
รีวิว realme XT | หน้าจอ Super AMOLED กล้อง 4 ตัวสุดเด็ด 64 ล้านพิกเซล ชาร์จแบตเร็วใช้ได้ยาวนาน สุดอลังการด้วยงานดีไซน์
realme XT จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนอีกหนึ่งรุ่นที่หลายคนกำลังจับตาและรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเข้ามาวางจำหน่ายในไทยสักที เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราก็ได้แกะกล่องพรีวิวกันไปแล้วและจากที่ลองใช้งานมาได้ระยะเวลาหนึ่งก็นับว่าน่าเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าประทับใจมาก ๆ เดี๋ยวจะมารีวิวให้ดูกันว่า realme XT นั้นใช้งานจริงแล้วเป็นยังไงกันบ้าง

ดีไซน์สวยสะดุดตา ด้วย Hyperbola Light Streaks
ฝาหลังของ realme XT นั้นเป็นกระจก Gorilla Glass 5 โค้งแบบ 3D ออกแบบให้มีลวดลายเส้นโค้งเวลาสะท้อนแสงที่มีชื่อเรียกแบบเท่ ๆ ว่า Sparkling Hyperbola Light

ออกแบบมาได้สวยงามมากเลยทีเดียว มองมุมไหนก็สวยสะดุดตา

นอกจากนี้ยังถูกดีไซน์มาให้ป้องกันตัวเครื่องจากละอองน้ำด้วย

รุ่นนี้จะมีทั้งหมด 2 สีคือสี Pearl White และ Pearl Blue สำหรับเครื่องที่ได้มาพรีวิวนั้นจะเป็นสี Pearl White

หน้าจอ Super AMOLED สีสันสวยงาม มาพร้อมระบบสแกนลายนิ้วมือในหน้าจอ
realme XT มาพร้อมกับหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 6.4 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ อัตราส่วน 19.5:9

กระจกหน้าจอนั้นเป็น Gorilla Glass 5 เช่นเดียวกับฝาหลัง กระจก Gorilla Glass 5 นั้นจัดว่าทนทานมากในระดับนึง สามารถป้องกันจอมือถือแตกเมื่อตกจากที่สูง 1.6 เมตรได้ถึง 80% แต่ถ้าใครยังกังวลเรื่องริ้วรอยขนแมวจากการใช้งานก็ไม่ต้องห่วง เพราะ realme XT นั้นติดฟิล์มมาให้จากโรงงานเรียบร้อย แกะเครื่องมาก็สามารถใช้งานได้เลยทันที
ขอบด้านบนจะมีรอยบากเป็นรูปหยดน้ำ ขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่เกะกะลูกตา และตรงเหนือรอยบากมีลำโพงสำหรับสนทนา

สีสันของหน้าจอจัดว่าสวยงามเลยทีเดียว รองรับการดู YouTube แบบ HDR ด้วย


เรื่องสีสันของจอนั้นจัดว่าทำได้ดีมากสมกับที่เป็นจอ Super AMOLED สีดำคือดำมืดสนิท ส่วนสีอื่น ๆ ก็แสดงผลได้ดี ไม่จัดจ้านมากจนเกินไป ถือว่ามีหน้าจอที่สวยมาก ๆ เมื่อเทียบกับหน้าจอของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่มีสเปคใกล้เคียงกัน

realme XT มาพร้อมกับความสามารถในการสแกนนิ้วในหน้าจอ ซึ่งตัวสแกนลายนิ้วมือจะซ่อนอยู่ข้างใต้หน้าจอบริเวณใกล้ ๆ ขอบล่าง ตำแหน่งถือว่ากำลังดี วางนิ้วได้สะดวก ปลดล็อคได้ค่อนข้างง่ายเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าหน้าจอจะดับอยู่ก็ยังสามารถปลดล็อคได้


สเปคแรงไม่น้อยหน้าใคร เล่นเกมได้แบบสบายใจไม่ต้องกลัวเครื่องร้อน
realme XT มาพร้อมกับชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 712 AIE, RAM 8 GB และ Storage 128 GB แบบ UFS 2.1 ซึ่งมองรวม ๆ แล้วก็จัดว่าสเปคแรงมาก โดยเฉพาะเจ้าชิปเซ็ต Snapdragon 712 ที่ถึงแม้ความเร็วจะยังเป็นรองพวก Snapdragon Series 800 ในรุ่นเรือธง แต่ก็ซัพพอร์ต RAM แบบ LPDDR4X และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ให้มาแบบไม่น้อยหน้าพวก Snapdragon Series 800 ยิ่งทำงานร่วมกับ Storage แบบ UFS 2.1 ที่ใช้ในรุ่นเรือธงหลาย ๆ ค่ายแล้วทำให้ realme XT สามารถใช้งานได้ดีเลยทีเดียว

ตามธรรมเนียมของเว็บไซต์เรานั้นเมื่อได้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ มารีวิวก็ต้องลองเล่นเกมสักหน่อย แน่นอนว่าเกมที่เลือกเล่นนั้นก็คือ PUBG Mobile


ซึ่งจากเท่าที่ลองเล่นดูนั้นปรับกราฟิกให้สุดเท่าที่เครื่องจะให้ปรับได้ก็ยังเล่นไหว (HD) แต่ในหลาย ๆ จังหวะจะไม่รู้สึกสมูทเท่าที่ควร

ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ปรับกราฟิกลงมาเหลือสมดุลและเพิ่มเฟรมเรทเป็น Ultra แทน ภาพที่ได้นั้นไม่ได้ดูต่างกันมากเท่าไหร่แต่การเล่นนั้นลื่นขึ้นและการสัมผัสตอบสนองดีขึ้นมาก

สำหรับปรับความละเอียดภาพและเงานั้นสามารถเปิดได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะรันไม่ไหว บอกได้เลยว่าสบายมากหายห่วง

รุ่นนี้เขาเล่นเกมดีจริง ๆ นะเออ ฟินมากกกกก
Marmel0z


ที่สามารถเล่นเกมได้ดีนั้นก็เป็นเพราะว่า realme XT มาพร้อมกับเทคโนโลยี HyperBoost 2.0 ที่สามารถลดค่า Latency ได้สูงสุดถึง 73.7% เพิ่มความเร็วในการเล่นเกมมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี HyperBoost 2.0 นั้นประกอบไปด้วย
- FrameBoost : ทำให้เฟรมเรทมีความเสถียรมากขึ้น
- TouchBoost : ทำให้การตอบสนองต่อการสัมผัสไวขึ้น
- Gameboost : ช่วยรีดประสิทธิภาพและความเร็วในการเล่นเกมให้ดียิ่งขึ้น
และเสริมทัพด้วยซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเล่นเกมอย่าง Game Space ให้สามารถเล่นเกมได้ดีขึ้น ทำหน้าที่จัดสรรพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมและป้องกันการรบกวนจากสายโทรเข้าและการแจ้งเตือนต่าง ๆ ขณะเล่นเกม ทำให้เล่นเกมได้อย่างลื่นไหลและมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของประสิทธิภาพนั้นจะสามารถตั้งค่าได้ 3 แบบ คือ
- Competitive Mode เพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกม เฟรมเรท และการตอบสนอง แต่แลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากขึ้น
- Balanced Mode ช่วยบาลานซ์ระหว่างประสิทธิภาพในการเล่นเกมกับแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพในการเล่นเกมจะน้อยกว่าแบบแรก แต่แบตเตอรี่จะหมดช้ากว่า
- Low Power Consumption Mode ปรับกราฟิกในเกมให้ต่ำลงเพื่อประหยัดพลังงานให้เล่นเกมได้ยาวนานขึ้น
นอกจากด้านประสิทธิภาพแล้ว Game Space ยังสามารถตั้งค่าโหมดห้ามรบกวน ป้องกันการโทรเข้าและการแสดงป๊อปอัปแจ้งเตือนขณะเล่นเกม, ล็อคแสงหน้าจอไม่ให้ปรับขึ้น-ลงอัตโนมัติ, ลดการทำงานของแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์เล่นเกมที่ลื่นไหล และลดความหน่วงของสัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยจำกัดการทำงานของแอปพลิเคชันที่รันอยู่เบื้องหลัง

นอกจากสเปคที่ให้มาแบบจัดหนักและซอฟต์แวร์ที่เสริมในส่วนของประสิทธิภาพการเล่นเกมแล้วนั้น ระบบระบายความร้อนก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กัน เพราะระบบระบายความร้อนของ realme XT นั้นทาง realme เคลมว่าช่วยให้เครื่องเย็นขึ้น 14% ขณะเล่นเกม ซึ่งจากที่ลองมานั้นก็ไม่ร้อนจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะเล่น PUBG Mobile ไปนาน ๆ ติดต่อกันหลายตา

ColorOS 6 ใช้งานได้ลื่นไหล แถมอัดแน่นด้วยฟีเจอร์ดี ๆ
พูดถึงซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเล่นเกมไปแล้วก็มาพูดถึงซอฟต์แวร์หลักและฟีเจอร์อื่น ๆ บ้าง realme XT มาพร้อมกับ ColorOS 6 ที่มีพื้นฐานมาจาก Android 9 Pie

หน้าตา UI ของ ColorOS 6 บน realme XT
สำหรับฟีเจอร์เด่น ๆ ของ ColorOS 6 นั้นก็จะมี
Smart Services
Smart Services จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ Smart Driving และ Smart Assistant
Smart Driving จะช่วยป้องกันการโทรเข้าและแจ้งเตือนต่าง ๆ เวลาขับขี่ยานพาหนะอย่างรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และจักรยาน

Smart Assistant ที่จะโชว์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในหน้าซ้ายสุดของ Home Screen อย่างเช่น วันที่, สภาพอากาศ, เบอร์ติดต่อที่ตั้งเป็น Favorite, จำนวนก้าวในการเดิน, ฯลฯ
Convenience Aid
ในส่วนของ Convenience Aid จะเป็นการปรับแต่งการควบคุมเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปุ่ม Power, Navigation Keys, การใช้การเคลื่อนไหวและท่าทางต่าง ๆ และการสร้าง Shortcut เพื่อเรียกใช้งานแอปพลิเคชันและเครื่องมือต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว สามารถทำอะไรได้บ้างนั้นมาดูกันเลย
กดปุ่ม Power ค้างไว้ 0.5 วินาทีเพื่อเรียกใช้งาน Google Assistant
Navigations Keys ปรับแต่งปุ่มนำทางของเครื่อง มีให้เลือกหลายแบบตามความถนัดและความเคยชิน ไม่ว่าจะชอบแบบไหนหรือย้ายมาจากแบรนด์อื่น ๆ มาใช้ realme XT ก็สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องปรับตัวมาก
- Swipe Gestures from Both Sides ใช้งานโดยการปัดจากขอบด้านซ้ายหรือด้านขวาเพื่อทำการกลับไปยังหน้าก่อนหน้า, ปัดจากด้านล่างสุดขึ้นไปข้างบนเพื่อกลับมาหน้า Home Screen, ลากจากด้านล่างขึ้นมาและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks และลากจากขอบด้านซ้ายหรือขวาเข้ามาให้เลยกึ่งกลางของหน้าจอและค้างเอาไว้เพื่อสลับไปยังแอปพลิเคชันที่ใช้งานก่อนหน้า

- Swipe-up Gestures มีให้เลือกใช้งานได้ 4 แบบ ได้แก่
- Back at Both Sides ปัดขึ้นจากขอบล่างทั้งฝั่งซ้ายและขวาเพื่อกลับไปยังหน้าก่อนหน้า, ปัดขึ้นจากด้านล่างตรงกลางเพื่อไปหน้า Home Screen และลากขึ้นจากด้านล่างตรงกลางและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks
- Simple Gestures ปัดขึ้นจากด้านล่างตรงกลางเพื่อไปหน้า Home Screen และลากขึ้นจากด้านล่างตรงกลางและค้างเอาไว้เพื่อดู Recent Tasks (ใช้การกดกลับจากในปุ่มของแอปพลิเคชันเท่านั้น)
- Back on the Right ปัดขึ้นจากขอบด้านล่างซ้ายเพื่อดู Recent Tasks, ปัดขึ้นจากตรงกลางเพื่อมายังหน้า Home Screen และปัดขึ้นจากด้านขวาเพื่อกลับ
- Back on the Left ปัดขึ้นจากขอบด้านล่างซ้ายเพื่อกลับ, ปัดขึ้นจากตรงกลางเพื่อมายังหน้า Home Screen และปัดขึ้นจากด้านขวาเพื่อดู Recent Tasks

- Virtual Keys ใช้ปุ่มเสมือนในการนำทางแบบ Android รุ่นก่อน ๆ รวมไปถึงแถบนำทางในรูปแบบเดียวกับของ Pixel Android ตอน Android 9 Pie

Gesture & Motion ต้องบอกเลยว่านี่คือจุดเด่นของ ColorOS ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสามารถของสิ่งนี้ก็คือการวาดหรือทำท่าทางต่าง ๆ ลงบนหน้าจอขณะปิดอยู่เพื่อเป็นคีย์ลัดในการทำงาน โดยที่เครื่องตั้งค่ามาให้ในเบื้องต้นก็คือ
- กด 2 ทีบนจอเพื่อให้หน้าจอติด
- วาดรูปตัว O เพื่อเปิดกล้อง
- วาดรูปตัว V เพื่อเปิดแฟลช
- วาด || ลงบนจอเพื่อหยุดหรือเล่นเพลง
- วาด < กับ > เพื่อเปลี่ยนเพลง

เวลาวาดตอนหน้าจอดับก็จะมีเส้นสีฟ้า ๆ โผล่ขึ้นมาตามนิ้วที่เราลาก

หรือถ้ายังไม่จุใจก็สามารถตั้ง Gesture เพิ่มเติมได้โดยเลือกท่าทางในรูปด้านล่างแล้วเลือกว่าจะให้ปลดล็อกเครื่อง, โทรหารายชื่อที่ต้องการ หรือเปิดแอปพลิเคชันที่ตั้งเอาไว้

ในส่วนของ Smart Call นั้น จะมีฟีเจอร์ 3 อย่าง ได้แก่
- รับสายอัตโนมัติเมื่อหยิบสมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้หู
- สลับโหมดจากเปิดลำโพงสนทนาเป็นลำโพงสนทนาแบบปกติเมื่อหยิบสมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้หู
- คว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียงสายเรียกเข้า
และยังมีการตั้งคาอีก 2 อย่าง คือหยิบเครื่องแล้วหน้าจอติดอัตโนมัติและลากนิ้ว 3 นิ้วลงบนหน้าจอเพื่อแคปภาพหน้าจอ ซึ่งเป็นอะไรที่สะดวกมาก เหมาะกับสายแคปสุด ๆ

Clone Apps
เอาไว้ใช้สร้างแอปพลิเคชันจำพวกโซเชียลมีเดียหรือสำหรับแชทซ้ำขึ้นมาอีก 1 อัน

โดยเงื่อนไขและข้อจำกัดของ Clone Apps ก็คือ
- แอปพลิเคชันต้นฉบับกับอันที่โดน Clone ขึ้นมาจะไม่ส่งผลต่อกัน
- โทรศัพท์และแอปพลิเคชันต้องรองรับกันและกัน
- แอปพลิเคชันที่ถูก Clone ขึ้นมาไม่สามารถถ่ายโอนข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ได้
- ไม่สามารถ Clone แอปพลิเคชันได้เกิน 2 แอปพลิเคชันต่อ 1 เครื่อง
App Split-screen
สำหรับฟีเจอร์นี้จะเอาไว้ใช้งานแอปพลิเคชัน 2 หน้าจอในเวลาเดียวกัน ซึ่งการใช้งาน App Split-screen นั้นสามารถเปิดได้ทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่
- ลากนิ้ว 3 นิ้วบนจอขึ้นไปทางขอบจอด้านบน
- ถ้าหากใช้ Virtual Keys ให้กดปุ่ม Multi-task ค้างเอาไว้
- ถ้าหากใช้ Swipe-up Gestures ให้เข้าหน้า Recent Tasks และกดตรง Hamburger button (ขีด 3 ขีด) และเลือก Split-screen
- ถ้าหากใช้งานแนวนอนอยู่แล้วมีแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งาน App Split-screen เข้ามา สามารถกดตรง Split-screen Reply เพื่อเข้าสู่ Split-screen mode โดยในการใช้งานแนวนอนหน้าจอจะแบ่งออกเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
และสิ่งสำคัญที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามไปอย่างฟีเจอร์ Security ที่จะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยต่าง ๆ ของเครื่อง เช่น การอนุญาตให้แอปเข้าถึงฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในเครื่อง, ค้นหาเครื่องที่สูญหาย, ปกป้องแอปที่ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินและยังมีการป้องกันการคุกคามผ่านทางโทรศัพท์และข้อความอีกด้วย รวมทั้งการโทรเข้าจากหมายเลขปลอม และยังมี Payment Protection เพื่อให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินบนสมาร์ทโฟนได้อย่างสบายใจ ซึ่งแอปพลิเคชันไหนที่ผูกบัตรเครดิตไว้จะถูกป้องกันด้วย Payment Protection อัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวอีก 3 อย่าง ได้แก่
- App Encryption สำหรับล็อคและซ่อนแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งเวลาเข้าใช้งานจะต้องใส่รหัส, ปลดล็อคด้วยลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า และจะไม่โชว์รายละเอียดของแอปพลิเคชันที่ถูกล็อกในหน้าการแจ้งเตือนด้วย
- Kid Space สร้างมาเพื่อให้เด็กใช้งาน สามารถกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน, กำหนดแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้, ปิดการใช้งาน Cellular ,ป้องกันการกดซื้อแอปพลิเคชันหรือไอเทมในเกม, ป้องกันการติดตั้งหรือลบแอปพลิเคชัน และป้องกันการแก้ไขหรือตั้งค่าต่าง ๆ ของตัวระบบ ซึ่งหากจะออกจาก Kid Space นั้นต้องให้ผู้ปกครองหรือคนที่รู้รหัสผ่าน (หรือมีลายนิ้วมือและใบหน้าที่ถูกจดจำเอาไว้ในเครื่อง) ออกจากโหมดนี้ให้
- Private Safe สำหรับเก็บไฟล์ต่าง ๆ ที่เป็นความลับหรือไฟล์ที่ไม่อยากให้คนที่เอาเครื่องของเราไปใช้งานเห็น สามารถเข้าถึงได้โดยการใส่รหัส ลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า และป้องกันการแคปภาพของสิ่งที่อยู่ใน Private Safe อีกด้วย

กล้องหลัง 4 ตัว กล้องหลัก 64 ล้านพิกเซล เสริมทัพด้วยกล้อง Ultra-wide, Depth และ Macro
ช่วงนี้ realme จัดกล้องหลัง 4 ตัวมาให้กับสมาร์ทโฟนของตัวเองรัว ๆ แน่นอนว่า realme XT นั้นก็มาพร้อมกับกล้องหลัง 4 ตัวเช่นเดียวกันกับ realme 5 และ realme 5 Pro แต่ความพิเศษกว่านั้นคือกล้องหลักนั้นมาพร้อมกับความละเอียดที่สูงถึง 64 ล้านพิกเซลเลยทีเดียว

สำหรับกล้องที่มีด้วยกันทั้งหมด 4 ตัวนั้นจะเรียงเป็นแถวยาวจากบนลงล่าง กล้องตัวบนสุดที่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบนั้นจะเป็นกล้อง Ultra-wide (ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.25 ความกว้าง 119 องศา) ส่วนกล้องตัวที่ 2 จากด้านบนนั้นจะเป็นกล้องหลัก (ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.8) ส่วนกล้อง 2 ตัวที่เหลือจะเป็นกล้องสำหรับถ่ายภาพ Portrait (ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.4) และกล้องสำหรับถ่ายภาพ Macro (ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.4)

สเปคกล้องโหดขนาดนี้ต้องลองโจทย์ยากสักหน่อยกับการถ่ายแมว แมวจัดว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถ่ายรูปได้ยากมาก เพราะเคลื่อนไหวแทบจะตลอดเวลาที่กำลังตื่นอยู่ (โดยเฉพาะเวลาที่รู้ตัวว่ากำลังโดนถ่ายรูป) แถมเส้นขนนั้นละเอียดมาก กล้องไม่เจ๋งจริงถ่ายออกมาเละแน่นอน
ซึ่งภาพที่ได้ก็จัดว่าน่าประทับใจเลย พอกล้องเห็นว่าเป็นแมว AI ก็ทำงานทันที ภาพไม่เบลอ รายละเอียดขนค่อนข้างดี ถือว่าผ่าน

ลองซูมไป 2 เท่าก็ถือว่ายังรับได้แม้ว่ารายละเอียดจะหายไปบ้าง

ในหน้าหลักของกล้องนั้นจะมี 2 โหมดที่น่าสนใจคือ Chroma Boost ที่ช่วยเร่งสีให้สดใสขึ้น กับโหมด Ultra-wide สำหรับถ่ายภาพแบบมุมกว้างที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการกดไอคอนสี่เหลี่ยมพื้นผ้าที่โค้งเว้าเข้าสู่ด้านใน

สำหรับโหมด Chroma Boost นั้นแนะนำให้ใช้ถ่ายพวกสิ่งของที่มีสีสันออกสีแดงและเหลืองได้ แต่ไม่แนะนำให้ถ่ายคนหรือพวกต้นไม้ใบหญ้าเพราะสีจะออกมาแปลกตาไปจากความเป็นจริงมากพอสมควร

เปรียบเทียบระหว่างเปิดและปิด Chroma Boost
Chroma Boost OFF Chroma Boost ON
ในส่วนเลนส์ Ultra-wide ของ realme XT นั้นทำออกมาได้ดีกว่า realme 5 Pro แบบชัดเจน เพราะสีสันนั้นไม่ออกโทนฟ้ามากเกินไปแล้ว ซึ่งสีสันของกล้อง Ultra-wide บน realme XT นั้นเรียกได้ว่าแทบไม่ต่างกับกล้องหลักเลย
ภาพด้านซ้ายถ่ายด้วยเลนส์หลัก ด้านขวาถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง
การถ่ายภาพ Portrait นั้นก็ถือว่าเบลอพื้นหลังได้ดีและตัดขอบของคนได้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว

ในส่วนของการถ่ายภาพ Macro นั้นยังคงทำได้ดีเช่นเคย แค่จ่อเข้าไปใกล้ ๆ วัตถุก็จะเข้าโหมด Macro ให้เลยโดยที่ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่ม

แต่ถ้าคิดว่ายังใกล้ไม่พอก็สามารถซูมเพิ่มเป็น 2 เท่าในโหมดนี้ได้ ซึ่งจากที่ลองถ่ายหลาย ๆ ช็อตมานั้นพบว่าถ้าใช้ระยะซูมเป็น 2X เวลาถ่ายจะให้ภาพที่สวยมาก ดูใกล้กับตัววัตถุแบบจริง ๆ และเบลอพื้นหลังได้สวยงาม
ตัวอย่างภาพถ่าย Macro
สำหรับโหมดที่น่าสนใจก็จะมี Ultra 64 MP และ Nightscape
โหมด Ultra 64 MP เป็นโหมดที่ถ่ายภาพออกมาที่ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล (ถ้าถ่ายด้วยโหมดปกติความละเอียดภาพจะอยู่ที่ 16 ล้านพิกเซล) ภาพที่ได้จะคมชัดและเก็บรายละเอียดได้เยอะมากในกรณีที่แสงสว่างเพียงพอ

Resolution ของภาพจะอยู่ที่ 9216 x 6912 Pixels (โหมดปกติจะอยู่ที่ 4608 × 3456 Pixels) ขนาดไฟล์ประมาณ 12-16 MB

เนื่องจากอัปรูปเต็มความละเอียดไม่ได้ ขอขยายให้ดูกันแบบชัด ๆ ไปเลย

ส่วนโหมด Nightscape คือโหมดถ่ายในที่แสงน้อย เวลาถ่ายจะเปิดหน้ากล้องนานกว่าปกติและครอบภาพเข้าไปเล็กน้อยเพื่อป้องกันภาพสั่นไหว สำหรับ realme XT นั้นเวลาถ่ายในที่แสงน้อยโหมดปกติก็จะปรับความสว่างของภาพขึ้นมาระดับนึงแล้ว เมื่อใช้โหมด Nightscape นั้นภาพที่ได้ก็จะช่วยดึงแสงและสีสันในส่วนที่มืดขึ้นมาให้ดีได้อีกในระดับนึง
ภาพด้านซ้ายถ่ายด้วยโหมดปกติ ด้านขวาถ่ายด้วยโหมด Nightscape
กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อม AI Beauty
สำหรับกล้องหน้านั้นก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือโหมด Beauty ที่ปรับแต่งใบหน้าได้แทบทุกส่วน แต่ถ้าใครมั่นใจในเบ้าหน้าของตัวเองและไม่ชอบกล้องฟรุ้งฟริ้งก็สามารถเลือกปรับแบบ Natural ที่ถ่ายออกมาได้แบบสมจริงไร้การปรับแต่งใด ๆ
ลองมาดูแบบเทียบกันหน่อย ระหว่างแต่งแบบจัดเต็มกับแบบไม่ปรับแต่งอะไรเลย
นอกจากนี้กล้องหน้ายังมีโหมด Portrait สำหรับถ่ายหน้าชัดหลังเบลอด้วย ทำได้ดีไม่แพ้กล้องหลังเลยทีเดียว แถมยังสามารถทำงานร่วมกับโหมด Beauty ได้อีกด้วย
ถ่ายแบบธรรมดา ถ่ายแบบ Portrait + Beauty
แบตเตอรี่ 4000 mAh ใช้งานได้ยาวนาน แต่ชาร์จไม่นานด้วย VOOC Flash Charging 3.0
realme XT มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 4000 mAh พร้อมระบบชาร์จเร็ว VOOC Flash Charge 3.0 กำลังไฟ 20W

พอร์ตชาร์จเป็นแบบ Type-C ด้วย ดีงามมาก

จากที่ลองใช้งานทั่ว ๆ ไปก็พบว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ครบวันแบบสบาย ๆ ครับ และต้องบอกเลยว่าแบตเตอรี่ทนมากจริง ๆ เพราะตอนจะจับเวลาชาร์จแบตนั้นใช้วิธีเปิดเกม PUBG Mobile ในโหมด Training ทิ้งเอาไว้พร้อมกับเปิดภาพยนตร์ใน Netflix แบบย่อจอไว้ด้วยขณะปล่อยให้ตัวละครวิ่งเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็นานเอาเรื่องเหมือนกันกว่าระดับแบตเตอรี่จะลดจาก 38% ลงมาเหลือ 5% (ใช้เวลา 2 ถึงเกือบ 3 ชั่วโมง เพราะเริ่มผลาญแบตเตอรี่ตั้งแต่ประมาณช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ ใช้เวลาในโหมด Training จนหมดไปถึง 3 รอบก็กินเวลาไปแล้วชั่วโมงครึ่ง และหลังจากนั้นก็เปิดแต่ภาพยนตร์อย่างเดียวโดยเปิดแสงจอแบบเร่งสุดค้างไว้ก่อนที่จะเริ่มชาร์จแบตตอน 21:48 น. ตามภาพ) ซึ่งตอนลองใช้งานเพื่อให้แบตเตอรี่ลดแบบหนักหน่วงเครื่องก็ไม่ได้ร้อนอะไรมาก อุณหภูมิแบตเตอรี่อยู่ที่ 34 องศาเซลเซียสซึ่งก็ถือว่าโอเคเลย
มาเริ่มจับเวลากันเลยดีกว่า ว่าชาร์จจาก 5% ไปจนถึงเต็มใช้เวลานานแค่ไหน
เสียบสายชาร์จกันเลย!

ผ่านไป 34 นาที แบตเตอรี่ขึ้นมาเป็น 51% ก็ถือว่าน้อยกว่าที่เคลมไว้ว่าชาร์จ 30 นาทีได้แบตเตอรี่ 55% อยู่ในระดับนึง แต่ก็อยู่ในจุดที่รับได้
ผ่านไป 1 ชั่วโมง ขึ้นมาเป็น 84% แล้ว ไวมาก
และแล้วก็เต็ม 100% ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที 8 วินาที
นับว่าทำได้ดีเลย สำหรับระยะเวลาเท่านี้กับแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh

สรุป realme XT เป็นสมาร์ทโฟนที่น่าโดนมาก รอให้เปิดราคาออกมาไว ๆ เลย
realme XT จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ครบเครื่องมากเมื่อเทียบกับรุ่นที่มีสเปคในระดับใกล้เคียงกัน โดนเด่นในด้านสเปคที่เพียงพอต่อการใช้งานทั้งเบาแหละหนัก หน้าจอที่มีสีสันสวยงามแต่ไม่จัดจ้านจนเกินไปและสแกนนิ้วในหน้าจอได้ กล้องที่จัดว่าค่อนข้างครบเครื่องและมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากรุ่นก่อน ๆ หน้า แบตเตอรี่ที่ทนทานต่อการใช้งานหนัก ๆ และชาร์จได้ไว แถมยังเอาใจใส่ในด้านดีไซน์อีกด้วย
