รีวิว realme XT | หน้าจอ Super AMOLED กล้อง 4 ตัวสุดเด็ด 64 ล้านพิกเซล ชาร์จแบตเร็วใช้ได้ยาวนาน สุดอลังการด้วยงานดีไซน์
realme XT จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนอีกหนึ่งรุ่นที่หลายคนกำลังจับตาและรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเข้ามาวางจำหน่ายในไทยสักที เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราก็ได้แกะกล่องพรีวิวกันไปแล้วและจากที่ลองใช้งานมาได้ระยะเวลาหนึ่งก็นับว่าน่าเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าประทับใจมาก ๆ เดี๋ยวจะมารีวิวให้ดูกันว่า realme XT นั้นใช้งานจริงแล้วเป็นยังไงกันบ้าง
ดีไซน์สวยสะดุดตา ด้วย Hyperbola Light Streaks
ฝาหลังของ realme XT นั้นเป็นกระจก Gorilla Glass 5 โค้งแบบ 3D ออกแบบให้มีลวดลายเส้นโค้งเวลาสะท้อนแสงที่มีชื่อเรียกแบบเท่ ๆ ว่า Sparkling Hyperbola Light
ออกแบบมาได้สวยงามมากเลยทีเดียว มองมุมไหนก็สวยสะดุดตา
นอกจากนี้ยังถูกดีไซน์มาให้ป้องกันตัวเครื่องจากละอองน้ำด้วย
รุ่นนี้จะมีทั้งหมด 2 สีคือสี Pearl White และ Pearl Blue สำหรับเครื่องที่ได้มาพรีวิวนั้นจะเป็นสี Pearl White
หน้าจอ Super AMOLED สีสันสวยงาม มาพร้อมระบบสแกนลายนิ้วมือในหน้าจอ
realme XT มาพร้อมกับหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 6.4 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ อัตราส่วน 19.5:9
กระจกหน้าจอนั้นเป็น Gorilla Glass 5 เช่นเดียวกับฝาหลัง กระจก Gorilla Glass 5 นั้นจัดว่าทนทานมากในระดับนึง สามารถป้องกันจอมือถือแตกเมื่อตกจากที่สูง 1.6 เมตรได้ถึง 80% แต่ถ้าใครยังกังวลเรื่องริ้วรอยขนแมวจากการใช้งานก็ไม่ต้องห่วง เพราะ realme XT นั้นติดฟิล์มมาให้จากโรงงานเรียบร้อย แกะเครื่องมาก็สามารถใช้งานได้เลยทันที
ขอบด้านบนจะมีรอยบากเป็นรูปหยดน้ำ ขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่เกะกะลูกตา และตรงเหนือรอยบากมีลำโพงสำหรับสนทนา
สีสันของหน้าจอจัดว่าสวยงามเลยทีเดียว รองรับการดู YouTube แบบ HDR ด้วย
เรื่องสีสันของจอนั้นจัดว่าทำได้ดีมากสมกับที่เป็นจอ Super AMOLED สีดำคือดำมืดสนิท ส่วนสีอื่น ๆ ก็แสดงผลได้ดี ไม่จัดจ้านมากจนเกินไป ถือว่ามีหน้าจอที่สวยมาก ๆ เมื่อเทียบกับหน้าจอของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่มีสเปคใกล้เคียงกัน
realme XT มาพร้อมกับความสามารถในการสแกนนิ้วในหน้าจอ ซึ่งตัวสแกนลายนิ้วมือจะซ่อนอยู่ข้างใต้หน้าจอบริเวณใกล้ ๆ ขอบล่าง ตำแหน่งถือว่ากำลังดี วางนิ้วได้สะดวก ปลดล็อคได้ค่อนข้างง่ายเลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าหน้าจอจะดับอยู่ก็ยังสามารถปลดล็อคได้
สเปคแรงไม่น้อยหน้าใคร เล่นเกมได้แบบสบายใจไม่ต้องกลัวเครื่องร้อน
realme XT มาพร้อมกับชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 712 AIE, RAM 8 GB และ Storage 128 GB แบบ UFS 2.1 ซึ่งมองรวม ๆ แล้วก็จัดว่าสเปคแรงมาก โดยเฉพาะเจ้าชิปเซ็ต Snapdragon 712 ที่ถึงแม้ความเร็วจะยังเป็นรองพวก Snapdragon Series 800 ในรุ่นเรือธง แต่ก็ซัพพอร์ต RAM แบบ LPDDR4X และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ให้มาแบบไม่น้อยหน้าพวก Snapdragon Series 800 ยิ่งทำงานร่วมกับ Storage แบบ UFS 2.1 ที่ใช้ในรุ่นเรือธงหลาย ๆ ค่ายแล้วทำให้ realme XT สามารถใช้งานได้ดีเลยทีเดียว
ตามธรรมเนียมของเว็บไซต์เรานั้นเมื่อได้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ มารีวิวก็ต้องลองเล่นเกมสักหน่อย แน่นอนว่าเกมที่เลือกเล่นนั้นก็คือ PUBG Mobile
ซึ่งจากเท่าที่ลองเล่นดูนั้นปรับกราฟิกให้สุดเท่าที่เครื่องจะให้ปรับได้ก็ยังเล่นไหว (HD) แต่ในหลาย ๆ จังหวะจะไม่รู้สึกสมูทเท่าที่ควร
ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ปรับกราฟิกลงมาเหลือสมดุลและเพิ่มเฟรมเรทเป็น Ultra แทน ภาพที่ได้นั้นไม่ได้ดูต่างกันมากเท่าไหร่แต่การเล่นนั้นลื่นขึ้นและการสัมผัสตอบสนองดีขึ้นมาก
สำหรับปรับความละเอียดภาพและเงานั้นสามารถเปิดได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะรันไม่ไหว บอกได้เลยว่าสบายมากหายห่วง
รุ่นนี้เขาเล่นเกมดีจริง ๆ นะเออ ฟินมากกกกก
Marmel0z
ที่สามารถเล่นเกมได้ดีนั้นก็เป็นเพราะว่า realme XT มาพร้อมกับเทคโนโลยี HyperBoost 2.0 ที่สามารถลดค่า Latency ได้สูงสุดถึง 73.7% เพิ่มความเร็วในการเล่นเกมมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี HyperBoost 2.0 นั้นประกอบไปด้วย
- FrameBoost : ทำให้เฟรมเรทมีความเสถียรมากขึ้น
- TouchBoost : ทำให้การตอบสนองต่อการสัมผัสไวขึ้น
- Gameboost : ช่วยรีดประสิทธิภาพและความเร็วในการเล่นเกมให้ดียิ่งขึ้น
และเสริมทัพด้วยซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเล่นเกมอย่าง Game Space ให้สามารถเล่นเกมได้ดีขึ้น ทำหน้าที่จัดสรรพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมและป้องกันการรบกวนจากสายโทรเข้าและการแจ้งเตือนต่าง ๆ ขณะเล่นเกม ทำให้เล่นเกมได้อย่างลื่นไหลและมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของประสิทธิภาพนั้นจะสามารถตั้งค่าได้ 3 แบบ คือ
- Competitive Mode เพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกม เฟรมเรท และการตอบสนอง แต่แลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากขึ้น
- Balanced Mode ช่วยบาลานซ์ระหว่างประสิทธิภาพในการเล่นเกมกับแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพในการเล่นเกมจะน้อยกว่าแบบแรก แต่แบตเตอรี่จะหมดช้ากว่า
- Low Power Consumption Mode ปรับกราฟิกในเกมให้ต่ำลงเพื่อประหยัดพลังงานให้เล่นเกมได้ยาวนานขึ้น
นอกจากด้านประสิทธิภาพแล้ว Game Space ยังสามารถตั้งค่าโหมดห้ามรบกวน ป้องกันการโทรเข้าและการแสดงป๊อปอัปแจ้งเตือนขณะเล่นเกม, ล็อคแสงหน้าจอไม่ให้ปรับขึ้น-ลงอัตโนมัติ, ลดการทำงานของแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์เล่นเกมที่ลื่นไหล และลดความหน่วงของสัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยจำกัดการทำงานของแอปพลิเคชันที่รันอยู่เบื้องหลัง
นอกจากสเปคที่ให้มาแบบจัดหนักและซอฟต์แวร์ที่เสริมในส่วนของประสิทธิภาพการเล่นเกมแล้วนั้น ระบบระบายความร้อนก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กัน เพราะระบบระบายความร้อนของ realme XT นั้นทาง realme เคลมว่าช่วยให้เครื่องเย็นขึ้น 14% ขณะเล่นเกม ซึ่งจากที่ลองมานั้นก็ไม่ร้อนจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะเล่น PUBG Mobile ไปนาน ๆ ติดต่อกันหลายตา
ColorOS 6 ใช้งานได้ลื่นไหล แถมอัดแน่นด้วยฟีเจอร์ดี ๆ
พูดถึงซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเล่นเกมไปแล้วก็มาพูดถึงซอฟต์แวร์หลักและฟีเจอร์อื่น ๆ บ้าง realme XT มาพร้อมกับ ColorOS 6 ที่มีพื้นฐานมาจาก Android 9 Pie
หน้าตา UI ของ ColorOS 6 บน realme XT
สำหรับฟีเจอร์เด่น ๆ ของ ColorOS 6 นั้นก็จะมี
Smart Services
Smart Services จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ Smart Driving และ Smart Assistant
Smart Driving จะช่วยป้องกันการโทรเข้าและแจ้งเตือนต่าง ๆ เวลาขับขี่ยานพาหนะอย่างรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และจักรยาน
Smart Assistant ที่จะโชว์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในหน้าซ้ายสุดของ Home Screen อย่างเช่น วันที่, สภาพอากาศ, เบอร์ติดต่อที่ตั้งเป็น Favorite, จำนวนก้าวในการเดิน, ฯลฯ
Convenience Aid
ในส่วนของ Convenience Aid จะเป็นการปรับแต่งการควบคุมเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปุ่ม Power, Navigation Keys, การใช้การเคลื่อนไหวและท่าทางต่าง ๆ และการสร้าง Shortcut เพื่อเรียกใช้งานแอปพลิเคชันและเครื่องมือต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว สามารถทำอะไรได้บ้างนั้นมาดูกันเลย
กดปุ่ม Power ค้างไว้ 0.5 วินาทีเพื่อเรียกใช้งาน Google Assistant
Navigations Keys ปรับแต่งปุ่มนำทางของเครื่อง มีให้เลือกหลายแบบตามความถนัดและความเคยชิน ไม่ว่าจะชอบแบบไหนหรือย้ายมาจากแบรนด์อื่น ๆ มาใช้ realme XT ก็สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องปรับตัวมาก
- Swipe Gestures from Both Sides ใช้งานโดยการปัดจากขอบด้านซ้ายหรือด้านขวาเพื่อทำการกลับไปยังหน้าก่อนหน้า, ปัดจากด้านล่างสุดขึ้นไปข้างบนเพื่อกลับมาหน้า Home Screen, ลากจากด้านล่างขึ้นมาและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks และลากจากขอบด้านซ้ายหรือขวาเข้ามาให้เลยกึ่งกลางของหน้าจอและค้างเอาไว้เพื่อสลับไปยังแอปพลิเคชันที่ใช้งานก่อนหน้า
- Swipe-up Gestures มีให้เลือกใช้งานได้ 4 แบบ ได้แก่
- Back at Both Sides ปัดขึ้นจากขอบล่างทั้งฝั่งซ้ายและขวาเพื่อกลับไปยังหน้าก่อนหน้า, ปัดขึ้นจากด้านล่างตรงกลางเพื่อไปหน้า Home Screen และลากขึ้นจากด้านล่างตรงกลางและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks
- Simple Gestures ปัดขึ้นจากด้านล่างตรงกลางเพื่อไปหน้า Home Screen และลากขึ้นจากด้านล่างตรงกลางและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks (ใช้การกดกลับจากในปุ่มของแอปพลิเคชันเท่านั้น)
- Back on the Right ปัดขึ้นจากขอบด้านล่างซ้ายเพื่อดู Recent Tasks, ปัดขึ้นจากตรงกลางเพื่อมายังหน้า Home Screen และปัดขึ้นจากด้านขวาเพื่อกลับ
- Back on the Left ปัดขึ้นจากขอบด้านล่างซ้ายเพื่อกลับ, ปัดขึ้นจากตรงกลางเพื่อมายังหน้า Home Screen และปัดขึ้นจากด้านขวาเพื่อดู Recent Tasks
- Virtual Keys ใช้ปุ่มเสมือนในการนำทางแบบ Android รุ่นก่อน ๆ รวมไปถึงแถบนำทางในรูปแบบเดียวกับของ Pixel Android ตอน Android 9 Pie
Gesture & Motion ต้องบอกเลยว่านี่คือจุดเด่นของ ColorOS ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสามารถของสิ่งนี้ก็คือการวาดหรือทำท่าทางต่าง ๆ ลงบนหน้าจอขณะปิดอยู่เพื่อเป็นคีย์ลัดในการทำงาน โดยที่เครื่องตั้งค่ามาให้ในเบื้องต้นก็คือ
- กด 2 ทีบนจอเพื่อให้หน้าจอติด
- วาดรูปตัว O เพื่อเปิดกล้อง
- วาดรูปตัว V เพื่อเปิดแฟลช
- วาด || ลงบนจอเพื่อหยุดหรือเล่นเพลง
- วาด < กับ > เพื่อเปลี่ยนเพลง
เวลาวาดตอนหน้าจอดับก็จะมีเส้นสีฟ้า ๆ โผล่ขึ้นมาตามนิ้วที่เราลาก
หรือถ้ายังไม่จุใจก็สามารถตั้ง Gesture เพิ่มเติมได้โดยเลือกท่าทางในรูปด้านล่างแล้วเลือกว่าจะให้ปลดล็อกเครื่อง, โทรหารายชื่อที่ต้องการ หรือเปิดแอปพลิเคชันที่ตั้งเอาไว้
ในส่วนของ Smart Call นั้น จะมีฟีเจอร์ 3 อย่าง ได้แก่
- รับสายอัตโนมัติเมื่อหยิบสมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้หู
- สลับโหมดจากเปิดลำโพงสนทนาเป็นลำโพงสนทนาแบบปกติเมื่อหยิบสมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้หู
- คว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียงสายเรียกเข้า
และยังมีการตั้งคาอีก 2 อย่าง คือหยิบเครื่องแล้วหน้าจอติดอัตโนมัติและลากนิ้ว 3 นิ้วลงบนหน้าจอเพื่อแคปภาพหน้าจอ ซึ่งเป็นอะไรที่สะดวกมาก เหมาะกับสายแคปสุด ๆ
Clone Apps
เอาไว้ใช้สร้างแอปพลิเคชันจำพวกโซเชียลมีเดียหรือสำหรับแชทซ้ำขึ้นมาอีก 1 อัน
โดยเงื่อนไขและข้อจำกัดของ Clone Apps ก็คือ
- แอปพลิเคชันต้นฉบับกับอันที่โดน Clone ขึ้นมาจะไม่ส่งผลต่อกัน
- โทรศัพท์และแอปพลิเคชันต้องรองรับกันและกัน
- แอปพลิเคชันที่ถูก Clone ขึ้นมาไม่สามารถถ่ายโอนข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ได้
- ไม่สามารถ Clone แอปพลิเคชันได้เกิน 2 แอปพลิเคชันต่อ 1 เครื่อง
App Split-screen
สำหรับฟีเจอร์นี้จะเอาไว้ใช้งานแอปพลิเคชัน 2 หน้าจอในเวลาเดียวกัน ซึ่งการใช้งาน App Split-screen นั้นสามารถเปิดได้ทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่
- ลากนิ้ว 3 นิ้วบนจอขึ้นไปทางขอบจอด้านบน
- ถ้าหากใช้ Virtual Keys ให้กดปุ่ม Multi-task ค้างเอาไว้
- ถ้าหากใช้ Swipe-up Gestures ให้เข้าหน้า Recent Tasks และกดตรง Hamburger button (ขีด 3 ขีด) และเลือก Split-screen
- ถ้าหากใช้งานแนวนอนอยู่แล้วมีแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งาน App Split-screen เข้ามา สามารถกดตรง Split-screen Reply เพื่อเข้าสู่ Split-screen mode โดยในการใช้งานแนวนอนหน้าจอจะแบ่งออกเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
และสิ่งสำคัญที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามไปอย่างฟีเจอร์ Security ที่จะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยต่าง ๆ ของเครื่อง เช่น การอนุญาตให้แอปเข้าถึงฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในเครื่อง, ค้นหาเครื่องที่สูญหาย, ปกป้องแอปที่ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินและยังมีการป้องกันการคุกคามผ่านทางโทรศัพท์และข้อความอีกด้วย รวมทั้งการโทรเข้าจากหมายเลขปลอม และยังมี Payment Protection เพื่อให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินบนสมาร์ทโฟนได้อย่างสบายใจ ซึ่งแอปพลิเคชันไหนที่ผูกบัตรเครดิตไว้จะถูกป้องกันด้วย Payment Protection อัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวอีก 3 อย่าง ได้แก่
- App Encryption สำหรับล็อคและซ่อนแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งเวลาเข้าใช้งานจะต้องใส่รหัส, ปลดล็อคด้วยลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า และจะไม่โชว์รายละเอียดของแอปพลิเคชันที่ถูกล็อกในหน้าการแจ้งเตือนด้วย
- Kid Space สร้างมาเพื่อให้เด็กใช้งาน สามารถกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน, กำหนดแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้, ปิดการใช้งาน Cellular ,ป้องกันการกดซื้อแอปพลิเคชันหรือไอเทมในเกม, ป้องกันการติดตั้งหรือลบแอปพลิเคชัน และป้องกันการแก้ไขหรือตั้งค่าต่าง ๆ ของตัวระบบ ซึ่งหากจะออกจาก Kid Space นั้นต้องให้ผู้ปกครองหรือคนที่รู้รหัสผ่าน (หรือมีลายนิ้วมือและใบหน้าที่ถูกจดจำเอาไว้ในเครื่อง) ออกจากโหมดนี้ให้
- Private Safe สำหรับเก็บไฟล์ต่าง ๆ ที่เป็นความลับหรือไฟล์ที่ไม่อยากให้คนที่เอาเครื่องของเราไปใช้งานเห็น สามารถเข้าถึงได้โดยการใส่รหัส ลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า และป้องกันการแคปภาพของสิ่งที่อยู่ใน Private Safe อีกด้วย
กล้องหลัง 4 ตัว กล้องหลัก 64 ล้านพิกเซล เสริมทัพด้วยกล้อง Ultra-wide, Depth และ Macro
ช่วงนี้ realme จัดกล้องหลัง 4 ตัวมาให้กับสมาร์ทโฟนของตัวเองรัว ๆ แน่นอนว่า realme XT นั้นก็มาพร้อมกับกล้องหลัง 4 ตัวเช่นเดียวกันกับ realme 5 และ realme 5 Pro แต่ความพิเศษกว่านั้นคือกล้องหลักนั้นมาพร้อมกับความละเอียดที่สูงถึง 64 ล้านพิกเซลเลยทีเดียว
สำหรับกล้องที่มีด้วยกันทั้งหมด 4 ตัวนั้นจะเรียงเป็นแถวยาวจากบนลงล่าง กล้องตัวบนสุดที่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบนั้นจะเป็นกล้อง Ultra-wide (ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.25 ความกว้าง 119 องศา) ส่วนกล้องตัวที่ 2 จากด้านบนนั้นจะเป็นกล้องหลัก (ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.8) ส่วนกล้อง 2 ตัวที่เหลือจะเป็นกล้องสำหรับถ่ายภาพ Portrait (ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.4) และกล้องสำหรับถ่ายภาพ Macro (ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.4)
สเปคกล้องโหดขนาดนี้ต้องลองโจทย์ยากสักหน่อยกับการถ่ายแมว แมวจัดว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถ่ายรูปได้ยากมาก เพราะเคลื่อนไหวแทบจะตลอดเวลาที่กำลังตื่นอยู่ (โดยเฉพาะเวลาที่รู้ตัวว่ากำลังโดนถ่ายรูป) แถมเส้นขนนั้นละเอียดมาก กล้องไม่เจ๋งจริงถ่ายออกมาเละแน่นอน
ซึ่งภาพที่ได้ก็จัดว่าน่าประทับใจเลย พอกล้องเห็นว่าเป็นแมว AI ก็ทำงานทันที ภาพไม่เบลอ รายละเอียดขนค่อนข้างดี ถือว่าผ่าน
ลองซูมไป 2 เท่าก็ถือว่ายังรับได้แม้ว่ารายละเอียดจะหายไปบ้าง
ในหน้าหลักของกล้องนั้นจะมี 2 โหมดที่น่าสนใจคือ Chroma Boost ที่ช่วยเร่งสีให้สดใสขึ้น กับโหมด Ultra-wide สำหรับถ่ายภาพแบบมุมกว้างที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการกดไอคอนสี่เหลี่ยมพื้นผ้าที่โค้งเว้าเข้าสู่ด้านใน
สำหรับโหมด Chroma Boost นั้นแนะนำให้ใช้ถ่ายพวกสิ่งของที่มีสีสันออกสีแดงและเหลืองได้ แต่ไม่แนะนำให้ถ่ายคนหรือพวกต้นไม้ใบหญ้าเพราะสีจะออกมาแปลกตาไปจากความเป็นจริงมากพอสมควร
เปรียบเทียบระหว่างเปิดและปิด Chroma Boost
ในส่วนเลนส์ Ultra-wide ของ realme XT นั้นทำออกมาได้ดีกว่า realme 5 Pro แบบชัดเจน เพราะสีสันนั้นไม่ออกโทนฟ้ามากเกินไปแล้ว ซึ่งสีสันของกล้อง Ultra-wide บน realme XT นั้นเรียกได้ว่าแทบไม่ต่างกับกล้องหลักเลย
ภาพด้านซ้ายถ่ายด้วยเลนส์หลัก ด้านขวาถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง
การถ่ายภาพ Portrait นั้นก็ถือว่าเบลอพื้นหลังได้ดีและตัดขอบของคนได้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว
ในส่วนของการถ่ายภาพ Macro นั้นยังคงทำได้ดีเช่นเคย แค่จ่อเข้าไปใกล้ ๆ วัตถุก็จะเข้าโหมด Macro ให้เลยโดยที่ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่ม
แต่ถ้าคิดว่ายังใกล้ไม่พอก็สามารถซูมเพิ่มเป็น 2 เท่าในโหมดนี้ได้ ซึ่งจากที่ลองถ่ายหลาย ๆ ช็อตมานั้นพบว่าถ้าใช้ระยะซูมเป็น 2X เวลาถ่ายจะให้ภาพที่สวยมาก ดูใกล้กับตัววัตถุแบบจริง ๆ และเบลอพื้นหลังได้สวยงาม
ตัวอย่างภาพถ่าย Macro
สำหรับโหมดที่น่าสนใจก็จะมี Ultra 64 MP และ Nightscape
โหมด Ultra 64 MP เป็นโหมดที่ถ่ายภาพออกมาที่ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล (ถ้าถ่ายด้วยโหมดปกติความละเอียดภาพจะอยู่ที่ 16 ล้านพิกเซล) ภาพที่ได้จะคมชัดและเก็บรายละเอียดได้เยอะมากในกรณีที่แสงสว่างเพียงพอ
Resolution ของภาพจะอยู่ที่ 9216 x 6912 Pixels (โหมดปกติจะอยู่ที่ 4608 × 3456 Pixels) ขนาดไฟล์ประมาณ 12-16 MB
เนื่องจากอัปรูปเต็มความละเอียดไม่ได้ ขอขยายให้ดูกันแบบชัด ๆ ไปเลย
ส่วนโหมด Nightscape คือโหมดถ่ายในที่แสงน้อย เวลาถ่ายจะเปิดหน้ากล้องนานกว่าปกติและครอบภาพเข้าไปเล็กน้อยเพื่อป้องกันภาพสั่นไหว สำหรับ realme XT นั้นเวลาถ่ายในที่แสงน้อยโหมดปกติก็จะปรับความสว่างของภาพขึ้นมาระดับนึงแล้ว เมื่อใช้โหมด Nightscape นั้นภาพที่ได้ก็จะช่วยดึงแสงและสีสันในส่วนที่มืดขึ้นมาให้ดีได้อีกในระดับนึง
ภาพด้านซ้ายถ่ายด้วยโหมดปกติ ด้านขวาถ่ายด้วยโหมด Nightscape
กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อม AI Beauty
สำหรับกล้องหน้านั้นก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือโหมด Beauty ที่ปรับแต่งใบหน้าได้แทบทุกส่วน แต่ถ้าใครมั่นใจในเบ้าหน้าของตัวเองและไม่ชอบกล้องฟรุ้งฟริ้งก็สามารถเลือกปรับแบบ Natural ที่ถ่ายออกมาได้แบบสมจริงไร้การปรับแต่งใด ๆ
ลองมาดูแบบเทียบกันหน่อย ระหว่างแต่งแบบจัดเต็มกับแบบไม่ปรับแต่งอะไรเลย
นอกจากนี้กล้องหน้ายังมีโหมด Portrait สำหรับถ่ายหน้าชัดหลังเบลอด้วย ทำได้ดีไม่แพ้กล้องหลังเลยทีเดียว แถมยังสามารถทำงานร่วมกับโหมด Beauty ได้อีกด้วย
แบตเตอรี่ 4000 mAh ใช้งานได้ยาวนาน แต่ชาร์จไม่นานด้วย VOOC Flash Charging 3.0
realme XT มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 4000 mAh พร้อมระบบชาร์จเร็ว VOOC Flash Charge 3.0 กำลังไฟ 20W
พอร์ตชาร์จเป็นแบบ Type-C ด้วย ดีงามมาก
จากที่ลองใช้งานทั่ว ๆ ไปก็พบว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ครบวันแบบสบาย ๆ ครับ และต้องบอกเลยว่าแบตเตอรี่ทนมากจริง ๆ เพราะตอนจะจับเวลาชาร์จแบตนั้นใช้วิธีเปิดเกม PUBG Mobile ในโหมด Training ทิ้งเอาไว้พร้อมกับเปิดภาพยนตร์ใน Netflix แบบย่อจอไว้ด้วยขณะปล่อยให้ตัวละครวิ่งเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็นานเอาเรื่องเหมือนกันกว่าระดับแบตเตอรี่จะลดจาก 38% ลงมาเหลือ 5% (ใช้เวลา 2 ถึงเกือบ 3 ชั่วโมง เพราะเริ่มผลาญแบตเตอรี่ตั้งแต่ประมาณช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ ใช้เวลาในโหมด Training จนหมดไปถึง 3 รอบก็กินเวลาไปแล้วชั่วโมงครึ่ง และหลังจากนั้นก็เปิดแต่ภาพยนตร์อย่างเดียวโดยเปิดแสงจอแบบเร่งสุดค้างไว้ก่อนที่จะเริ่มชาร์จแบตตอน 21:48 น. ตามภาพ) ซึ่งตอนลองใช้งานเพื่อให้แบตเตอรี่ลดแบบหนักหน่วงเครื่องก็ไม่ได้ร้อนอะไรมาก อุณหภูมิแบตเตอรี่อยู่ที่ 34 องศาเซลเซียสซึ่งก็ถือว่าโอเคเลย
มาเริ่มจับเวลากันเลยดีกว่า ว่าชาร์จจาก 5% ไปจนถึงเต็มใช้เวลานานแค่ไหน
เสียบสายชาร์จกันเลย!
ผ่านไป 34 นาที แบตเตอรี่ขึ้นมาเป็น 51% ก็ถือว่าน้อยกว่าที่เคลมไว้ว่าชาร์จ 30 นาทีได้แบตเตอรี่ 55% อยู่ในระดับนึง แต่ก็อยู่ในจุดที่รับได้
ผ่านไป 1 ชั่วโมง ขึ้นมาเป็น 84% แล้ว ไวมาก
และแล้วก็เต็ม 100% ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที 8 วินาที
นับว่าทำได้ดีเลย สำหรับระยะเวลาเท่านี้กับแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh
สรุป realme XT เป็นสมาร์ทโฟนที่น่าโดนมาก รอให้เปิดราคาออกมาไว ๆ เลย
realme XT จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ครบเครื่องมากเมื่อเทียบกับรุ่นที่มีสเปคในระดับใกล้เคียงกัน โดนเด่นในด้านสเปคที่เพียงพอต่อการใช้งานทั้งเบาแหละหนัก หน้าจอที่มีสีสันสวยงามแต่ไม่จัดจ้านจนเกินไปและสแกนนิ้วในหน้าจอได้ กล้องที่จัดว่าค่อนข้างครบเครื่องและมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากรุ่นก่อน ๆ หน้า แบตเตอรี่ที่ทนทานต่อการใช้งานหนัก ๆ และชาร์จได้ไว แถมยังเอาใจใส่ในด้านดีไซน์อีกด้วย