รีวิว ASUS ZenBook Duo นวัตกรรมโน้ตบุ๊ค 2 หน้าจอ กับ Intel Core i Gen 10 ในราคาที่จับต้องได้
ASUS ZenBook Duo จัดว่าเป็นรุ่นที่สร้างสีสันให้กับวงการโน้ตบุ๊คในรอบหลายปี ด้วยราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 34,990 บาท แต่ได้นวัตกรรม 2 หน้าจอ กับ Intel Core i Gen 10 รุ่นล่าสุด แรม 16GB กับ SSD 512GB และการ์ดจอ GeForce MX250 ที่เรียกได้ว่าคุ้มเกินราคามาก
ASUS ZenBook Duo มีวางขายทั้งหมด 4 ราคาดังนี้
- ZenBook Duo (UX481) ซีพียู 10th Generation Intel Core i7-10510U, LPDDR3 16GB, SSD 1TB, GeForce MX250, Windows 10 Pro ราคา 44,990 บาท
- ZenBook Duo (UX481) ซีพียู 10th Generation Intel Core i7-10510U, LPDDR3 16GB, SSD 1TB, GeForce MX250, Windows 10 ราคา 39,990 บาท
- ZenBook Duo (UX481) ซีพียู 10th Generation Intel Core i5-10210U, LPDDR3 16GB, SSD 512GB, GeForce MX250, Windows 10 Pro ราคา 39,990 บาท
- ZenBook Duo (UX481) ซีพียู 10th Generation Intel Core i5-10210U, LPDDR3 16GB, SSD 512GB, GeForce MX250, Windows 10 ราคา 34,990 บาท
โดยรุ่นที่เรานำมารีวิวเป็นรุ่นราคาถูกสุดคือ Intel Core i5 Generation 10th กับ Windows 10 ในราคา 34,990 บาท
สวยหรูโดดเด่นและทนทาน
ASUS ZenBook Duo มีการดีไซน์และใช้วัสดุระดับ Military Grade ที่มีความทนทานกว่าปรกติ ด้านขอบรอบตัวเครื่องมีการออกแบบที่โฉบเชี่ยวมีสไตล์ ทำให้ดูสวยและไม่แข็งทื่อ
ใต้ตัวเครื่องมียางรองที่ลากยาวขนาดกับตัวเครื่องทั้งด้านหน้าและหลัง ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้ทำให้การจัดวางบนโต๊ะทำได้ง่ายกว่าการที่มียางเฉพาะที่มุม ส่วนตรงกลางเป็นช่องสำหรับระบายความร้อน ที่มุมทั้ง 2 ด้านเป็นตำแหน่งของลำโพงที่ทีม ASUS Golden Ear และ harman/kardon ร่วมกันปรับจูนเสียงให้ออกมาน่าฟัง
เมื่อเปิดฝาเครื่องทำได้ค่อนข้างง่าย แต่ก็ต้องใช้ 2 มือในการช่วยเปิด เพราะการดึงฝาเครื่องขึ้นมาก็จะทำให้ตัวเครื่องลอยตามมาด้วย และเมื่อเปิดฝาเครื่องเข้าสู่ตำแหน่งที่พร้อมใช้งาน ก็จะพบว่าตัวเครื่องถูกยกลอยขึ้นจากพื้นโต๊ะ ซึ่งเป็นการออกแบบบานพับในชื่อ ErgoLift ที่นอกจากจะช่วยทำให้มีช่องว่างใต้เครื่องเพื่อให้อากาศไหลเวียนและลดความร้อนของเครื่องได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้องศาของแป้นพิมพ์และหน้าจออยู่ในระดับที่ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์ด้วย
หน้าจอที่สวยงามและสีสันเที่ยงตรงตามมาตรฐาน PANTONE Validated Display
เมื่อเปิดฝาเครื่องขึ้นก็จะพบกับหน้าจอ 2 ตำแหน่ง โดยหน้าจอหลักเป็นแบบ NanoEdge ที่มีอัตราส่วนหน้าจอต่อตัวเครื่อง 90% ซึ่งถือว่าขอบจอบางมาก เพราะบางรุ่นจะมีขอบบางเฉพาะด้านข้าง แต่สำหรับ ASUS รุ่นนี้เป็นขอบบางทั้ง 4 ด้านแบบ
หน้าจอมีขนาด 14 นิ้ว อัตราส่วน 16:9 และยังสวยงามด้วยความละเอียด FHD บนพาแนล IPS กับความเที่ยงตรงของสีระดับ sRGB100% และผ่านมาตรฐานของ PANTONE Validated Display ที่ให้สีสันเที่ยงตรง เหมาะกับการทำงานที่เกี่ยวกับสีสัน รวมถึงการใช้งานด้านความบันเทิง พร้อมกับ Anti-Glare ที่ลดแสงสะท้อนบนหน้าจอ
ScreenPad Plus หน้าจอที่ 2 แบบสัมผัส
จุดขายของรุ่นนี้ก็คือหน้าจอที่ 2 ที่อยู่ถัดจากแป้นพิมพ์ขึ้นไป โดยหน้าจอนี้จะมีขนาด 12.6 นิ้วกับอัตราส่วน 32:9 และเป็นหน้าจอแบบสัมผัส รองรับการสั่งงานด้วยปลายนิ้วและปากกาที่มีมาให้ในกล่อง
ประสบการใช้งานหน้าจอ ScreenPad Plus ถือว่าแปลกใหม่และน่าสนใจมาก เพราะเราสามารถโยกสลับโปรแกรมที่อยู่บนหน้าจอหลักและหน้าจอ ScreenPad Plus ได้ง่าย โดยกดปุ่มลัดที่แป้นพิมพ์
หรือใช้วิธีคลิกหน้าต่างโปรแกรมที่ต้องการแล้วจะเห็น Shortcut ให้เลือกว่าต้องการย้ายหน้าต่างมาไว้ที่ ScreenPad Plus หรือยืดขยายโปรแกรมให้ยาวล้นหน้าจอหลักไปถึง ScreenPad Plus
โดย ScreenPad Plus ก็มีแผงควบคุมพิเศษสำหรับเก็บทางลัดเข้าโปรแกรมต่างๆ รวมถึงสามารถบันทึก Layout การจัดวางหน้าต่างโปรแกรมได้มากถึง 4 แบบ เช่น เปิดเว็บที่หน้าจอหลักแล้วเปิดเพลงพร้อมกับไลน์ที่ ScreenPad Plus ซึ่งเราสามารถจัด Layout และบันทึกรูปแบบได้พร้อมกับถึง 5 หน้าต่าง โดยแบ่งเป็นหน้าจอหลัก 2 หน้าต่าง และหน้าจอบน ScreenPad Plus อีก 3 หน้าต่าง
หน้าจอที่ 2 นี้นอกจากจะช่วยให้เปิดโปรแกรมพร้อมกันได้หลายอย่างแล้ว ยังทำให้เราสามารถควบคุมสั่งงานด้วยประสบการณ์แบบใหม่ เช่น เราสามารถเปิดไฟล์เอกสารให้เต็มหน้าจอ แล้วใช้ปากกาเซ็นที่หน้าจอนี้ หรือเปิด Adobe Premiere Pro แล้วให้ ScreenPad Plus แสดงส่วนของ Footage ซึ่งเราสามารถใช้นิ้วเลื่อนได้ง่าย
แป้นพิมพ์และทัชแพคในขนาดที่ไม่คุ้นเคย
การใส่หน้าจอ ScreenPad Plus เข้ามา ทำให้พื้นที่ในการวางแป้นพิมพ์และทัชแพดลดลง ส่งผลให้แป้นพิมพ์มีระยะห่างระหว่างปุ่มที่ไม่คุ้นมือนัก โดยเฉพาะคนที่พิมพ์สัมผัสจะพบว่ากดพลาดบ่อยมาก นอกจากนี้ปุ่ม Arrow Key ยังวางแทรกข้างปุ่ม Right Shift อีกด้วย ทำให้การกด Shift พลาดเป็นกด Up บ่อยมาก
นอกจากนี้ทัชแพดถูกออกแบบให้มีแนวตั้ง ซึ่งขัดแย้งกับหน้าจอที่เป็นแนวนอน ทำให้การเลื่อนนิ้วทำได้ไม่สุดจอก็ชนขอบทัชแพดก่อน แต่ยังดีที่มีปุ่มคลิกซ้ายและขวามาให้ ช่วยให้การ Drag ทำได้ง่ายขึ้นบ้าง
แต่ทั้งนี้มันจะไม่ใช่ปัญหาเลยถ้าคุณเป็นคนพิมพ์แบบจิ้ม และพกเมาส์แยกต่างหาก หรือไม่ก็ต้องใช้ไปสักระยะจนปรับตัวได้
แม้ว่าแป้นพิมพ์และทัชแพดจะขัดใจเล็กน้อย แต่ข้อดีของปากกาและการสั่งงานผ่าน ScreenPad Plus ก็ทำให้การป้อนข้อมูลยังมีจุดน่าสนใจอยู่
สเปคคุ้มค่ากับเทคโนโลยีล่าสุด
แม้ว่า ASUS ZenBook Duo จะมีวางขายทั้งหมด 4 รุ่น แต่ถ้านับจริงๆ จะมีสเปค 2 รุ่นเท่านั้น โดยอีก 2 รุ่นที่เพิ่มขึ้นมาคือการใช้ Windows 10 Pro ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
สเปคที่ให้มาจัดว่าโดดเด่นด้วย CPU Intel Core i Generation 10th ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด โดยรุ่น Intel Core i5-10210U และ Intel Core i7-10510U เป็นแบบ 4 core 8 thread ทั้งคู่ ส่วนแรมเป็นแบบ LPDDR3 ความจุ 16GB ที่ถือว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป
หน่วยความจำภายในแบบ SSD 512GB มีความเร็วทีจัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนการ์ดจอก็เลือกใช้ GeForce MX250 กับ VRAM 2GB ที่เพียงพอสำหรับการใช้งานรวมถึงการตกแต่งภาพและตัดต่อทั่วไป สามารถเล่นเกมได้ระดับหนึ่ง
กล้องเป็นแบบ IR CAMERA ที่สามารถใช้ร่วมกับ Windows Hello เพื่อปลดล็อกตัวเครื่องด้วยการสแกนใบหน้าได้ ส่วนพอร์ตการเชื่อมต่อประกอบด้วย
- microSD Card Reader
- Audio Combo Jack 3.5 mm.
- USB 3.1 Gen 1
- USB 3.1 Gen 2
- USB-C
- HDMI
การชาร์จตัวเครื่องต้องใช้สายชาร์จต่างหาก ไม่สามารถชาร์จด้วย USB-C ได้ แต่ขนาดของอแดปเตอร์ก็ไม่ได้ใหญ่มากนัก จัดว่าพกพาได้สะดวก ส่วนการเชื่อมต่อแบบไร้สายรองรับ Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax ซึ่งถือว่าใหม่มาก รวมถึง Bluetooth 5.0 ด้วย
ประสบการณ์ใช้งานจริงของ ASUS ZenBook Duo
ในการใช้งานจริงแบบไม่อิงสเปคต้องบอกว่าดีทุกอย่าง ยกเว้นแป้นพิมพ์กับทัชแพดอย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สามารถใช้งานตัดต่อวีดีโอบน Adobe Premier Pro หรือแต่งภาพบน Adobe Photoshop ได้ลื่นไหลพอตัว และยังสะดวกกว่าด้วยหน้าจอ ScreenPad Plus ที่ทำให้เราสั่งงานด้วยการสัมผัสได้
การมี 2 หน้าจอก็ช่วยให้เราทำงาน Multitask ได้ดียิ่งขึ้น อย่างกรณีที่ผมต้องเขียนบทความรีวิว ก็สามารถเปิดเว็บบนหน้าจอหลักเพื่อเขียนบทความ และเปิดอีเมลหรือแหล่งข่าวในหน้าจอเล็กด้านล่าง ช่วยให้ Flow การทำงานลื่นไหลกว่าเดิม
เรื่องของเสียงนับว่าเป็นจุดเด่นของ ASUS มานานแล้ว นั่นหมายถึงรุ่นนี้ก็มีเสียงจากลำโพงที่ดีมาก ดัง กังวาล มิติดี และยังสามารถปรับแต่งเสียงผ่านโปรแกรม Audio Wizard ได้อีกด้วย
สำหรับงานที่ต้องพิมพ์ตัวเลขเยอะๆ การขาด NumPad ไปก็ถือเป็นจุดอ่อนของโน้ตบุ๊คหลายรุ่น แต่เราสามารถลดความอึดอัดนี้ลงด้วยการเปิด NumPad บน ScreenPad Plus ได้
การบริหารจัดการหน้าต่างระหว่างหน้าจอทั้ง 2 ก็ไม่ยากนักแต่ก็ไม่ถึงกับง่ายถ้าจะใช้งานอย่างจริงจัง ต้องใช้เวลาทำความเคยชินกันสักพัก แต่ความดีงามที่ผมชอบก็คือการที่เราสามารถบันทึก Layout ไว้ใช้ได้หลายแบบ ไม่ต่างจากการมี Workspace หลายอัน ทำให้ผมสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความเหมาะสม เช่น Layout สำหรับเล่นเกม, Layout สำหรับทำงาน
เรื่องของความร้อนและเสียงพัดลม ในการใช้งานทั่วไปก็ถือว่าเงียบและไม่ร้อน แต่ถ้าเริ่มใช้งานหนักอย่างการเปิด Adobe Premiere Pro ก็จะเริ่มมีเสียงพัดลม และความร้อนจะขึ้นมาบริเวณ ScreenPad Plus
ความสะดวกอีกอย่างที่ผมชอบคือการจับภาพหน้าจอ โดยทั่วไปแล้วโน้ตบุ๊คจะมีปุ่ม Print Screenshot อยู่แล้ว แต่สำหรับ ASUS ZenBook Duo จะมีปุ่ม Snip บนตำแหน่ง F11 ซึ่งเป็นการจับภาพหน้าจอบางส่วน หรือเลือกหน้าต่างโปรแกรมที่ต้องการจับภาพหน้าจอเลยก็ได้ ถือว่าสะดวกมาก
ด้านการพกพามีความน่าสนใจตรงที่ในกล่องให้ซองพกพามาด้วย ซึ่งดูดีและน่าใช้มาก และน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.5 กก. ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่หนักเกินไป
บทสรุปของรีวิว ASU ZenBook Duo
นี่คือนวัตกรรมในราคาที่จับต้องได้ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจอ ScreenPad Plus ที่สามารถสั่งงานด้วยการสัมผัสได้ บวกกับสเปคที่เหลือเฟือสำหรับการทำงานของคนส่วนใหญ่ ก็จัดว่ารุ่นนี้น่าสนใจมาก ข้อเสียเดียวที่มีก็คือแป้นพิมพ์และทัชแพดที่ขนาดค่อนข้างแปลก ต้องปรับตัวสักพักถึงจะใช้ได้คล่อง