POCO นับเป็นอีกแบรนด์ที่มีฐานแฟนชัดเจนคือกลุ่มคนที่ชอบสเปคแรงๆ โดย POCO X3 Pro ยังคงรักษาแนวทางนี้ไว้เป็นอย่างดี ด้วยการให้ชิปเซ็ต Snapdragon 860 ซึ่งเป็นซิปเซ็ตล่าสุดของทาง Qualcomm ที่เอามาใช้กับ POCO X3 Pro เป็นรุ่นแรก กับราคาเปิดตัวเริ่มต้น 7,999 บาท
POCO X3 Pro สเปคครบทุกความแรง
ในแง่สเปคต้องบอกว่า POCO X3 Pro จัดเต็มในราคามากๆ เริ่มด้วยชิปเซ็ต Snapdragon 860 ซึ่ง Qualcomm วางไว้เป็นชิปเซ็ตแบบ 4G ที่ประสิทธิภาพสูงที่สุด หน่วยความจำที่มีความเร็วระดับ UFS 3.1 กับระบบระบายความร้อนแบบ LiquidCool Technology 1.0 Plus, D5 copper heat pipe + multi-layer graphite ที่ช่วยระบายความร้อนออกจากตัวเครื่อง ช่วยให้การทำงานลื่นไหลเต็มสปีด
แบตเตอรี่ความจุ 5160mAh พร้อมระบบชาร์จเร็ว 33W ส่วนหน้าจอมีขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียด FHD+ กับ Refresh Rate 120Hz และ Touch Sampling Rate 240Hz โดยใช้พาแนลแบบ IPS และกระจก Corning Gorilla Glass 6 กับลำโพงคู่
ด้านฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจก็มี IR Blaster ที่ใช้แทนรีโมทควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังคงเก็บช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม. และ NFC ไว้ด้วย
ใช้จริงแรงเหลือเฟือและจัดการความร้อนได้ดี
ด้วยความที่ POCO เป็นขวัญใจคนรักความแรงซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคอเกม ดังนั้นผมเลยทดสอบด้วยการเล่นเกม Genshin Impact ด้วยกราฟิกระดับปานกลางที่เหมาะกับการใช้งานจริงที่สุด ผลก็คือทำได้ลื่นไหลและตัวเครื่องก็อุ่นขึ้นแต่ไม่ถึงกับร้อน ส่วนการเล่นเกมนอกกระแสหน่อยๆ อย่าง Survival Heroes กับการปรับสุดทุกอย่างก็ได้เฟรมเรทที่ค่อนข้างนิ่ง
ฟิล์มที่ติดมาให้จากโรงงานก็อยู่ในระดับที่ไม่หนืดจนควบคุมได้ยาก และการมี Touch Sampling Rate 240Hz ก็ทำให้การควบคุมติดนิ้วยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าใช้เล่นเกมได้ไม่มีปัญหาสำหรับคนทั่วไป และถ้าใครที่เป็นคนเล่นเกมต่อเนื่องนานๆ จะรู้เลยว่า Touch Sampling Rate 240Hz ช่วยลดอาการปวดนิ้วได้ด้วย เพราะการรับคำสั่งและตอบสนองได้รวดเร็ว ก็หมายความว่าเราออกแรงขยับนิ้วน้อยลงด้วย
ถ้าหากชอบดูคะแนน Benchmark ก็ต้องบอกว่าได้คะแนน Antutu และ Adrobench อยู่ในเกณฑ์ดีครับ แต่ส่วนตัวแล้วผมไม่สนใจคะแนน Benchmark เท่าไร เพราะมันไม่สะท้อนความลื่นไหลของการใช้งานจริง ส่วนข้อดีของการใช้หน่วยความจำแบบ UFS 3.1 จะเห็นประโยชน์ชัดเจนช่วงที่ต้องโหลดไฟล์เกมมาติดตั้ง ที่จะรวดเร็วกว่าหน่วยความจำรุ่นที่ต่ำกว่า
ประสบการณ์ความบันเทิงที่น่าประทับใจ
จุดสังเกตของ POCO X3 Pro คือการเลือกใช้หน้าจอแบบ IPS ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีคุณภาพด้อยกว่า AMOLED แต่ต้องบอกว่า IPS ที่ POCO เลือกใช้บนรุ่นนี้มีคุณภาพที่น่าประทับใจ สีสันเอิบอิ่มมาเต็ม สู้แสงได้ดีพอตัว ยกเว้นการใช้งานกลางแจ้งที่แดดแรงๆ ก็อาจจะสู้แสงได้ไม่ดีนักแต่ก็ยังมองเห็นอยู่ นอกจากนี้ยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR10 และมี Reading mode รวมถึง Night mode ให้ใช้งานได้สบายตายิ่งขึ้น
ลำโพงคู่จัดเป็นส่วนเติมเต็มที่ดีที่ช่วยให้อรรถรสการดูหนังฟังเพลงและเล่นเกมออกมาดีมาก ด้วยเสียงที่ดังมาก เนื้อเสียงที่อยู่ในเกณฑ์ดี และทิศทางของเสียงที่มีมิติดีกว่า บวกกับตัวเลือกในการเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม. โดยไม่ต้องใช้ตัวแปลง ทำให้ประสบการณ์ด้านความบันเทิงของรุ่นนี้ออกมาดีมาก
ผิวสัมผัสที่สร้างความต่าง
ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือเรื่องของดีไซน์ที่มีคำว่า POCO ตัวใหญ่ๆ สะท้อนแสงเด่นชัดเจน ซึ่งในส่วนของฝาหลังจะมีความลื่นและความหนึบที่แตกต่างกันตามเส้นสีที่ลากตัด ส่วนขอบมุมต่างๆ จะถูกทำให้โค้งมนแบบ 2.5D ไม่มีอาการระคายนิ้ว และแม้ว่าน้ำหนักในเชิงสเปคแล้วจะไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปีนี้ แต่การถือจริงก็ให้ความรู้สึกหนักเหมือนกัน อาจเป็นเพราะการจัดวางสมดุลของเครื่องที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นก็เป็นได้
อุปกรณ์ในกล่องก็จัดว่าเป็นมาตรฐานของค่ายนี้ คือให้เคส แปะฟิล์ม มีสายชาร์จพร้อมอแดปเตอร์ และก็สติ๊กเกอร์สวยๆ ไว้โชว์ความเป็น Fanboy
ฟีเจอร์เด่นจาก MIUI 12
สิ่งสำคัญที่สร้างความต่างให้กับสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องคือเรื่องของ Software โดย MIUI มีจุดเด่นด้านการปรับแต่งที่เยอะมากๆ โดยเฉพาะการโคลนแอพที่รองรับแทบทุกแอพ ต่างจากสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ที่ทำได้เพียงบางแอพเท่านั้น และยังมี Second Space ที่แยกการใช้งานออกจากกันชัดเจน เสมือนว่าเรามี POCO X3 Pro ใช้งาน 2 เครื่อง
ในกรณีที่เน็ตมีปัญหา ก็มีตัวช่วยตรวจสอบว่าเน็ตมีปัญหาจริงหรือไม่ และอีกสารพัดลูกเล่นแบบที่ถ้าไม่เคยใช้ MIUI มาก่อนก็จะตื่นตาตื่นใจไม่น้อย หรือแม้แต่กระทั่งวิทยุ FM ก็ยังมีให้ใช้ด้วย
กล้องในแบบฉบับของ POCO
POCO X3 Pro มาพร้อมกล้องหน้าความละเอียด 20 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหลัง 4 ตัว แบ่งออกเป็น
- กล้องหลัง 48 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ขนาด 1/2” ขนาดพิกเซล 1.6μm 4-in-1 ( Pixel binning ) รูรับแสง f/1.79
- กล้องมุมกว้าง 8 ล้านพิกเซล รูรับแรง f/2.2
- กล้องมาโคร 2 ล้านพิกเซล f/2.4
- กล้องวัดความลึก 2 ล้านพิกเซล
ถ้ามองในแง่คุณภาพไฟล์แล้วก็ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่รุ่นที่กล้องดีที่สุดในช่วงราคาใกล้เคียง ส่วนหนึ่งก็เพราะ POCO ให้ความสำคัญกับสเปคและความแรงเป็นหลัก โดยคุณภาพไฟล์ที่ได้ก็อยู่ระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับราคา มีโหมดต่างๆ ให้ใช้งานครบถ้วนตามยุคสมัย พร้อมกับ Editor ที่สามารถเปลี่ยนท้องฟ้าได้แม้วันที่ฟ้าไม่เป็นใจ
บทสรุป POCO X3 Pro
ชัดเจนอยู่แล้วว่าแบรนด์นี้เกิดมาเพื่อคนรักความแรง และยังให้สิ่งต่างๆ ที่ฐานแฟนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอขนาดใหญ่ที่มี Refresh Rate และ Touch Sampling Rate สูงๆ รวมถึงลำโพงคู่ ส่วนเรื่องของกล้องแม้จะไม่ได้ดีที่สุดในราคาแต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดแล้วก็เข้าใจได้ เพราะสเปคที่ให้มันมันคุ้มมากๆ แล้ว ดังนั้นหากว่าคุณให้ความสำคัญกับความแรงเป็นหลักในงบที่จำกัดแล้ว POCO X3 Pro จัดเป็นอีกรุ่นที่น่าสนใจครับ