นับเป็นข่าวใหญ่ที่ทำเอาหลายคนล้อเลียนไม่น้อย กับการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ของ Xiaomi เพราะดูแล้วเหมือนจะเปลี่ยนจากเดิมน้อยมาก แต่ถ้ามองในมุมการออกแบบจะรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้ามองแบรนด์ฝั่ง Tech อย่าง Facebook หรือ Google ก็จะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ก็บิดนิดเดียวเช่นกัน แต่มันแฝงไปด้วยการคิดค้นและทดลองมากมาย ไม่ใช่แค่จับวางอย่างที่หลายคนคิด
ดีไซน์ใหม่โดย เคนยะ ฮาระ ผู้ออกแบบกราฟิกให้ MUJI
โลโก้ใหม่ของ Mi ถูกออกแบบโดยศาสตราจารย์เคนยะ ฮาระ (Kenya HARA) ประจำมหาวิทยาลัยศิลปะมุซาชิโนะและประธานศูนย์นิปปอนดีไซน์เซ็นเตอร์ (NDC) โดยได้เปลี่ยนบริเวณมุมของโลโก้เดิมให้ดูนุ่มนวลขึ้น มีส่วนโค้งมนมากขึ้นเพื่อเสริมสุนทรียะ
และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าตัวอักษร “MI” ก็ถูกออกแบบใหม่ด้วยเช่นกัน การเลือกใช้สียังคงเก็บสีส้มไว้ซึ่งเป็นสีประจำบริษัทเพื่อสานต่อความรู้สึกเยาว์วัยและมีชีวิตชีวาของแบรนด์ โดยมีสีรองสำหรับสินค้า Hi-End คือสีดำและสีเงิน
ในมุมของคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจเรื่องการออกแบบ อาจมองว่าใครๆ ก็ทำโลโก้แบบนี้ได้ แต่ถ้ามองแบบนักดีไซน์ที่ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ระดับโลก เค้ามีที่มาที่ไปและกระบวนการคิด อย่างเช่นรูปแบบระหว่างตัวกรอบที่มีความโค้งมนแต่ละระดับก็ให้อารมณ์ที่ต่างกัน
ศาสตราจารย์ฮาระได้ปรับแต่งค่าตัวแปรในสูตร Superellipse โดยการตั้งค่า n=3 ทำให้เกิดรูปทรงที่ลงตัวที่สุดระหว่างความเป็นวงกลมกับสี่เหลี่ยมเพื่อเน้นย้ำแนวคิด “Alive” เมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุที่มีมุมฉากแล้ว วงกลมจะดูเป็นรูปทรงที่ลื่นไหลกว่า สอดรับกับความยืดหยุ่นของแบรนด์เสียวหมี่ที่ไม่เคยหยุดยั้งและพร้อมรุดไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
รูปลักษณ์ใหม่ “Alive” ที่ผสานแนวคิดทางปรัชญา
ศาสตราจารย์ฮาระเสนอแนวคิดการออกแบบที่สำคัญมากคือแนวคิด “Alive” โดยเชื่อว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเสียวหมี่จะช่วยอำนวยความสะดวก ควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ถึงขีดสุด และสอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว
ในแง่รูปลักษณ์ แนวคิด “Alive” สะท้อนถึงปรัชญาของเสียวหมี่และช่วยให้แบรนด์มีภาพลักษณ์เชื่อมโยงกับวงจรชีวิต ผู้คนมีชีวิต หรือกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสร้างโดยมนุษย์ เทคโนโลยีจึงมีชีวิตเช่นเดียวกัน และเทคโนโลยีจะเติมเต็มความต้องการต่างๆ ของชีวิตตลอดไป
การจัดวางโลโก้อย่างมีพลัง ทำให้โลโก้ดูมีชีวิต
โลโก้ใหม่จะไม่วางที่มุมใดมุมหนึ่งของสินค้าที่มักจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละอย่างที่ต่างกัน โลโก้ใหม่ของเสียวหมี่จึงเป็นตราสัญลักษณ์ที่มีพลัง สอดรับกับหลักการคิดทางปรัชญา และดูมีชีวิตชีวา
แนวคิด Alive สะท้อนถึงวิธีการคิดและการตอบสนองต่อจุดเปลี่ยนต่างๆ ในยุคของการเชื่อมต่อทุกสิ่งอย่างอัจฉริยะ (Intelligent Interconnectivity) นั่นเอง
ภาพประกอบ : theverge