Xiaomi เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในเรื่องการผลิตสมาร์ทโฟนสเปกดีในราคาประหยัด จนระยะเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่สมาร์ทโฟนเกือบทุกแบรนด์หันมาทำสมาร์ทโฟนสุดพรีเมี่ยมที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่สเปกที่ดี แต่ยังเน้นในเรื่องของวัสดุและองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างจอภาพ ลำโพง กล้อง ฯลฯ ทำให้สมาร์ทโฟนเรือธงหลาย ๆ แบรนด์นั้นต้องเพิ่มราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทาง Xiaomi เองก็ได้ประกาศแล้วว่า สมาร์ทโฟนรุ่นต่อ ๆ ไปจาก Xiaomi นั้นจะมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาร์ทโฟนสเปกดีราคาประหยัดจาก Xiaomi จะไม่มีอีกต่อไป เพราะ Xiaomi เองก็ได้นำสมาร์ทโฟนซีรี่ส์ Redmi มาแยกออกเป็นแบรนด์ลูกที่ผลิตสมาร์ทโฟนสเปกดีในราคาประหยัด สานต่อเจตนารมณ์เดิมของ Xiaomi นั่นเอง
และนี่ก็เป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ลูก Redmi ที่มาพร้อมกับ Redmi Note 7 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกหลังจากที่มีการแยก Redmi ออกมาเป็นแบรนด์ลูก โดยเปิดตัวในประเทศไทยด้วยราคาเขย่าวงการที่เริ่มต้นเพียง 4,999 บาท สำหรับรุ่น Ram 3 GB ความจุ 32 GB และยังมีอีก 2 รุ่นย่อยให้เลือก คือรุ่น Ram 4 GB ความจุ 64 GB ราคา 6,599 บาท (วางจำหน่ายผ่านทาง AIS เท่านั้น) และรุ่น Ram 4 GB ความจุ 128 GB ราคา 6,799 บาท ซึ่งรุ่นที่ทางเรานำมารีวิวนั้นเป็นรุ่น Ram 4 GB ความจุ 64 GB
สเปก
- ชิปเซ็ต Qualcomm® Snapdragon™ 660 AIE Octa-core
- RAM 3 GB และ 4 GB
- Storage สำหรับรุ่น RAM 3 GB มีความจุ 32 GB สำหรับรุ่น RAM 4 GB มีความจุ 64 GB และ 128 GB รองรับ microSD ความจุสูงสุด 256 GB)
- จอแสดงผล Dot Drop 6.3 นิ้ว อัตราส่วนหน้าจอ 19.5:9 ความละเอียด FHD+ 2340×1080 พิกเซล
- กล้องหน้าแบบป๊อปอัพ ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อม AI Beautify
- กล้องหลัง 2 ตัว กล้องหลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซล รูรับแสงขนาด f/1.8 กล้องตัวที่สองความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อม AI ช่วยถ่ายภาพ
- แบตเตอรี่ 4000mAh รองรับเทคโนโลยี Qualcomm®️ Quick Charge™️ 4
- ระบบปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือด้านหลังตัวเครื่อง
- ระบบปฎิบัติการ Android 9 Pie ที่ครอบทับด้วย MIUI 10.3.2
- Bluetooth 5.0
- พอร์ตแบบ USB Type-C
ดีไซน์สุดพรีเมี่ยม แข็งแรงทนทานด้วยกระจก Gorilla Glass 5 ทั้งหน้าและหลัง
กระจก Gorilla Glass เป็นกระจกที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรงทนทานและได้รับการยอมรับในวงการสมาร์ทโฟนอย่างเป็นวงกว้าง สำหรับสมาร์ทโฟนเรือธงหลาย ๆ รุ่นที่ราคาเกิน 20,000 บาทนั้นก็ใช้กระจก Gorilla Glass กันแทบทั้งหมด ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า Xiaomi จะจัดกระจก Gorilla Glass 5 มาให้ Redmi Note 7 ที่มีราคาเริ่มต้นไม่ถึง 5,000 บาททั้งด้านหน้าและด้านหลัง
สีสันของตัวเครื่องเองนั้นก็สวยงามไม่แพ้สมาร์ทโฟนราคาแพง มีการไล่สีสะท้อนแสงเมื่อพลิกเครื่องไปมา
สำหรับช่องใส่ซิมการ์ดจะเป็นแบบไฮบริด สามารถเลือกใส่ 2 ซิม หรือใส่ 1 ซิมกับ 1 MicroSD
ขอบเครื่องด้านบนมีรูหูฟังขนาด 3.5 มม. และมีเซ็นเซอร์ IR blaster สำหรับควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า
สำหรับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือจะอยู่ที่บริเวณฝาหลังของเครื่อง และจากรูปจะสังเกตได้ว่าเลนส์กล้องนั้นยื่นนูนออกมาจากฝาหลังค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นควรหาเคสใส่ดี ๆ
หน้าจอขนาด 6.3 นิ้ว พร้อมรอยบากแบบครึ่งวงกลม
Redmi Note 7 มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 6.3 นิ้วที่กลายเป็นจอขนาดปกติไปแล้วสำหรับสมาร์ทโฟนยุคนี้ พร้อมกับรอยบากหรือติ่งที่มีลักษณะคล้ายกับครึ่งวงกลมขนาดจิ๋ว ทำให้ไม่รู้สึกเกะกะมากเท่าไหร่เวลาใช้งาน
แต่ถ้าหากผู้ใช้งานรู้สึกเกะกะตา ก็สามารถซ่อนรอยบากได้ และใช้งานได้เต็มตามากกว่าเดิมด้วยการเปลี่ยนไปใช้ Gesture แทนปุ่มในจอแบบดั้งเดิม
สำหรับสีสันของหน้าจอจะมีความหม่นเล็กน้อยตามแบบฉบับของสมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่าหลักหมื่นจนถึงหลักหมื่นต้น ๆ แต่สำหรับความคมชัดนั้น Redmi Note 7 ถือว่าทำได้ดีเลย ภาพรวมแล้วถือว่าสู้กับรุ่นราคาหมื่นต้น ๆ ได้สบายมาก
ข่าวดีก็คือ Redmi Note 7 มาพร้อมกับ Widevine DRM ที่ระดับ L1 แล้ว ทำให้สามารถดู Netflix ที่ความละเอียด HD ได้เหมือนกับแบรนด์อื่น ๆ สักที และก็ดีใจมากที่คนเขียนจะไม่ต้องบ่นเรื่องนี้เวลารีวิวสมาร์ทโฟนของ Xiaomi รุ่นต่อ ๆ ไปแล้ว
ทดลองดู Spider-Man: Homecoming ใน Netflix พบว่าภาพคมชัดขึ้นกว่าตอนดูใน Mi 8 Pro และ Mi MIX 3 ที่เป็น Widevine DRM ระดับ L3 อย่างเห็นได้ชัด
ใช้งานอย่างลื่นไหล ด้วย MIUI
Redmi Note 7 มาพร้อมกับ Android 9 Pie ที่ครอบทับด้วย MIUI 10.3.2
หากปัดมาทางด้านซ้ายของ Home screen จะพบกับสิ่งอำนวยความสะดวก 6 อย่าง ได้แก่
- Shortcuts ทางลัดสำหรับเข้าใช้งานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของแอปที่ตั้งค่าไว้
- Recommended แนะนำแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ (?) สำหรับผู้ใช้
- Security ใช้สำหรับเคลียร์ไฟล์ขยะในคลิกเดียว
- A brief note เอาไว้จดโน้ตสั้น ๆ เพื่อกันลืม อันนี้เป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์มาก เวลาปลดล็อคเครื่องเข้ามาในหน้า Home screen ก็สามารถเลื่อนดูได้สะดวก
- Calendar events ปฏิทินสำหรับเตือนหมายกำหนดการ
- Stocks เอาไว้สำหรับดูหุ้น สามารถเพิ่มบริษัทเข้าไปได้
ในส่วนของแอป Security จะมีฟีเจอร์ต่าง ๆ มากมาย ผู้ใช้งานสามารถ Optimize ระบบให้ทำงานได้ดีขึ้นโดยกดปุ่ม Optimize ในวงกลมด้านบน นอกจากนี้ก็จะมีฟีเจอร์อื่น ๆ ได้แก่
- Cleaner ทำหน้าที่จัดการพวกไฟล์ Cache และไฟล์ต่าง ๆ ที่ไม่สำคัญไม่ให้กินพื้นที่เครื่อง
- Security scan ทำหน้าที่ตรวจหาไวรัสและยังเช็คเกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านการเงินได้อีกด้วย
- Battery optimization ตรวจสอบการใช้งานแบตเตอรี่ของแอปต่าง ๆ และตั้งค่าโหมดประหยัดพลังงานให้ทำงานเป็นเวลาได้อีกด้วย
- Boost speed จัดการเคลียร์แอปต่าง ๆ เพื่อเคลียร์พื้นที่ Ram
- Deep clean ในส่วนนี้จะเป็นการจัดการไฟล์ต่าง ๆ ที่กินพื้นที่ในเครื่องแบบละเอียด โดยแยกไฟล์ออกเป็นแต่ละประเภทเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจลบ
- Game speed booster ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เล่นเกมได้ลื่นไหลยิ่งขึ้นและป้องกันการรบกวนขณะเล่นเกม
- App lock ทำหน้าที่ป้องกันผู้ที่ไม่รู้รหัสเข้าถึงข้อมูลภายในแอปที่ล็อคเอาไว้ได้
- WhatsApp cleaner ทำหน้าที่เคลียร์ข้อมูลต่าง ๆ ของแอป WhatApp โดยเฉพาะ
- Facebook cleaner ทำหน้าที่เคลียร์ข้อมูลต่าง ๆ ของแอป Facebook โดยเฉพาะ
- Solve probrems ช่วยตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
- Blocklist ใช้สำหรับบล็อค SMS และเบอร์โทรที่เราไม่ต้องการให้ติดต่อ
- Second space ตรงส่วนนี้จะทำการแยกพื้นที่ในเครื่องออกเป็น 2 ส่วนซึ่งแยกการทำงานออกจากกันเพื่อปกป้องข้อมูลของเราที่ซ่อนอยู่ในนี้ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในนี้ก็จะไม่ส่งผลต่อพื้นที่หลักที่ใช้งานประจำ ในส่วนนี้ทำงานได้สะดวกมากเพราะสามารถตั้งลายนิ้วมือแยกต่างหากเพื่อเข้าถึง Second space ได้ทันทีหลังปลดล็อค
- Dual apps ช่วยให้สามารถล็อคอินแอปต่าง ๆ ได้ถึง 2 ไอดีในเครื่องเดียว เหมาะกับคนที่เล่นโซเชียล 2 แอคเคาท์
- Test network เอาไว้ทดสอบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องลงแอปเสริม
- Data usage ตรวจสอบการใช้ข้อมูลมือถือและจำกัดการใช้งานของแต่ละแอปได้
- Manage apps จัดการอัปเดตแอป ลบแอป และดูเรื่องการขออนุญาตจากแอปที่จะขอเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ของเครื่องได้อีกด้วย
ประสบการณ์เล่นเกมหลักหมื่น ในราคาเริ่มต้นครึ่งหมื่น
ถึงแม้ว่าชิปเซ็ต Snapdragon 660 จะเปิดตัวออกมาแล้วร่วม 2 ปี แต่ประสิทธิภาพในการทำงานก็โหดใช่เล่น เกมระดับ Mass ทั้งหลายแหล่ที่อยู่บน Play Store เรียกได้ว่าเอาอยู่แทบทุกเกม
เมื่อทำงานร่วมกับฟีเจอร์ Game speed booster ของ MIUI ทำให้เล่นเกมไหน ๆ ก็เอาอยู่
ทดลองเล่นเกม PUBG Mobile โดยปรับกราฟิกสูงสุดตามที่เกมอนุญาตให้เครื่องเปิดได้ก็สามารถเล่นได้แบบลื่น ๆ
นอกจากช่วยเพิ่ม Performance ในการเล่นเกมแล้ว เมื่อเปิดใช้งาน Game speed booster ก็จะมีช็อตคัทขนาดเล็กอยู่บนมุมของหน้าจอ เมื่อกดแล้วก็จะมีแถบเล็กให้ตั้งค่าว่าจะบันทึกวิดีโอหน้าจอ แคปหน้าจอ เคลียร์โปรแกรมที่เปิดในพื้นหลัง และปิดการแจ้งเตือนไม่ให้โผล่ขึ้นมาเกะกะหน้าจอ
กล้องหลังคู่ ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล + 5 ล้านพิกเซล พร้อม AI
Redmi Note 7 มาพร้อมกล้องหลัง 2 ตัว กล้องตัวแรกใช้เซ็นเซอร์ Samsung ISOCELL GM1 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล รูรับแสงขนาด f/1.8 ส่วนกล้องตัวที่ 2 ใช้เซ็นเซอร์ Samsung S5K3M5 สำหรับทำหน้าที่วัดระยะความลึก
สำหรับเซ็นเซอร์ Samsung ISOCELL GM1 ที่เป็นเซ็นเซอร์หลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซลนั้นใช้เทคนิครวม 4 พิกเซลเข้าด้วยกันเป็น 1 พิกเซล ซึ่งถึงแม้ว่าทางเทคนิคจะมีความละเอียดสูงถึง 48 ล้านพิกเซล แต่ในการใช้งานจริงนั้นถ้าปรับความละเอียดเป็น 12 ล้านพิกเซลจะให้คุณภาพที่ดีกว่า
จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของป้ายที่ตั้งอยู่บนแท่งแบริเออร์เมื่อถ่ายที่ความละเอียด 12 ล้านพิกเซลนั้นจะมีรายละเอียดที่ดีกว่าตอนถ่ายที่ความละเอียด 48 ล้านพิกเซลแบบเห็นได้ชัด
และในยุคที่ AI กำลังบูมจนแทบไปสิงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง Redmi Note 7 เองก็ได้ใส่ระบบ AI มาให้กล้องเหมือนกับรุ่นพี่อย่างตระกูล Mi ที่ตามด้วยตัวเลขและตระกูล MIX โดย AI จะทำการตรวจจับวัตถุหรือพื้นหลังในภาพแล้วตั้งค่าให้เหมาะสม
นอกจากนี้ถ้านำกล้องมาถ่ายภาพคน เมื่อ AI ตรวจจับใบหน้าในภาพได้ก็จะขึ้นให้เลือกเพิ่มว่าจะถ่ายด้วยโหมด Contre-jour ที่จะจำลองการจัดแสงให้อยู่หลังคนที่ถูกถ่าย ทำให้รูปคนดูเปล่งปลั่งมากขึ้นจากการเน้นขอบ หรือโหมด Silhouette ที่เมื่อถ่ายออกมาแล้วคนในภาพที่ถูกถ่ายจะเป็นเงาสีดำตัดกับฉากหลังที่เป็นแสงสว่าง
สำหรับโหมดถ่ายภาพกลางคืนโดยไม่ใช้ขาตั้งนั้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นในปัจจุบันต้องมี Redmi Note 7 ก็ได้ใส่โหมดนี้มาให้ด้วยเช่นกัน
แต่จากการทดลองในหลาย ๆ สถานการณ์นั้นพบว่าโหมดถ่ายภาพกลางคืนของ Redmi Note 7 นั้นยังคงจัดการกับเรื่อง Noise ได้ไม่ดีและบางสถานการณ์นั้นแทบไม่ต่างกับการถ่ายด้วยโหมดปกติเท่าไหร่
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Redmi Note 7
กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อม AI Beauty
โหมด AI Beauty สามารถเลือกปรับความเนียนของใบหน้าได้ 5 ระดับ
และยังมีให้ปรับส่วนต่าง ๆ ของใบหน้าได้อีกด้วย โดยสามารถปรับโครงหน้า ขนาดของตา โทนผิว และความสมูทได้
สำหรับกล้องหน้านั้นก็มีโหมด Portrait สำหรับถ่ายหน้าชัดหลังเบลอด้วยเช่นกัน
แบตเตอรี่ ถ้ามีอุปกรณ์ชาร์จเร็วก็ไวดี แต่การบริโภคยังคงแบบฉบับ Mi เหมือนที่ผ่านมา
สำหรับเรื่องแบตเตอรี่ของ Redmi Note 7 นั้นก็เหมือนกับ Mi รุ่นอื่น ๆ ที่เคยรีวิวไป ถ้าหากเราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเอาไว้ตลอดเวลาแบตเตอรี่ก็จะมีอัตราการลดลงที่ค่อนข้างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเครื่องจะถูกวางเอาไว้เฉย ๆ ก็ตาม
แต่ก็ยังมีเรื่องดีที่น่าชื่นชม เพราะเจ้า Redmi Note 7 นั้นรองรับเทคโนโลยี Qualcomm®️ Quick Charge™️ 4 ด้วย!!! ไม่เคยเห็นมาก่อนในสมาร์ทโฟนที่ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 5,000 บาท ด้วยอานิสงค์จากการที่คนเขียนใช้ Google Pixel 2 เป็นเครื่องหลักทำให้มีอุปกรณ์ชาร์จไวที่เป็นสายเป็นหัว Type-C ทั้ง 2 ด้าน เลยลองจับมาชาร์จกับเจ้า Redmi Note 7 สักหน่อย ซึ่งผลที่ได้จัดว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะชาร์จได้ไวมาก ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่มีแบตเกิน 60% ขึ้นไป ชาร์จไม่กี่นาทีก็ขึ้นมาหลายเปอร์เซ็นต์
เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ารอบตัว ด้วย Remote Note 7
Redmi Note 7 นั้นมีเซ็นเซอร์ IR Blaster ติดมาด้วย ทำให้ Redmi Note 7 นั้นสามารถทำตัวเป็น Remote เพื่อใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างได้
โดยจะทำการควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน Mi Remote และสามารถควบคุมได้หลายอย่าง เช่น โทรทัศน์ กล่องทีวี แอร์ พัดลม เครื่องเล่นดีวีดี กล้องถ่ายรูป ฯลฯ
จากการนำไปทดลองใช้กับโทรทัศน์และแอร์อีกจำนวนหนึ่ง พบว่าใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร บอกลาปัญหารีโมตหายได้เลย
สรุปภาพรวม
Redmi Note 7 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดอีกรุ่นหนึ่งที่มีสเปคต่อราคาคุ้มค่ามาก ถ้านับในเรื่องของสเปคพื้นฐานอย่างชิปเซ็ต แรม ความจุ และความละเอียดหน้าจอนั้นสามารถขึ้นไปเทียบชั้นกับสมาร์ทโฟนราคาหมื่นต้น ๆ ได้เลยตามที่ได้พูดไว้ในงานเปิดตัว และสิ่งที่ทำให้แตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งในช่วงราคาเดียวกันคือการให้พอร์ต USB Type-C มาด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าในยุคนี้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ควรเลิกใช้พอร์ต Micro-USB และหันมาใช้พอร์ต USB Type-C กันได้แล้ว
แต่ด้วยราคาเริ่มต้นที่ถูกกว่าคู่แข่งที่นำมาเปรียบเทียบด้วยถึงเท่าตัว สิ่งนึงที่เห็นได้ชัดเลยว่า Redmi Note 7 นั้นสู้ไม่ได้คือเรื่องกล้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะด้วยราคาที่ถูกกว่าถึงเท่าตัวนั้นจะต้องลดทอนบางสิ่งบางอย่างลงไปบ้างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น Redmi Note 7 จึงเหมาะกับมนุษย์ทำงานที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนไว้ใช้งานทั่ว ๆ ไป ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมบ้างเพื่อคลายเครียด สามารถชาร์จแบตก่อนมาทำงานหรือก่อนกลับบ้านได้อย่างรวดเร็วเพื่อเอาไว้ใช้ระหว่างทาง และ Redmi Note 7 นั้นจะเหมาะกับคุณมาก ถ้าหากคุณเป็นคนที่ทำรีโมตโทรทัศน์หรือรีโมตแอร์หายบ่อย ๆ หรือในกรณีที่คุณมีสมาร์ทโฟนระดับเรือธงและกำลังมองหาสมาร์ทโฟนอีกเครื่องไว้เป็นเครื่องสำรอง หรือกำลังมองหาสมาร์ทโฟนเครื่องแรกสำหรับบุตรหลาน Redmi Note 7 ก็ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ว่ามาเช่นกัน
“สเปกต่อราคาคุ้มค่า ใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหา ส่วนกล้องพอไปวัดไปวา”