รีวิว Joker | หนังเล่นกับประเด็นที่สามารถสะกิดปมในใจของใครหลายคนได้ง่ายๆ (8.5/10)
หลังจากภาพยนตร์ชุด The Dark Knight จบลง ทางฝั่ง DC ก็ได้ยึดความมืดหม่นเป็นบรรทัดฐานในการสร้างจักรวาลหนังฮีโร่ของตนเสมอมา แต่ดูจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง Marvel ทาง DC จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนใหม่จากการพยายามสร้างจักรวาลฮีโร่อย่างรวดเร็วมาเป็นการสร้างหนังเดี่ยวของฮีโร่แต่ละตัวแทน และรอบนี้ทาง DC ไม่ได้จำกัดอารมณ์หนังเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดูดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Aquaman สีสีนฉูดฉาด จนถึง Shazam ที่ทำออกมาเป็นหนังครอบครัวก็กวาดทั้งรายได้และคำวิจารณ์ในแง่บวกไปครอง และก็ถึงเวลาที่ DC จะทำการทดลองครั้งใหม่ คือการสร้างหนังเดี่ยวให้วายร้ายสุดโด่งดังของแบทแมนอย่างโจ๊กเกอร์ในเวอร์ชันสุดหม่น และไม่แคร์เรื่องการรวมจักรวาลแต่อย่างใด
สำหรับโจ๊กเกอร์เวอร์ชันนี้คือชายหนุ่มนาม Arther Fleck นักแสดงตลกตกอับที่มีปัญหาทางจิต “หัวเราะโดยไม่สัมพันธ์กับอารมณ์” เมื่อเขาเจอการบีบคั้นทางอารมณ์จากทั้งสังคมและคนรอบข้าง จนถึงจุดๆ หนึ่ง เขาจึงกลายเป็นโจ๊กเกอร์
ตอนที่เห็นหลายคนเล่าว่าดูแล้วรู้สึกกดดัน เครียดจนหายใจไม่ออก เมื่อดูเองก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้นกัน (แต่ส่วนตัวตอนดูก็ไม่ได้รู้สึกอะไรอย่างที่ว่ามาเพราะไม่ได้มีภาวะเครียดหรือมีปมอะไรในใจ) เพราะเนื้อเรื่องนั้นเล่าถึงความไม่ยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอกของเรื่อง ซึ่งถ้ามันจะส่งผลกระทบกับผู้ชมที่มีปมในใจคล้ายๆ ตัวเอกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามองให้กว้างกว่านั้นจะพบว่าหลายๆ ปัญหามันเป็นเรื่องเลวร้ายที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วย ซึ่งหนังเองก็ได้บอกเล่าถึงประเด็นนี้เป็นระยะๆ มันคือหนังที่เล่นประเด็นเกี่ยวกับจิตวิทยาผสมการเมือง และมันดันสัมพันธ์กับสภาพสังคมและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันซะเหลือเกิน ตัวหนังยังเปิดให้เราได้คิดไตร่ตรองและตัดสินใจเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการตัดสินว่าใครผิดใครถูก
นอกจากเนื้อเรื่องแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จสุดๆ คือการแสดงของ Joaquin Phoenix (อ่านว่า วาคีน ฟินิกส์) ที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเสียงหัวเราะปนขมขื่นและน่าสะพรึงกลัวที่เขาได้สรรค์สร้างและออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเขาจะได้เข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบทบาทนี้แน่นอน อีกส่วนคือดนตรีประกอบที่ใช้เสียงได้ชวนอึดอัดและป่วนประสาทคนดูเหมือนไปนั่งอยู่ในจิตใจของโจ๊กเกอร์ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน มันเลยออกมาเป็นความบ้าคลั่งอันสวยงาม
สรุปคือหนังโจ๊กเกอร์เรื่องนี้เป็นการตีโจทย์ใหม่ให้โจ๊กเกอร์มีความเป็นคนมากขึ้น เล่นกับประเด็นที่สามารถเข้าไปสะกิดปมในใจของใครหลายๆ คนได้ง่ายๆ สอดประเด็นเกี่ยวกับสภาพสังคมและการเมืองเข้าไปด้วย ผสมผสานกับการแสดงของ Joaquin Phoenix และดนตรีประกอบทำให้โจ๊กเกอร์ตัวนี้มีชีวิตเป็นของตัวเองอย่างสมภาคภูมิ
แต่ถ้าถามว่าชอบโจ๊กเกอร์เวอร์ชันไหนที่สุด ยังชอบโจ๊กเกอร์เวอร์ชัน Heath Ledger จาก The Dark Knight มากกว่า เป็นโจ๊กเกอร์เวอร์ชันที่ดูบ้าและสมกับเป็นวายร้ายอันดับหนึ่งของแบทแมน ส่วนโจ๊กเกอร์เวอร์ชันนี้ดูเป็นโจ๊กเกอร์ที่เต็มไปด้วยความปวกเปียกและไร้พลัง ใช้ความสงสารเป็นแรงขับเคลื่อน
เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบแนะนำให้หาหนังเรื่อง Taxi Driver มาดูต่อ เพราะหลายๆ ฉากใน Joker อ้างอิงมาจาก Taxi Driver อย่างชัดเจน ซึ่งผู้แสดงนำใน Taxi Driver ก็ไมใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือ Robert De Niro ที่รับบทเป็น Murray Franklin พิธีกรรายการโชว์นั่นเอง
อีหเรื่องที่อยากแนะนำให้ดูคือซีรีส์ Mindhunter ที่พาคุณไปสัมภาษณ์ฆาตกรต่อเนื่อง การดู Joker ก็เหมือนการไปสัมภาษณ์ฆาตกรคนหนึ่งในซีรีส์นี้เลย
สุดท้าย แอบขัดใจกับซับไตเติลภาษาไทยที่ไม่สามารถถ่ายทอดข้อความเด็ดในเรื่องออกมาเป็นภาษาไทยได้ “I hope my death will make more cents than my life” สำหรับประโยคนี้เล่นกับคำว่า Cents ที่เป็นสกุลเงิน มีความหมายแทนเงิน และคำว่า Sense ที่มีควาหมายว่าสมเหตุสมผล โดยสองคำนี้ออกเสียงคล้ายๆ กัน เป็นมุกตลกสุดหดหู่ที่แผลงจากประโยค “ฉันหวังว่าความตายของฉันจะสมเหตุสมผลมากกว่าตอนมีชีวิต” เป็น “ฉันหวังว่าความตายของฉันจะสร้างเม็ดเงินให้มากกว่าตอนมีชีวิต”