วิธีจัดการพื้นที่เว็บ WordPress ที่รูปเยอะมากๆ ทำยังไงให้ใช้ได้พอ

ปัญหาหลักของคนที่ทำเว็บบล็อกหรือเว็บข่าวด้วย WordPress ก็คือพื้นที่เต็มไวมาก เนื่องด้วยมีการอัพเดทและอัพรูปตลอดเวลา คราวนี้ผมมีคำแนะนำในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่แบบประหยัดงบ ไปจนถึงเว็บระดับมืออาชีพที่ซีเรียสเรื่องความเร็วครับ

1. แก้ที่ไฟล์รูป

ขั้นแรกที่ทุกเว็บควรทำก็คือการบีบอัดปรับแต่งรูปภาพ ให้เหมาะกับการแสดงผลบนเว็บ จากประสบการณ์จริงต้องบอกว่าหลายคนไม่เข้าใจแล้วเอารูปใหญ่ๆ มาใช้เลย เพราะคิดว่าภาพจะได้ชัดๆ บางคนเอาภาพจากกล้องระดับ DSLR ที่ไฟล์ใหญ่มาก หรือแม้แต่มือถือยุคนี้บางรุ่นก็ให้ไฟล์ขนาดใหญ่เกินควร ดังนั้นตั้งทำการย่อและบีบอัด ไม่ควรให้ไฟล์ใหญ่เกิน 200 KB โดยประมาณ

อีกจุดคือการเลือกไฟล์ หลายคนบอกว่า PNG ภาพคมกว่า แต่ส่วนมากไฟล์มันใหญ่ครับ ดังนั้นควรแปลงเป็น JPG หรือจะแปลงเป็น WebP เลยก็ยิ่งดี เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต้องใช้ Image Optimize เพื่อแปลงเป็น WebP ที่ไฟล์เล็กกว่ามากๆ และ Web Browser ในยุคนี้ส่วนใหญ่ก็รองรับ WebP กันหมดแล้ว

ในกรณีที่จัดการทุกสิ่งตั้งแต่บนคอมได้เลยก็จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่สะดวกก็ควรลง Plug in เพื่อจัดการปัญหานี้ ในกรณีที่ไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม ผมแนะนำ 2 ตัวนี้

  • Imsanity หน้าที่หลักคือการย่อความละเอียด โดยทั่วไปแล้วรูปขนาด 2000×2000 ก็ใหญ่เหลือเฟือแล้วสำหรับทำเว็บ ไม่ควรใหญ่เกินนี้
  • reSmush ตัวนี้มีหน้าที่บีบให้ไฟล์มีขนาดเล็กลง โดยให้ความสวยงามใกล้เคียงของเดิมที่สุด

ส่วนการตั้งค่า JPG Image Quality ก็ขึ้นอยู่กับว่าเน้นความสวยงามมากแค่ไหน อย่างกรณีเว็บรีวิวอาหาร เว็บท่องเที่ยว ก็ควรตั้งค่าไว้สูงหน่อย อาจจะสัก 90 เพื่อให้ภาพสวยงาม แต่ถ้าเป็นแนวบล็อกให้ความรู้ หรือเป็นข่าวที่ไม่ซีเรียสกับความสวยงาม ก็อาจจะตั้งไว้ต่ำกว่านั้น

แต่ถ้าจะให้ดีในกรณีที่มีงบ แนะนำให้ใช้ตัวเสียเงินดีกว่า ตัวที่ผมใช้เองก็ตามนี้ครับ

  • ShortPixel ตัวนี้ได้รับการยอมรับที่สุด แต่ราคาแพงมาก มันคิดแยกรูปทุก Thumbnail ซึ่งระบบของ WordPress ไม่ได้มองเป็น 1 รูป แต่มันมองแยกหลายขนาด ซึ่ง 1 รูปมีไม่ต่ำกว่า 4 Thumbnail แปลว่าการจะ Optimize 1 รูปต้องใช้ 4 เครดิตเป็นอย่างน้อย
  • Imagify ในแง่ความนิยมก็น้องๆ ShortPixel แต่พัฒนาตามหลังพอตัว ข้อดีคือมีแพ็คเกจ Unlimited จัดการรูปได้ไม่จำกัด
  • WP Compress อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัว เพราะมัน All in One มากๆ มี CDN ในตัว แต่มีปัญหาด้านความ Compatibility ซึ่งบางเว็บบางคอนฟิกอาจเพี้ยนๆ พังๆ

ในกรณีที่ใช้ Local Image Optimize อย่าง ShortPixel หรือ Imagify แล้วเปิด Backup Original File ไว้ จะไม่ช่วยลดพื้นที่นะครับ มันจะเพิ่มพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่ข้อดีคือเราสามารถย้อนกลับไปใช้ต้นฉบับได้ ถ้าต้องการลดพื้นที่ก็ควรปิด Backup ครับ ส่วนการใช้ WP Compress ถ้าเลือกแบบ Cloud ก็จะไม่เปลืองพื้นที่เพิ่ม แต่ก็ไม่ช่วยลดพื้นที่ ข้อดีคือลดภาระเซิฟเวอร์และถ้าตั้งค่าลงตัวมันจะเร็วขึ้นครับ

นอกจากนี้การใช้ Image Optimize ก็ต้องดูการคอนฟิกส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะการเลือกธีมและการจัดการแคช เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด

2. แก้ที่เซิร์ฟเวอร์

เอาล่ะ ถ้าแก้ที่การบีบรูปแล้วพื้นที่ยังไม่พอก็ต้องแก้กันที่ระดับเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ก็มีให้เลือกหลายแบบ แต่ถ้าต้องการเก็บรูปเยอะๆ ผมแนะนำ 3 ท่าครับ

  • Unlimited Shared Host ก็คือพื้นที่ไม่จำกัด ข้อดีที่ราคาถูก ข้อเสียคือข้อจำกัดเยอะ และไม่รวดเร็วมากนัก แต่ถ้าจูนเก่งๆ ก็ช่วยได้เยอะ เหมาะสำหรับเว็บบล็อกส่วนใหญ่ที่ไม่ซีเรียสเรื่องความเร็วมากนัก
  • Cloud + Object Storage ท่านี้วุ่นวายไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไป เพราะต้องแยกส่วนของตัวเว็บกับส่วนของพื้นที่เก็บรูปออกจากกัน แต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีมาก เหมาะกับเว็บระดับมืออาชีพ
  • Cloud + Block Storage ท่านี้ก็คล้าย Object Storage แต่จะมีปัญหาในการใช้งานจริงมากกว่า เพราะตัว Block Storage มันหลุดง่ายกว่า

ความเห็นเพิ่มเติม

ถ้าเน้นประหยัดงบและเหมาะกับ Unlimited Shared Host ก็คือการใช้ Imagify เพราะราคาถูกและไม่จำกัดจำนวนรูป และทำงานร่วมกับ WP-Rocket ได้ดี ซึ่งเป็นตัวจัดการแคชยอดนิยม ซึ่งผมคิดว่า Blogger สาย Food และ Travel ส่วนมากจะเหมาะกับรูปแบบนี้ เนื่องจากนำเสนอด้วยรูปเป็นหลัก ถ้าให้ไปใช้ Cloud ต้นทุนน่าจะเดือนละเป็นหมื่นบาท รวมแล้วแต่ละปีน่าจะหมดไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท ซึ่งถ้าเว็บยังไม่ทำเงินขนาดนั้นก็ไม่แนะนำให้ใช้

ส่วนเว็บแนว Tech Review ถ้าเปิดเว็บมาไม่เกิน 2 ปี ส่วนมากจะใช้พื้นที่ไม่เกิน 20 GB ซึ่งจะใช้ Cloud ก็ได้ แต่ถ้าเปิดมานานกว่านั้นและไม่อยากลบข้อมูลเก่า เว็บจะบวมมากๆ ยังไม่นับรวมระบบอื่นๆ เช่นการ Backup ที่ต้องการพื้นที่ว่างชั่วคราวในการประมวลผลอย่างน้อยก็ 2 เท่าของขนาดเว็บ บางทีพื้นที่ 320 GB ก็ไม่พอใช้ครับ ซึ่งราคา 320 GB ก็ตกเดือนละประมาณ 96 USD ตีกลมๆ ก็ 3,200 บาท ปีละ 38,400 บาท

ดังนั้นถ้าใครที่คอนฟิกเป็นก็เลยมักจะเลือกใช้ Block Storage หรือ Object Storage แทนสำหรับการเก็บรูป เนื่องจากราคาถูกกว่ากันหลายเท่า

ส่วน WP Compress ถ้าตั้งค่าแบบ Local Optimize มักจะมีปัญหา แต่ผมใช้ Cloud Optimize และไม่เจอปัญหาใดๆ ครับ และ WP Compress ยังมี Agency Mode ด้วย เหมาะสำหรับ Freelance หรือบริษัทที่รับดูแลเว็บด้วยครับ