MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive”

บทสรุปปาฐกถา “Roadmap ไทย ขับเคลื่อน EV” โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษในอากาศในระยะยาว ซึ่งประเด็นการปล่อยมลพิษของรถยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก เกิดเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมมลพิษจากยานยนต์เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกำหนดค่าไอเสียที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษของตัวเอง เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษ รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่นในประเทศในกลุ่มยุโรป ก็ได้มีการออกมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์อย่าง มาตรฐานยูโร โดยเริ่มตั้งแต่ ยูโร 1 ถึงปัจจุบันอยู่ที่มาตรฐานยูโร 6

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive

ปัจจุบันมียานยนต์จำหน่ายทั่วโลกรวมกันกว่า 1,200 ล้านคัน ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงได้มีการออกมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องระบบท่อไอเสีย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับการใช้ทั้งเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมถึงการออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ประเภทนี้ อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนียออกนโยบายการเงินในการสนับสนุนเงินให้ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุดกว่า 200,000 บาทต่อคัน และการสนับสนุนให้ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทำให้ในปี ค.ศ. 2018 มีจำนวนแท่นชาร์จไฟกว่า 450,000 มากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ โดยในปี ค.ศ. 2019 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการเห็นชอบ  แผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ

·       ระยะสั้น (2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน

·       ระยะกลาง (2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน

·       ระยะยาว (2026-2030) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการมาตรการยานยนต์เก่าแลกยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) โดยการนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมตลาดและการจัดการซากยานยนต์ โดยจะมีการศึกษาการจัดการซากยานยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจัดการซากรถยนต์ที่เป็นระบบ ลงทุนการรีไซเคิลซากรถยนต์และแบตเตอรี่ และเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รองรับการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาท ต่อหน่วย และตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะให้ตั้งภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้

บทสรุปสัมมนา “New Generation of Automotive” โดยตัวแทนจากทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive
  • นิยามของ New Generation of Automotive ในมุมของเอ็มจี ประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ คือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบไร้คนขับ และพลังงานทางเลือก สำหรับ SAIC Motor ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเอ็มจี ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าลำดับต้นๆ ของโลกที่พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
  • สำหรับประเทศไทยเราทำตลาดด้วยแบรนด์เอ็มจี โดยเราถือเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในสังคมไทยด้วยการเปิดตัว MG ZS EV ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ “EASY” ที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ดูแลรักษาได้ง่าย ใช้งาน ได้ง่าย เมื่อปีที่ผ่านมา
  • และในปีนี้ เอ็มจีได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนติดตั้งจุดชาร์จในรูปแบบ DC โดยภายในปีนี้ จะมีจุดชาร์จจำนวน 100 แห่งในโชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศ และวางแผนในการขยายจุดชาร์จเพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายในปีหน้า ส่วนแผนงานในระยะที่ 2 ในการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น จะเลือกสถานีที่อยู่เส้นทางหลักตามทางหลวง และแผนงานในระยะที่ 3 จะเพิ่มสถานีชาร์จที่ศูนย์การค้า ออฟฟิศ หมู่บ้าน ที่พักอาศัย นอกจากนี้ ยังมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดเข้ามาทำตลาดอีกด้วย โดยเอ็มจีมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการและพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สังคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตมากขึ้น พร้อมนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือการลงทุน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

  • ในปี พ.ศ. 2560 BOI เตรียมการลงทุนเรื่องนโยบายการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมทุกเรื่องการผลิต ความต้องการตลาด การส่งเสริมการลงทุน การสร้างสถานีชาร์จ รถยนต์ใช้ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และชิ้นส่วน ในปัจจุบัน มีผู้เข้ามาลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 16 บริษัท รวม 26 โครงการ โดยมีการขอส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ ประเภทไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) และมียอดการผลิตรวมกันกว่า 560,000 คัน เรากำลังพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่มีแผนการเปิดโครงการในช่วงการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งต่อไป 
  • สำหรับประเทศไทย BOI มองว่า เราต้องมีขีดความสามารถในการสร้างการรับรู้เรื่องนวัตกรรม ต่อยอดสู่การพัฒนาให้ได้ เราต้องเข้าใจบริบทของความต้องการ เพราะประเทศเราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายในมานาน ดังนั้น เราต้องรีบศึกษาเพื่อจะผันตัวเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ฉะนั้น เราต้องปรับตัวให้ได้และให้ทัน ทั้งเรื่องเครื่องมือ (Supply) และการขยายตลาด (Demand) ต้องดูเรื่องผู้ผลิตและผู้ใช้งานมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งจากแผน 30@30 เราต้องคิดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น อาทิ การผลิตรถบัสพลังงานไฟฟ้า เพื่อการใช้งานขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นถือเป็นจำนวนการผลิตที่ค่อนข้างสูง

นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุม 74 จังหวัด โดยในปัจจุบัน เรามีการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งหมด 11 แห่ง นอกจากนี้ เรายังมีแผนในการทำสถานีร่วมกับบางจาก เพิ่มอีก 62 จุด แบ่งเป็นสถานีปั๊มน้ำมันบางจาก 56 จุด และส่วนพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 6 จุด โดยจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ. 2564 และในระยะถัดไป ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2565 เราจะดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุด ทำให้ในปี พ.ศ. 2565 ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 จุด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร)
  • สำหรับต้นทุนในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เฉลี่ย 2.5 ล้านบาท ต่อหนึ่งแท่นชาร์จ

นายพรศักดิ์ อุดมทรัพยากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

  • ส่วนงานของการไฟฟ้านครหลวง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 จุด จำนวน 15 แท่นชาร์จ โดยมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 118 จุด รวมเป็น 128 จุด ภายในปี พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ในการค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งประเทศ และสามารถจองแท่นชาร์จก่อนเข้ารับบริการได้ในเชิงนโยบายนั้น ทางการไฟฟ้านครหลวงได้มีการเร่งดำเนินการขยายสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เราจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้ออกนอกบริเวณจังหวัดที่ใกล้เคียง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปัจจุบันมีระยะทางวิ่งมากกว่า 200 กิโลเมตร ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน สะดวกต่อการชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ที่พักอาศัยของผู้ใช้งาน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive
  • สถาบันยานยนต์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม มีพันธกิจในเรื่องของการศึกษาวิจัยในด้านเทคโนโลยียานยนต์ร่วมกับทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ฝึกอบรม ศูนย์ทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. และตามมาตรฐานต่างประเทศด้วย ปัจจุบันสถาบันยานยนต์มีที่ตั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย กล้วยน้ำไท ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่ทดสอบเรื่องมลพิษ และสนามไชยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่ทดสอบด้าน EV ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับ ศูนย์ทดสอบสนามไชยเขต คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
  • ในส่วนของเครื่องมือที่จำเป็นต่อการทดสอบ ในปี พ.ศ. 2562 ทางสถาบันฯ ได้รับอุปกรณ์มาแล้วทั้งสิ้น 5 ชิ้น เป็นเครื่องทดสอบความแข็งแรง การชาร์จไฟ การปล่อยประจุเกิน การทนต่ออุณหภูมิ ไฟรั่วหรือไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนอุปกรณ์อีก 4 ชิ้น จะเป็นงบประมาณของปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะทำให้ทางสถาบันฯ มีเครื่องมือในการทดสอบรวมทั้งสิ้น 9 เครื่อง ในส่วนงานด้านบุคลากร เรากำลังจะมีการทำ MoU กับทางศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)

ดร. ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

MG : สรุปใจความสำคัญสำหรับงานสัมมนา “New Generation of Automotive
  • ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นับได้ว่าเป็น Think Tank ในด้านการทำ R&D เพราะการวิจัยที่ดีจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้ไกล ในอนาคตเราได้มีการจัดทำมาตรฐานแกนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแบตเตอรี่ Charging Station ในด้านของการกำหนดมาตรฐานเราใช้ IEC & ISO เป็นตัวกำหนด และมีการพัฒนาระบบยานยนต์ รวมถึงระบบช่วยขับขี่ ADAS ที่มีการใช้มากขึ้น เราต้องการให้มีมาตรฐานของเครื่องชาร์จ หัวชาร์จ แบตเตอรี่ แท่นชาร์จ และหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นมาตรฐานในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก
  • PTEC จะเป็นฝ่ายดูแลและควบคุมเรื่องแบตเตอรี่ผ่านขั้นตอนการทำ Lab Test ที่เป็นมาตรฐานบังคับรวมไปถึงการนำ Cell Battery ที่มีโมดูลและวงจรควบคุมแบตเตอรี่ (Battery Management System) ในการจัดการและควบคุมประจุของแบตเตอรี่ การวิจัยเรื่องการปล่อยประจุไฟฟ้า และการชาร์จไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบ AC และ DC การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และการระบายความร้อนของแบตเตอรี่             
  • ในด้านการทดสอบเราทดสอบตั้งแต่เรื่องอุณหภูมิแบตเตอรี่ขณะขับขี่ ระบบระบายความร้อนการสั่นสะเทือนขณะขับขี่ ระบบความปลอดภัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและคุณภาพการขับขี่  ในประเทศไทย นอกจากนี้ เรากำลังดำเนินการสร้าง Lab ทดสอบ ที่สามารถนำรถบัส 2 ชั้นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและมีเป็นยานยนต์อัตโนมัติ ไร้คนขับ พร้อมทั้งทดสอบโครงสร้างที่น้ำหนักเบา และรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการควบคุมเรื่องความถี่ของรถที่จะไม่กวนการทำงานของเครื่องยนต์หรือ ซอฟต์แวร์ อื่นๆ
  • ทั้งนี้ PTEC มองว่าประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ของเราไม่ได้มีความห่างชั้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีศักยภาพที่ค่อนข้างพร้อม และประเทศไทยก็ยังเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอับดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน และส่วนสำคัญที่จะเร่งการพัฒนาของประเทศไปอีกขั้น คือ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่โดดเด่นจากประเทศอื่นๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทย หากเราได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น