การเกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อ HUAWEI แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ HMS โด่งดังในชั่วข้ามคืนแบบที่ไม่ต้องลงทุนโปรโมทอะไรเลย และความยิ่งใหญ่ของ HUAWEI ที่มียอดขายสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นหมายเลข 1 ด้านเครือข่าย 5G ก็ทำให้บริษัทต่างๆ หาวิธีที่จะร่วมงานกับ HUAWEI และความน่าสนใจก็คือบริษัทที่ใช้ HMS สรุปผลออกมาว่าการใช้ HMS ส่งผลดีต่อแอพและยอดขายด้วย นี่จึงต่างกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ที่ล้มหายตายจากไป เพราะ HMS ถูกวางรากฐานไว้อย่างยั่งยืนและผ่านการใช้งานจริงมาแล้ว
ถือว่าเป็นความโชคดีที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน HUAWEI Developer Day 2019 ที่เป็นงานระดับ Asia Pacific ณ ประเทศสิงคโปร์ จึงเข้าใจ HMS มากขึ้น แล้วพบว่ามีประเด็นน่าสนใจมาก ทั้งในแง่ของนักพัฒนา, ผู้ใช้ รวมไปถึงนักการตลาด ซึ่งมีหลายสิ่งมาก แต่ผมจะพยายามสรุปแง่มุมต่างๆ ให้กระชับที่สุด
ความหมายที่แท้จริงของ HMS
HMS ย่อมาจากคำว่า HUAWEI Mobile Services ซึ่งถ้าอธิบายอย่างง่ายก็คือชุดโปรแกรมที่เป็นของค่าย HUAWEI คล้ายกับ Google ที่มี GMS หรือ Apple ที่มีระบบของตัวเอง
HMS ไม่ใช่แค่แอพบน AppGallery แต่เป็น Ecosystem ที่จะเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ และเป็นตัวกลางระหว่างนักพัฒนาและผู้ใช้งาน
GMS กับ HMS เป็นของที่คล้ายกันคือยืนอยู่บนรากฐานของ Android แล้วครอบทับด้วยชุดคำสั่งของตัวเอง เพื่อให้นักพัฒนาแอพสามารถนำไปเขียนโปรแกรมได้
HUAWEI ได้วางบทบาทของ HMS ไว้เข้ากับยุคสมัยและตอบสนองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ HMS เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ใช้กับฝั่งนักพัฒนา โดยจุดแข็งก็คือ HMS รองรับอุปกรณ์ทุกชนิด
แนวคิดของ HUAWEI คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย HMS ถูกฝังอยู่ในทุกส่วนของระบบตั้งแต่ชิปเซ็ตอย่างเช่น Kirin ที่ HUAWEI พัฒนาขึ้นมาเอง รวมถึงในระดับของตัวอุปกรณ์ไปจนถึงระดับของ Cloud ซึ่งถือว่าครอบคลุมทั้งระบบ
คำว่า Cloud ในที่นี้มีอยู่ 2 แบบคือ Cloud ในมุมของผู้ใช้สำหรับเก็บข้อมูลเช่น รูปถ่าย, เพลง หรือสำรองข้อมูลบนตัวเครื่อง ส่วนในมุมของนักพัฒนาก็เรียกง่ายๆว่า เซิฟเวอร์นั่นเอง เช่นการเล่นเกมก็ต้องมีเซิฟเวอร์ แอพต่างๆ ก็ต้องมีเซิฟเวอร์ ซึ่งเทรนด์ตอนนี้และอนาคตคือสิ่งต่างๆ จะถูกผลักไปอยู่บนเซิฟเวอร์มากขึ้น ไม่ได้ติดตั้งข้อมูลทั้งหมดบนตัวเครื่อง เพื่อลดขนาดแอพ, การประมวลผลที่มีประสิทธิภาพและอัพเดทกว่า, ลดการพึ่งพาสเปคของสมาร์ทโฟน
HMS คือแผนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การตอบโต้ GMS
ในมุมมองของคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด อาจคิดว่า HMS ไม่รอดแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว HMS เติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2018 โดยมีนักพัฒนาเข้าร่วมมากถึง 1,070,000 ราย จากเดิมที่มีเพียง 480,000 ราย
แม้ว่าทั่วโลกพึ่งจะมาสนใจ HMS อย่างจริงจัง แต่ถ้าอิงสถิติแล้ว Ecosystem นี้มีแอพให้โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
ถ้าไม่มีแอพก็ไม่มีผู้ใช้ ถ้าไม่มีผู้ใช้ก็ไม่มีแอพ
มีเรื่องตลกอยู่อย่างหนึ่งในการลงทุนทำธุรกิจก็คือ ถ้ามองแล้วว่าไม่มีลูกค้าก็ไม่มีนักพัฒนาคนไหนที่อยากเสียเวลาด้วย แต่พอไม่มีคนพัฒนาแอพก็ไม่มีลูกค้าซื้อใช้ ซึ่งเป็น Loop ที่ทำให้หลายค่ายล้มหายตายจาก แต่ HUAWEI แก้เรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว
ความย้อนแย้งในโลกความเป็นจริงที่ทำให้หลายระบบล้มตายกันไปก็คือ ลูกค้าจะใช้ก็ต่อเมื่อมีแอพ แต่นักพัฒนาก็จะไม่ลงทุนถ้ายังไม่เห็นลูกค้า
ในมุมมองของนักพัฒนาก็สนใจกระโดดมาร่วมวงด้วย เพราะฐานลูกค้าของ HUAWEI เติบโตขึ้นตลอดเวลา
และในมุมของผู้ใช้ก็จะพบว่าแอพบน HUAWEI AppGallery เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งมันเป็นไปได้ยากที่ใครจะทำได้แบบนี้แต่ HUAWEI ก็สามารถทำได้แล้ว
ผลสำรวจที่น่าสนใจอีกชิ้นก็คือแม้ว่าจะมีแอพมากมายบนโลกกี่ล้านแอพ แต่คนเราก็ใช้งานแอพเฉลี่ยเพียงแค่ 9 แอพต่อวันเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุให้ HUAWEI คิดระบบที่ช่วยเหลือนักพัฒนาอย่างเช่นการโปรโมทแอพบนตำแหน่งต่างๆ ใน AppGallery รวมถึงระบบค้นหาของเครื่องที่สามารถผนวกรวมผลการค้นหาแอพเข้าไปได้ด้วย
เป็นมิตรกับนักพัฒนาแอพและนักการตลาด
HUAWEI มีหลายสิ่งที่ดึงดูดนักพัฒนาและนักการตลาด เริ่มจากฐานลูกค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกสมาร์ทโฟนที่มองดูแล้วคุ้มค่าในการลงทุน ถัดมาก็เป็นเรื่องของความง่ายในการสร้างแอพ
HUAWEI เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Google และ Apple ซึ่งมีจุดต่างตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย คือ HUAWEI ให้นักพัฒนาสมัครใช้งานได้ฟรี ในขณะที่คู่แข่งต้องเสียค่าธรรมเนียมไม่น้อย นี่จึงเป็นกำแพงด่านแรกที่ HUAWEI เลือกที่จะเปิดประตูต้อนรับนักพัฒนาอย่างอบอุ่น
ถัดมาคือเครื่องมือในการพัฒนาแอพที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรในชื่อ Quick App ที่ไม่ต้องติดตั้งบนตัวเครื่อง และใช้เวลาทั้งกระบวนการเพียงแค่ 3 วันซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับระบบอื่น และยังรองรับ Cross-Device คือพัฒนาข้ามอุปกรณ์ได้เช่น Smartphone, Tablet, Watch, Vision, Telematics
ในแง่ของการเขียนโปรแกรมก็มี API และ Service ให้ใช้งานได้ครบทุกฟังชั่นที่ควรมี และยังตอบโจทย์ในแง่มุมของนักการตลาด ที่มีเครื่องมือในการขายของอย่าง IAP ( In-App Purchase ) รวมถึงเครื่องมือในการทำโฆษณาและการวิเคราะห์ข้อมูล และจุดต่างสำคัญอีกอย่างคือนักพัฒนาสามารถใช้งาน API ต่างๆ ได้ฟรี ในขณะที่คู่แข่งต้องเสียเงินตามเงื่อนไข
ความพยายามผลักดันและอำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาไม่ได้อยู่แค่ในวงแคบๆ แต่จะกระจายไปทั่วโลกภายใต้ชื่อ HUAWEI Developer Day ที่จะให้ความรู้ทั้งในแง่มุมของการเขียนแอพและแง่มุมการทำธุรกิจ เพื่อผลักดันให้มี Partner เข้ามาร่วมมือสร้างสิ่งดีๆ ให้กับผู้ใช้งานของ HUAWEI
ในแง่มุมของนักพัฒนารวมไปถึงวงการ Start up มีสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนก็คือเงินรางวัล ซึ่ง HUAWEI เองก็เข้าใจในจุดนี้จึงมีเงินอัดฉีดให้กับนักพัฒนา, งบการตลาด และงบในการส่งเสริมการขาย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้บริษัทต่างๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับ HMS Core และ HUAWEI Ecosystem
HMS Core แกนกลางของระบบที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ
HMS Core อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นหมวดหมู่บริการที่อยู่เบื้องหลังของระบบ เช่น Map Kit สำหรับจัดการเรื่องแผนที่, Game Service สำหรับการเล่นเกม, Analytics Kit สำหรับนักการตลาดและนักวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอด รวมไปถึงกลุ่มของการสร้างรายได้อย่างเช่น Ads Kit
ซึ่งต้องบอกว่า HMS Core พัฒนาเร็วมากในปี 2019 โดยความน่าสนใจอยู่ที่เดือนธันวาคม 2019 ที่จะปล่อยเวอร์ชั่น HMS Core 4.0.0 ที่มีส่วนของ DRM Kit ( ตัวอย่างเช่นในปัจจุบันการดู Netflix ก็จะเรียกหา Widevine DRM ของ Google ดังนั้นถ้ามี HUAWEI DRM ก็จะช่วยจัดการปัญหาพวกนี้ได้ดียิ่งขึ้น )
ชุด Kit ที่สำคัญในปัจจุบันก็อย่างเช่น Account Kit หรือพูดง่ายๆ ว่าเปรียบเสมือน Facebook Login, Google Login และสำหรับ HMS ก็จะเป็น HUAWEI ID Login
ผมได้ลองโหลดเกม Survical Heroes จาก AppGallery บน HUAWEI Mate 30 Pro และพบว่าระบบล็อกอินถูกเปลี่ยนจากเวอร์ชั่น Google Play Store ให้กลายเป็น HUAWEI ID Login แทน
Location และ Map Kit เป็นสิ่งที่มักมาพร้อมกัน คือการจัดการพิกัดตำแหน่งและแผนที่ ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า HMS จะเลือกใช้ Map Provider เป็นเจ้าไหน แต่จากที่ Demo ในงานมีการเลือกใช้แผนที่ของ Tom Tom ครับ
ชุดคำสั่ง Kit อีกตัวที่สำคัญต่อนักพัฒนาและผู้ใช้ก็คือ IAP ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะรับแต่หน่วยเงินหรือบริการเฉพาะในจีน เพราะ IAP Kit รองรับการจ่ายเงินแบบสากลเช่น VISA, Master Card, HUAWEI Point รวมถึงแอพกระเป๋าเงินของแต่ละประเทศ นั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นแอพจ่ายเงินของไทยไปอยู่บน HMS แน่นอน
Connectivity Kit เป็นอีกชุดคำสั่งที่น่าจับตามอง เพราะเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์ทั้งโลกเข้าด้วยกัน ถ้าอธิบายอย่างง่ายก็คือการแชร์และส่งข้อมูลจะทำได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่นการส่งรูปถ่ายจากกล้องไปยังสมาร์ทโฟน ถ้าเป็นวิธีดั้งเดิมก็จะต้องติดตั้งแอพเพื่อทำการส่งรูป แต่ถ้าเป็น HMS ก็จะสามารถส่งรูปได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งแอพเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีการใช้งานร่วมกับตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์อย่าง Cewe ที่ถ่ายเสร็จก็ส่งไฟล์เข้าสมาร์ทโฟนผ่าน HMS ได้ทันที และความน่าสนใจยังมีมากกว่านี้เพราะการทำสตรีมมิ่งหรือการ Cast หนังออกไปดูที่จอทีวีก็สามารถจัดการให้มีความลื่นไหลมากกว่าของคู่แข่ง
และความลื่นไหลในการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์นี้ทำให้สามารถเชื่อมต่อพร้อมกันได้หลายสิ่ง เช่น เปิดเกมแล้วแคสขึ้นจอทีวี แล้วต่อบลูทูธเข้ากับจอยเกมและลำโพงพร้อมกัน
ความสามารถในการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านแอพต่างๆ เช่นการเล่นโยคะ ที่การฝึกโยคะแบบนั่งเปิดจอสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้นการเชื่อมโยงกับเข้ากับกล้องเพื่อตรวจจับท่าทางและรายงานผลว่าเราทำได้ถูกต้องหรือไม่ และแสดงผลทางหน้าจอทีวีจึงเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า
การโฆษณาแบบตรงกลุ่มและรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
HUAWEI มีสิ่งที่เรียกว่า OAID ( Open Advertising ID ) ที่จะช่วยรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทโฆษณาด้วย
โดยในงานมีตัวแทนจากบริษัท Adjust มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง Adjust เป็นบริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโฆษณาบนมือถือที่มีลูกค้าดังๆ จากทั่วโลก
ในมุมของการทำโฆษณานอกจาก OAID จะช่วยปกป้องข้อมูลของลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้นำไปวิเคราะห์เพื่อป้องกันโฆษณาประเภทหลอกลวงรวมถึงการคลิกปลอมๆ ที่ทำให้เสียเงินโฆษณาโดยใช่เหตุ
เรียกได้ว่า OAID เป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักโฆษณาทำงานง่ายขึ้น ยิงโฆษณาได้ตรงกลุ่มมากขึ้น เท่ากับประหยัดเงินมากขึ้น นั่นแปลว่าผู้ใช้ก็จะเจอโฆษณาที่ตัวเองสนใจพร้อมกับรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในเวลาเดียวกัน
HMS จับมือกับค่ายหนังและสังกัดเพลงดังเรียบร้อย
ในแง่ของ Content แล้วนอกจากเรื่องของแอพก็มีเรื่องของการดูหนังฟังเพลง ซึ่ง HUAWEI ก็ซุ่มเงียบจับมือกับผู้ผลิตหนังและเพลงจากค่ายดังทั่วโลกเรียบร้อย และได้เริ่มเปิดให้ใช้งานในบางประเทศแล้ว
โดย HUAWEI Video มีหนังจากกว่า 20 ประเทศเพื่อให้เลือกดูได้หลากหลาย เช่นกันกับ HUAWEI Music ที่มีเพลงให้เลือกฟังมากกว่า 30 ล้านเพลงใน 115 ประเทศ
HUAWEI Ability Gallery ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร
HUAWEI Ability Gallery ถูกวางบทบาทไว้เปรียบเสมือนประสาทสัมผัสของเรา ที่สามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลการแข่งขันกีฬา, สภาพอากาศ, ข้อมูลการเดินทาง รวมถึง AI Lens ที่ส่องกล้องเพื่อค้นหาข้อมูลจากสิ่งที่เห็น
โดยข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่บนสมาร์ทโฟน แต่จะไปอยู่บน Visual ต่างๆ ด้วยเช่น Smartwatch หรือ Notebook
นอกจากนี้ยังได้จับมือกับ Taboola ซึ่งเป็นบริษัทด้านการคัดกรองข่าวสารเพื่อนำเสนอให้ตรงใจผู้อ่านและเปิดให้บริการในไทยแล้ว
HMS ถูกออกแบบเพื่อใช้ในยุค 5G
หลายสิ่งอย่างที่เห็นรอบตัวเราถูกออกแบบมาก่อนยุค 5G ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะตกยุคทันทีเมื่อ 5G เข้ามามีบทบาทในชีวิต เพราะ 5G ไม่ใช่แค่เน็ตเร็วแต่มันคือแนวคิดที่จะเปลี่ยนโลกทั้งระบบ
เหตุผลที่คนในแวดวง Telecom พูดกันว่า 5G จะเปลี่ยนโลกนั่นก็เพราะรากฐานเทคโนโลยีและพฤติกรรมของคนเราในแต่ละยุคจะต่างกันไป ถ้าเทียบง่ายๆ คือยุค 1G ช่วงปี 1980 จะเป็นเรื่องของการใช้โทรศัพท์ในการโทรเท่านั้น พอเข้าสู่ยุค 3G ในช่วงปี 2000 ก็เริ่มมีเรื่อง Multimedia จำพวกหนังและเพลงรวมถึง Content ต่างๆ จากแอพทั้งหลาย
แต่พอเข้าสู่ปี 2020 ก็จะเริ่มเข้าสู่ยุค 5G ที่ใช้คำว่า Super Connected World ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของแอพอีกต่อไป แต่เป็นการเชื่อมอุปกรณ์ทุกสิ่งบนโลกเข้าด้วยกัน โดยมีกำลังสำคัญคือเรื่องของ 5G, AI และ Cloud
ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ HUAWEI และ HMS ได้วางรากฐานไว้รองรับเรียบร้อย ทั้งในแง่ของ Digital World ที่เป็นการประมวลผลและข้อมูลที่สัมผัสด้วยมือไม่ได้ กับ Physical World อย่างสิ่งของรอบตัวที่สัมผัสด้วยมือได้
โลกยุคใหม่จะเป็นการผนึกพลังระหว่าง 5G+AI+IoT ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่าง Cloud เข้ากับตัวเรา และ HMS ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน
กลยุทธ์ครองโลกด้วยสูตร 1+8+N ของ HUAWEI
มาถึงตรงนี้คงเห็นภาพมากขึ้นแล้วว่า HMS ไม่ใช่แค่คำโม้โอ้อวดเพื่อการโฆษณาหรือเป็นแค่แหล่งโหลดแอพ เพราะความจริงแล้วยังมีภาพใหญ่กว่านั้นคือ 1+8+N ที่ HUAWEI มองว่าทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เลยให้สมาร์ทโฟนทำหน้าที่เหมือนเป็นศูนย์กลางการควบคุมทุกสิ่งผ่านทางอุปกรณ์ทั้ง 8 ประเภทได้แก่
- หน้าจอทุกประเภทเช่น ทีวี
- ลำโพง
- แว่น
- นาฬิกา
- ยานพาหนะ
- หูฟัง
- คอมพิวเตอร์
- แท็บเล็ต
ซึ่งอุปกรณ์ทั้ง 8 อย่างนี้จะทำการแสดงผลข้อมูลต่างๆ เช่น ด้านความบันเทิง, ด้านการเดินทาง, ด้านงานออฟฟิศ และสมาร์ทโฮม ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกขับเคลื่อนด้วย AI
เหตุผลที่ HUAWEI วางบทบาทให้สมาร์ทโฟนเป็นศูนย์กลางการควบคุมของผู้ใช้งาน นั่นก็เพราะจากสถิติพบว่าโลกของสมาร์ทโฟนรวมถึงแท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์ค่อนข้างนิ่งมาหลายปีแล้ว และมีแนวโน้มที่จะนิ่งแบบนี้อีกต่อไป พูดง่ายๆ ว่าคนส่วนใหญ่จะมีสมาร์ทโฟนเพียงแค่ 1 เครื่อง ในขณะที่อุปกรณ์เสริมจำพวก Smart Device มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติปี 2019 พบว่าค่าเฉลี่ยคนส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์เสริม 3.96 ชิ้น และคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี ค่าเฉลี่ยแต่ละคนจะมีอุปกรณ์ Smart Device จำนวน 9.27 ชิ้น
HiAI ส่วนเติมเต็ม HMS และ Ecosystem
แผนผังกระบวนการทำงานที่ถูกนำเสนอในวันนี้มีหลายรูปแบบมาก เพราะอยู่ที่มุมมองว่าเราจะโฟกัสที่แง่มุมไหน และถ้าเราโฟกัสด้าน AI จะพบว่าทุกบริการของ HUAWEI รวมถึง Cloud จะวิ่งผ่าน AI ที่ช่วยจัดการข้อมูลให้เหมาะสม และวิ่งผ่าน 2 กลุ่ม Ecosystem คือทาง HUAWEI Ability Gallery ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร และอีกทางก็คือ HUAWEI HiLink ที่อธิบายง่ายๆ ก็คือสมาร์ทโฮม ก่อนจะที่ส่งต่อมายัง 1+8+N ที่ผู้ใช้งานรับรู้
HiAI ประกอบด้วยส่วนสำคัญคือ HiAI Engine ที่ทำการวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลต่างๆ ก่อนนำไปประมวลผล โดยตัวอย่างการใช้งานก็อย่างเช่น WPS และ StorySign
WPS ใช้ HiAI ช่วยสร้าง Presentation จากรูปถ่ายได้ง่ายๆ เพียงแค่เลือกรูปในอัลบั้มที่ต้องการ จากนั้น WPS จะทำการแปลงไฟล์รูปภาพให้กลายเป็นไฟล์เอกสาร พร้อมกับการทำ Text Recognition ที่เราสามารถแก้ตัวอักษรจากภาพถ่ายได้ และทำ Image Correction ที่จะช่วยปรับมุมองศาให้ภาพดูสวยสมกับการทำ Presentation ส่วน StorySign ก็จะทำการแปลงตัวอักษรให้ออกมาเป็นภาษาใบ้ผ่านการแสดงท่าทางของตัวละคร
และอนาคตของ HiAI ก็ดูสดใสเพราะมีนักพัฒนาเข้าร่วมมากถึง 40,000 รายแล้ว
HMS ไม่ใช่แค่การขายฝันแต่พิสูจน์แล้วว่าดีจริง
หลายคนอาจจะพึ่งรู้จัก HMS แต่ในความเป็นจริงแล้ว HMS เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และมีหลายบริษัทที่ใช้งาน HMS แล้วประสบความสำเร็จเช่น YIDAOCHUANSHI ที่นำเอา AppGallery Connect มาใช้ทำ Beta และการ Pre-order เป็นผลให้บริษัทสามารถสร้างรายได้มากกว่าช่องทางอื่นๆ ถึง 2 เท่า
หรืออย่าง Trip.com ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยปี 2019 โตมากกว่าเดิมถึง 60% และจากการทำงานร่วมกับ HMS และ OAID ก็ทำให้บริษัทสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าลูกค้ามีช่วงอายุเท่าไรและใช้ HUAWEI รุ่นไหน
และจากข้อมูลของ Trip.com พบว่าผู้ใช้งาน HUAWEI มีมูลค่ามากกว่าคู่แข่งเกือบทั้งหมด
ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีตัวอย่าง Success Story แบบนี้ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมวงกับ HMS มากขึ้นยิ่ง ก็จะส่งผลให้ HMS แข็งแกร่งและผู้ใช้ก็จะมีแอพและอุปกรณ์ดีๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย
HUAWEI จะมุ่งหน้าต่อกับ HMS แม้ว่าจะมี GMS หรือไม่มีก็ตาม
แม้ว่าแต่ละค่ายจะอยากทำระบบของตัวเอง แต่ในโลกความเป็นจริงก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายและส่วนใหญ่ก็ล้มเหลวเหลือเพียงแต่ Apple, Google, Microsoft ที่ทำระบบออกมาให้คนส่วนใหญ่ยอมรับแต่สำหรับ HUAWEI นั้นต่างออกไปเพราะมีการวางรากฐาน HMS ไว้นานแล้ว โดยเริ่มเปิดใช้ที่จีนก่อนที่จะเริ่มขยายตัวออกไป
ซึ่งอันที่จริงแล้ว HUAWEI และ Google มีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด โดย HUAWEI ได้เป็นบริษัทที่ผลิต Google Nexus รวมถึงผู้บริหารของ Google ก็มาขึ้นเวทีให้ HUAWEI บ่อยครั้ง แต่ด้วยสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศทำให้ HUAWEI ต้องเข็น HMS ลงสนามในปี 2019 กับ HUAWEI Mate 30 series ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ขับเคลื่อนด้วย HMS เต็มตัว
เตรียมรุกหนักหลังจากเริ่มต้น HMS กับ HUAWEI Mate 30 seriesได้สวย
ในช่วงแรกก็มีการตั้งคำถามกันว่า HUAWEI จะไปรอดรึเปล่า แต่ผลที่ออกมาคือ HUAWEI Mate 30 series ทำยอดขายได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ บวกกับนาทีนี้ไม่มีค่ายไหนไว้ใจ Google อีกแล้ว เพราะอาจเกิดปัญหาสงครามการค้าได้ทุกเมื่อ นั่นทำให้ HUAWEI จะมุ่งหน้าเต็มตัวกับ HMS แม้ว่าจะมีหรือไม่มี GMS ก็ตาม
HUAWEI รับฟังทุกความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อนำไปปรับปรุง HMS
ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคตของ HUAWEI หรือ HMS เพราะมั่นใจได้เลยว่างานนี้ HUAWEI ลุยเต็มสูบ ทั้งอัดฉีดเงินรางวัลให้นักพัฒนา ทั้งเดินสายเจรจากับแอพดังๆ และไม่ใช่แค่ไม่ต้องกังวลแต่ต้องบอกเลยว่า HUAWEI จะจัดหนักกว่าที่เคย เพราะแนวทาง 1+8+N ที่จับมือกับ Partner หลายรายเพื่อดัน HMS และ Ecosystem ให้ถึงมือผู้ใช้งาน
แผนของ HUAWEI ถูกวางไว้ยิ่งใหญ่และจะไม่ยอมให้ใครมาล้มแผนง่ายๆ นั่นหมายความว่าทุกอย่างจะยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิม เราจะยังคงเห็นสินค้าใหม่ๆ ในปีหน้าแน่นอน