาง DxO ก็มีชุดต่อขยายสำหรับใส่ฟิลเตอร์หรือเลนส์เพิ่มเติม และแม้ว่าจะไม่มี OIS มาให้แต่ก็มี EIS ซึ่งช่วยกันสั่นได้พอสมควร
คราวนี้ผมลองเอามาถ่ายงานจริงกันบ้าง แบบไม่เน้นการ Compare จากนั้นก็เอามา Process ผ่านตัวแอพ DxO OpticsPro ก็พบว่ามันให้ภาพที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องมิติของภาพและการจัดการ noise
สิ่งหนึ่งที่อัพเดทเพิ่มเติมเข้ามาคือการทำ Facebook Live ผ่านตัวแอพ ข้อดีคือมันสามารถใช้ร่วมกับกล้องบน iPhone หรือ iPad ได้ ทำให้มีมุมกล้องทั้งหมด 3 อันให้เลือกสลับมุมได้ตามชอบ และยังเลือกสลับ source ของไมค์ได้อีกด้วยว่าจะใช้จากตัว DxO One หรือจากตัวมือถือ และมันยังสามารถถอดตัว DxO One ไปตั้งคนละจุดโดยเชื่อมต่อผ่าน WiFi เพื่อให้ได้มุมภาพที่น่าสนใจมากขึ้น
แต่จากที่ลองทดสอบใช้งานจริงพบว่าการถอดแยกแล้วเชื่อมต่อผ่าน WiFi ทำให้ตัวกล้องทำงานหนักเกินไปและค่อนข้างร้อน ในการต่อผ่านวง WiFi เดียวกันกับมือถือก็ค่อนข้างกระตุก ส่วนการต่อแบบ WiFi Direct ก็ลื่นขึ้นแต่ก็ไม่เท่ากับการเสียบตรงกับตัวมือถือ
บทสรุปเรื่องราวของ DxO One
หลังจากเทียบกันมาหลายๆ ช็อตก็เหมือนว่ากล้อง iPhone X จะดีกว่าในหลายๆ ครั้งจนทำให้คิดว่ามันเกิดมาทำไมเนี่ย! เมื่อคิดดูแล้วที่จริงมันก็มีข้อดีหลายอย่างที่ดีกว่ากล้องของ iPhone อย่างเช่นการทำ Facebook Live ที่ให้มุมมองได้มากกว่า, การถ่ายโหมด SuperRAW แล้วนำไป Process ต่อ ซึ่งจะให้คุณภาพที่ดีกว่า, การหมุนบิดเปลี่ยนองศาให้ได้มุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น, การใช้แบบ Stand Alone แทนกล้อง Compact ฯลฯ ที่ต้องบอกว่าโดยรวมแล้วมันก็ยังมีจุดเด่นน่าสนใจ โดยเฉพาะขนาดตัวที่เล็กพกพาได้ง่าย จึงทำให้ DxO One เป็นกล้องอีกตัวที่ผมชอบและพกติดตัวแทบทุกวัน