ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ

นี่คือช่วงเวลาที่ผู้คนในยุค 90 เริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคม ประกอบกับการเข้าสู่สังคมออนไลน์ ทำให้มีการย้อนเอาห้วงเวลาที่มีความสุขของคนยุคนั้นกลับมาเล่าซ้ำอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง กาตูน ขนม เกม ฯลฯ และสิ่งที่พลาดไม่ได้คือเกมที่ดังข้ามยุคและเป็นตัวบุกเบิกเกมออนไลน์อย่าง Ragnarok ที่เล่นกันทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลานั้น

ความจริงแล้วผมร่างบทความนี้ไว้ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2017 แต่ไม่ก็ไม่มีโอกาสเอามาเล่าสักที จนกระทั่ง Ragnarok กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนสมาร์ทโฟน

มนต์เสน่ห์ของยุค

ในช่วงคาบเกี่ยวของยุค 90 จนถึงยุค 2000 ต้นๆ มีมนต์เสน่ห์หลายอย่างที่ทำให้หลายคนหลงใหล ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวระหว่างการถ่ายเปลี่ยนวัฒนธรรมของยุค Analog เข้าสู่ยุค Digital โดยเฉพาะการเปิดโลกให้ผู้คนเข้าสู่อินเตอร์เน็ตในช่วง Modem 56k ที่มีเสียงการเชื่อมต่อสัญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ติดหูคนยุคนั้น

นี่คือเสียงนายด่านที่กำลังเปิดประตูให้ผู้คนก้าวเข้าสู่โลกไร้พรมแดน โลกที่มีทุกสิ่งที่เราต้องการค้นหาไม่ว่าจะเป็นโลกที่สว่างสดใสหรือเส้นทางอันมืดมนของโลกมืด สุดแท้แต่เราจะเลือกสรร

ในช่วงที่หลายคนกำลังสนุกกับ Game Console อย่าง PlayStation แต่อีกฝั่งก็เริ่มมี Game Online ที่พัฒนาง่ายๆ ด้วย Macromedia Flash เป็นลักษณะ Mini Game ที่ได้รับความนิยมหลายอันเช่น Pikachu Volleyball, Cat vs Dog ก่อนที่บริษัท Macromedia จะถูก Adobe ซื้อและเปลี่ยนเป็น Adobe Flash (ก่อนจะโดน Apple ฆ่าทิ้งอีกทอด ด้วยการประกาศง่ายๆ ของ Jobs ว่าจะไม่รองรับ Flash …พูดแค่นี้ตายเลย ๕๕๕)

ช่วงนั้นเกมฝั่ง PC ก็เริ่มมีพัฒนาออกมาเยอะขึ้น และที่คนติดกันงอมแงมก็มีหลายเกมเช่น The Sims กระทั่งเกมแนว MMORPG เริ่มเข้ามาในประเทศไทยด้วย King of Kings แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากกราฟิกที่ไม่โดนใจเท่าไร

หลังจากนั้นก็เริ่มมีเกมแนวนี้เข้ามาในบ้านเราจนกระทั่งถึงคิวของ Ragnarok ที่มากับ Asiasoft แล้วก็ฮิตกันทุกครัวเรือน ติดงอมแงมตั้งแต่ปู่ยันหลาน

ตัวละครและกราฟิกที่เป็นมิตร

หลังจากที่เสียงสวรรค์จากการต่อเน็ต 56k เปิดทางรับเราเรียบร้อย ก็ถึงคราวของเสียงแห่งความสุขด้วยเพลงประกอบของ Ragnarok …นั่นแหละ โลกอีกใบกำลังจะเปิดขึ้นแล้ว

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 3

ความประทับใจแรกที่ทำให้ผู้คนเปิดใจลองเล่น Ragnarok ก็คือ “ความน่ารัก” ของตัวละครและกราฟิกต่างๆ ซึ่งตัวเกมทำให้เรารู้สึกเหมือนเล่นเกม 3D ที่หมุนได้รอบทิศแต่ความจริงแล้วกราฟิกต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาแบบ 2D แล้วใช้วิธีพลิกกลับด้าน …ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ รู้แค่ว่ามันสวยแค่นั้นพอแล้ว

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 5
รูปสมัยเล่น Biochemist ที่เซิฟเวอร์ Sarah ชื่อ Nekkab

การเลือกใช้แสงสีเสียงให้ความรู้สึกเป็นกาตูนที่เน้นความน่ารักดึงดูดทุกเพศทุกวัย มากกว่าเกมแนว MMORPG อื่นๆ ที่เน้นความดุดันแสงสีเอฟเฟ็กบาดตาแสบยันเซี่ยงจี๊

มากกว่าความเป็นเกม แต่เป็นสังคมจำลอง

ยุคนั้นผู้คนติดต่อกันผ่าน MSN เป็นหลัก ทำให้ไม่มี Virtual Community เหมือนสมัยนี้ที่มี Platform ที่แข็งแกร่งอย่าง Facebook

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 7

ในช่วงนั้นเราเห็นความพยายามที่จะสร้างเว็บให้เหมือนสังคมจำลอง ในลักษณะที่ให้ผู้คนเข้าไปจับจอง “บ้าน” หรือแต่งตัวละครเพื่อให้เกิดการพบปะผู้คนหน้าใหม่ หรือแม้แต่เว็บที่เปิดให้ทิ้งไอดี MSN พร้อมกับแนะนำตัว

Ragnarok คือความเป็น Virtual Community หรือ Social Network ที่แข็งแกร่งมากในยุคนั้น หลายคนได้เพื่อนใหม่หรือบางคนได้แฟนเลยก็มีเยอะ แต่การจะเป็นเกมที่ดีได้ก็ต้องมี Game Play ที่ดึงดูดเช่นกัน

Ragnarok เป็นสูตรสำเร็จที่เข้ามาอุดรอยรั่วในความเป็น Virtual Community ที่สามารถเลือกแต่งตัวได้ดั่งใจ และยังเอื้อต่อการสร้างสัมพันธ์ใหม่ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วย Tank, Heal หรือ Emotion ต่างๆ รวมถึงการเดาใจผู้คนที่มายืนออจุดเดียวกัน มันช่วยสร้างประเด็นให้เกิดหัวข้อในการชวนคุยมากกว่าการทักทายโดดๆ ให้เขินอาย จึงทำให้เกิดความสนิทสนมระหว่างผู้เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความอยากเข้าเกมแม้จะเข้าไปนั่งเฉยๆ ก็ตาม

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 9

ความรู้สึกอิสระและเป็นตัวเอง

สิ่งที่ Ragnarok มอบให้ตั้งแต่เริ่มเข้าเกมคือการยื่นอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้เล่น ด้วยการให้เราอัพค่าพลัง Status ได้แต่แรก ทำให้เกิดมิติใหม่ๆ ที่มากกว่าการเลือกตัวละครที่มีให้เลือกอย่างจำกัด

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 11

เกมส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักบังคับให้เลือกตัวละครแบบ Preset ที่เด่นแต่ละด้าน เช่น ตัวนี้ตบแรง, ตัวนี้ถึก, ตัวนี้เร็ว …แต่ Ragnarok ให้เราปรับได้ตามชอบ ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดและมีความเป็นเจ้าของมากกว่า

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 13

Ragnarok เลือกใช้วิธีการเล่นแบบ Open World แบบที่อยากเดินไปไหนก็ไป อยากซื้ออะไรก็ได้และก็มีเควสแทรกเป็นระยะ ต่างจากบางเกมที่ใช้ Quest Driven แบบที่เดินเรื่องและเก็บเลเวลด้วยการทำเควสเป็นหลัก

มันทำให้ผู้เล่นรู้สึกถึงความ “อิสระ” ต่างจากเกมอื่นๆ ในแบบที่เราสามารถปีนเกลียวห้าวไปจิ้มพุงบอสแล้วนอนตายก็ยังได้ สามารถเดินไปได้ทุก Map (ถ้าพกเรดและวิงเยอะพอ) ไม่ใช่ว่าต้องไต่ไปทีละขั้นเหมือนหลายๆ เกม หรือบางคนเลเวลเยอะแต่แอ๊บอ่อนหัดแกล้งใส่ของถูกๆ ก็มี

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 15

ระบบ Party มีไว้ให้ช่วยกันเก็บเลเวลแบบไม่บังคับ จึงทำให้คนที่รักสันโดษสามารถเล่นคนเดียวได้ ไม่เหมือนบางเกมที่บังคับเลยว่าถ้าจะทำเควสต้องมี Party ซึ่งนั้นก็รวมถึงระบบ Guild ด้วย

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 17

เมื่อเลเวลอัพก็จะได้ Point เพื่อเพิ่ม Status และ Skill ซึ่งแน่นอนว่าเกมนี้ก็ให้เราเลือกอัพได้เอง ไม่ได้บังคับอัพให้เราเหมือนเกมอื่น และยังมีผัง Skill ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนมากนัก ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 19

และด้วยความเปิดกว้างนี้เอง มันจึงทำให้เราได้เห็นส่วนผสมที่เพี้ยนๆ ออกมาอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็น “เสน่ห์” เช่นการเอา Novice ลากยาวไม่เปลี่ยนอาชีพ หรือเอาสาย Acolyte มาอัพ Str ไล่ต่อยชาวบ้าน จนทางนักพัฒนาต้องทำอาชีพตัวละครออกมารองรับคนพวกนี้

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 21

รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถสร้างได้หลายตัวละคร จึงเกิดการทดลองสิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่การแอบสร้างตัวละครที่เพื่อนฝูงไม่รู้จักเพื่อแอบทำบางสิ่ง และยังมีพื้นที่ให้แสดงตัวตนได้อีกหลายรูปแบบเช่น การสร้าง Novice ง่อยๆ ขึ้นมา แต่ใส่เครื่องประดับระดับ MVP เพื่อสร้าง Gimmick ให้เกิดการเตะตาของผู้คน

ย้อนรอย Ragnarok Online เกมอมตะที่ครองใจผู้คนนับทศวรรษ 23

การมอบอำนาจการตัดสินให้ให้กับผู้เล่น มันทำให้เรารู้สึกถึงความเป็น “เจ้าของ” ในตัวละครอย่างแท้จริง จนเกิดความผูกพันในแง่ต่างๆ ตามมา …มันไม่ใช่แค่การเล่นแก้เซ็ง แต่มันคือตัวเราในอีกมิติ

โด่งดังคนแห่เล่นจนต้องมีกฎหมายควบคุม

Ragnarok โด่งดังถึงขั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องออกมาตรการมาควบคุม ทั้งการลงทะเบียนบัตรประชาชน, จำกัดอายุเด็กไม่ให้เล่นเกิน 22:00 น. รวมถึงตีความ Ragnarok เป็นทรัพย์สินออนไลน์ ทำให้การ Hack เกมจัดว่ามีความผิดทางกฎหมาย และผู้ที่ถูก Hack ก็ต้องแจ้งความและนำใบแจ้งความไปติดต่อที่ Asiasoft ถึงจะได้ Item คืน

เมื่อ Ragnarok จัดเป็นทรัพย์สินออนไลน์ และการโจรกรรมทรัพย์สินเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เรื่องราวก็เลยบันเทิงเริงใจ

ในช่วงนั้นเอง เพื่อนผมก็เป็นผู้โชคร้ายที่โดน Hack แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องตลกของคนรอบข้าง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบปากคำผู้เสียหาย ว่าอะไรหายและหายที่ไหน …ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น!

บทสนทนาอันชวนหัวเราะ ณ สถานีตำรวจบุรีรัมย์ ที่ผมจำรายละเอียดได้ไม่มากนัก ก็ออกมาในลักษณะประมาณว่า…

เพื่อน: มาแจ้งความของหายครับ
ตำรวจ: ของอะไรหายครับ

เพื่อน: โดนแฮกครับ หายทั้งตัวเลย
ตำรวจ: มีอะไรหายบ้างครับ

เพื่อน: มีหมวกฟาง โล่กบแดง ดาบสามเหมือง บลาๆๆ
ตำรวจ: . . .

และแล้วตำรวจก็เรียกเพื่อนมาทั้งโรงพัก เพื่อมาสอบปากคำพร้อมกับเสียงหัวเราที่ทำเอาเพื่อนผมเสียความมั่นใจ

ตำรวจ: แล้วหายที่ไหน
เพื่อน: พรอนเทร่า

ตำรวจ: พรอนเทร่านี่อยู่ที่ไหน
เพื่อน: ตอนเกิดมาก็อยู่ที่นี่เลย เป็นเมืองหลวง อยู่บนพายอนอีกที

. . . ยาวล่ะทีนี้ . . .

ตำรวจ: แล้วกบแดงมันไปอยู่ในโล่ได้ยังไง ใส่แล้วได้อะไร ราคาเท่าไร บลาๆๆๆๆ

. . . บันเทิงเริงใจผองเพื่อน แต่เจ้าตัวไม่ขำ ๕๕๕ . . .

นอกจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีสื่อต่างๆ ที่มักหยิบยกเรื่องราว Ragnarok เข้ามาเกี่ยวด้วย แม้กระทั่งเพลง “ใจให้ไป” เวอร์ชั่นของ Big3 ในสังกัดแกรมมี่ก็มีท่อนที่ชวนไปเล่น Ragnarok

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา

แม้ตัวเกมจะมีการอัพเดท Patch เพิ่มตัวละครและปรับสมดุลอยู่เป็นระยะ ทำให้ไม่มีใครที่เก่งโดดจนเกินไป แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปีก็ดูเหมือนว่าทางทีมพัฒนาเริ่มหมดมุก ใช้วิธีเดิมๆ ในการเพิ่ม Monster และ Item ไม่ได้มี Engine อะไรใหม่ๆ บวกกับการมาของ Facebook ที่ทดแทนความเป็น Virtual Community และยังมีเกมอื่นๆ ที่เข้ามาแข่ง รวมถึงอภิมหา Bot จนกลายเป็นเกมไร้คนและทำให้ความนิยมเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวลงไป แต่ซากอารยธรรมหลายอย่างจาก Ragnarok ยังคงฝังอยู่ในวัฒนธรรมออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่คำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นในตอนนั้นให้เราได้นึกถึง

แม้ Ragnarok จะปิดตัวลงไป แต่ก็ยังคงเป็นสุดยอดเกมอมตะที่ครองใจผู้คนมากมายนับทศวรรษ และจะตราตรึงไปตลอดกาล

ภาพประกอบ: roclassic-guide  , roclassic-guide  , square-enix , applestory.biz , wiki.jellyro.com , ggdeeofficial.com