Netflix สานต่อพันธกิจ มุ่งเสริมศักยภาพให้นักสร้างสรรค์ทั่วไทย ได้ถ่ายทอดเรื่องราวสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก

ปี 2562 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งในตลาดไทยสำหรับ Netflix ให้มีโอกาสได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจให้สมาชิกเน็ตฟลิกซ์กว่า 158 ล้านคนในกว่า 190 ประเทศทั่วโลกได้สัมผัส

“เคว้ง” (The Stranded) ผลงานออริจินัลซีรีส์เรื่องแรกของไทยบนเน็ตฟลิกซ์จากฝีมือการกำกับและเขียนบทของคุณจิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสร้าง คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม และทัพนักแสดงวัยรุ่นคับคั่ง จนสร้างกระแสความเคว้งกระหึ่มไปทั่วประเทศ และเปิดเวทีให้วงการบันเทิงไทยได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีโลกอย่างเต็มตัว

นอกจากการลงทุนถ่ายทำและทำตลาดให้กับซีรีส์ดราม่า – ไซไฟ – แฟนตาซีเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบ จนกลายเป็นครั้งแรกที่ซีรีส์ไทยได้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ให้ได้รับชมพร้อมกันทั่วโลกแล้ว เน็ตฟลิกซ์ยังลงทุนทำเสียงพากย์ถึง 4 ภาษา (อังกฤษ จีนกลาง สเปน และโปรตุเกสแบบบราซิล) และซับไตเติ้ลอีก 28 ภาษา

นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังพร้อมใช้ความงดงามของวิวทิวทัศน์จากทั่วไทยในซีรีส์ “เคว้ง” มาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มุ่งสู่เป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวราว 10% เป็นมูลค่ารวมถึง 3.73 ล้านล้านบาท พร้อมรักษาสถานะของประเทศไทยในฐานะประเทศที่ทำรายได้จากภาคการท่องเที่ยวติดอันดับท็อป 6 ของโลก

นอกจาก “เคว้ง” แล้ว เน็ตฟลิกซ์ยังนำผลงานคุณภาพอีกหลายเรื่องจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์อย่าง “ฉลาดเกมส์โกง” จากค่ายจีดีเอช หรือ “แสงกระสือ” โดยทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม และละครฮิตจากช่อง 3 อย่าง “บุพเพสันนิวาส” และ “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ไปเผยแพร่ให้สมาชิกในต่างประเทศได้รับชมด้วยคำบรรยายในภาษาต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรและบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

นอกจากการเปิดตัวออริจินัลซีรีส์ฝีมือคนไทยแล้ว เน็ตฟลิกซ์ยังทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะทำงานด้านดิจิทัล อาเซียน ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ภายใต้โครงการ “ASEAN Digital Skills Vision 2020” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำเอาศักยภาพของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนมาเสริมสร้างทักษะความสามารถให้กับแรงงานกว่า 20 ล้านคน ภายในปี 2563 โดยเน็ตฟลิกซ์เองมีจะมุ่งเน้นการดำเนินงานไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่การสร้างทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4.0 การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อความคล่องตัวในยุค 4.0

ทั้งนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังมีกิจกรรมและโครงการที่มุ่งสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของบุคลากรในวงการบันเทิงและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงกับสภาเศรษฐกิจโลก โดยในเดือนตุลาคม เน็ตฟลิกซ์ได้เชิญชวนโปรดิวเซอร์และผู้ดูแลด้านงานโพสต์โปรดักชั่นจากประเทศไทยและชาติอื่นๆ ในภูมิภาคไปร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 4 วันเต็ม โดยมีมืออาชีพมากประสบการณ์จาก Amsterdam Post Lab (APostLab) สถาบันชั้นนำของยุโรปที่มุ่งให้การฝึกสอนทักษะและแนวทางสำหรับขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นต่างๆ มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบ แนวทาง และเครื่องมือสำหรับดำเนินงานหลังการผลิตซีรีส์ ทั้งในเชิงเทคนิค การเงิน การบริหารจัดการ และการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ผู้ที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปในครั้งนี้ ไม่เพียงได้รับประกาศนียบัตรจบหลักสูตรจาก APostLab เท่านั้น แต่ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในสมาชิกแบบฟรีแลนซ์ในทีมโปรดักชั่นของเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการปูทางให้พวกเขามีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการสรรสร้างผลงานซีรีส์เรื่องใหม่ให้กับเน็ตฟลิกซ์ในอนาคต

ก่อนหน้านี้ เน็ตฟลิกซ์ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (สสภช.) เพื่อจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “การนำภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก” โดยมีนักสร้างสรรค์จากทั่ววงการบันเทิงไทยกว่า 150 ท่านเข้าร่วมงาน เพื่อเรียนรู้ถึงแนวทางและหลักปฏิบัติในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์และซีรีส์ที่สามารถคว้าโอกาสที่เปิดกว้างในโลกของความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์