AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่

ในช่วงแรกที่ HUAWEI เริ่มนำ AI เข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน ก็ต้องบอกว่าเป็นการปฏิวัติวงการแอนดรอย จากเดิมที่คนบ่นว่าใช้ไปนานๆ แล้วเครื่องอืด ก็กลายเป็นว่าใช้ไปนานแค่ไหนก็ไม่มีความอืด ซึ่งนั่นคือบทพิสูจน์แรกที่ทำให้เห็นว่า AI เข้ามาช่วยได้มาก แต่ในยุคแรกนั้นก็มีการตั้งคำถามว่า AI ช่วยเรื่องการถ่ายรูปได้จริง หรือเป็นแค่การเอาระบบ Scene ยุคก่อนมาตั้งชื่อใหม่ให้ดูดี

AI บนสมาร์ทโฟน เคยเป็นเรื่องน่าหัวเราะสำหรับบางคน

ย้อนไปในวันที่ HUAWEI นำเสนอ AI บนสมาร์ทโฟน ก็มีทั้งเสียงชื่นชมรวมไปถึงคำถากถางจากคนที่ไม่เชื่อ หลายคนก็บอกว่าโม้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ HUAWEI นำเสนอนั้นดีจริง จนกลายเป็นสิ่งที่หลายค่ายพยายามทำตาม และเป็นมาตรฐานใหม่ของแอนดรอยที่ใช้นานๆ แล้วไม่หน่วง แต่ต่างกันตรงที่ HUAWEI ผลิตชิป Kirin ขึ้นมาเอง ทำให้ปรับแต่งด้าน AI ได้ดีกว่ารวมถึงการปรับจูนให้เล่นเกมได้ลื่นไหลด้วย

AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่ 2

บทบาทด้านกล้องในยุคแรกคนก็มองว่านี่เป็นแค่การปัดฝุ่นระบบ Scene จากกล้องยุคเก่า ประหนึ่งย้อมแมวขายของเก่า แต่เมื่อหลายค่ายเริ่มหันมาทำตามและมีข้อมูลออกมามากขึ้น ก็พบว่านี่คือ AI จริงๆ ไม่ใช่ Scene แบบยุคก่อน โดย AI จะเรียนรู้จากฐานข้อมูลรูปภาพมากมายก่อนที่จะเอามาให้เราใช้ เพื่อวิเคราะห์ว่าต้องปรับแต่งภาพออกมาอย่างไร รวมถึงช่วยประมวลผลให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่งทุกค่ายก็เริ่มนำ AI มาประยุกต์ใช้ แม้แต่เจ้าตลาดอย่าง Samsung เองก็พัฒนา AI ตามมาเรื่อยๆ

ย้อนรอยดูปัญหาที่ผู้ใช้พบเจอ

ถ่ายไม่ทันช็อตสำคัญ

จุดที่สมาร์ทโฟนได้เปรียบกล้องแท้ๆ อย่าง DSLR ก็คือความคล่องตัวในการพกพาและหยิบมาใช้งาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใช้งานคาดหวังมาตลอดก็คือการเก็บ Moment ความทรงจำได้ทันท่วงที แบบที่ไม่พลาดช็อตสำคัญ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่ชิปเซ็ต, หน่วยความจำ, ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการปรับจูนโมดูลชิ้นส่วนกล้องและ AI เพื่อให้เปิดแอปกล้องได้เร็ว กดถ่ายได้ทัน บันทึกไฟล์ได้ทันทีไม่คอขวด และอีกหลายส่วนที่ต้องสามัคคีรวมพลังเพื่อให้ถ่ายได้ทันทุกช็อต

AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่ 4

ก็เลยเป็นที่มาที่แต่ละค่ายพยายามคิดฟีเจอร์เพื่อแก้ปัญหานี้ อย่าง Apple ก็นำเสนอ QuickTake ที่สามารถเปลี่ยนจากการถ่ายภาพนิ่งให้กลายเป็นวีดีโอได้ ด้วยการกดค้างที่ปุ่มชัตเตอร์ แต่นั้นก็เป็นการเก็บคลิปวีดีโอไม่ใช่ภาพนิ่งตามที่หลายคนต้องการ ทางด้าน Samsung ก็นำเสนอ Single Take บน Galaxy S20 series ที่เก็บภาพนิ่งและวีดีโอพร้อมกัน โดยหลักการคือถ่ายวีดีโอไปเรื่อยๆ แล้ว AI จะช่วยเลือกเก็บช็อตภาพนิ่งที่ดูดีให้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะเราไม่รู้ว่าระหว่างนั้นจะมี Moment ไหนที่น่าเก็บภาพนิ่งไว้ การถ่ายวีดีโอลากยาวแล้วให้ AI ช่วยเลือกเก็บภาพนิ่งจึงเป็นทางออก

ซูมแล้วภาพเละ

ในช่วงยุคแรกของสมาร์ทโฟน เราจะซูมได้ด้วย Digital zoom เท่านั้น ทำให้ภาพดูเละเทะมาก แต่ก็มีความพยายามในการพัฒนาระบบซูมให้ชัดอย่างเช่น Clear Image Zoom ของ Sony ที่ให้ภาพชัดกว่า Digital zoom ทั่วไป หรือแม้แต่ Galaxy S4 Zoom และ Galaxy K Zoom ที่ใส่เลนส์แบบ Optical zoom 10x มาให้ ซึ่งได้ภาพที่คมชัดประหนึ่งกล้องคอมแพคที่โทรได้ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะขนาดใหญ่เทอะทะเกินไป

AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่ 6

และมาโด่งดังเป็นกระแสอีกรอบตอน HUAWEI P30 Pro ที่ซูมได้ไกลและชัดกว่าสมาร์ทโฟนอื่น ซึ่งตรงนี้นี่เองก็มีการนำ AI มาใช้ประมวลผลเพื่อลดการสั่น แม้แต่ Space Zoom ของ Galaxy S20 series ก็ต้องใช้การประมวลผลจากซอฟต์แวร์และ AI เข้ามาช่วยเหมือนกัน เพราะด้วยข้อจำกัดของขนาดตัวเครื่องที่ไม่สามารถยัดมอเตอร์และระบบ OIS ได้มาก ยังไงก็ต้องใช้การประมวลผลอื่นเข้ามาช่วย

แม้จะมีเสียงสะท้อนว่า Galaxy S20 Ultra กับการซูม 100 เท่านั้นให้ภาพที่ยับเยิน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนทั่วไปแล้วถือว่าทำได้ดีกว่ามาก ซึ่งนี่ก็น่าสนใจว่า HUAWEI P series จะออกมาแย่งชิงกระแสและความเป็นเจ้าแห่งการซูมกลับมาได้หรือไม่

เจอแสงน้อยแล้วไปไม่เป็น

เรื่องการถ่ายรูปกับที่แสงน้อย ในช่วงแรกก็มีช่างภาพบางส่วนมองว่าทำไมต้องถ่ายได้ขนาดนั้น ขนาดกล้องแท้ๆ ยังต้องใช้ไฟช่วย แต่เนื่องด้วยพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ต่างออกไป ทำให้มีความต้องการถ่ายรูปในที่แสงน้อย ซึ่งตรงนี้ก็มีเทคนิคมากมายที่จะช่วยทำให้ภาพสว่างและคมชัด เช่น การดัน ISO, การใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่, รูรับแสงกว้าง, ประมวลผลแบบ Multi-Frame, ใช้พิกเซลขนาดใหญ่และความละเอียดต่ำๆ หรือเทคนิค Pixel Binning

AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่ 8

ซึ่งในยุคแรก Samsung จะเกทับฝั่ง iPhone ตลอดกระทั่งช่วง LG G4 ที่ทำได้ดีกว่าฝั่ง Samsung และก็ยังมี Sony ที่ถ่ายในที่แสงน้อยได้สว่างมาก แต่ที่สร้างความตื่นตะลึงเลยก็คือ HUAWEI ที่ได้นำทุกเทคนิคที่มีมารวมกันจนทำให้เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายในที่แสงน้อยได้สว่างและคมชัดที่สุดในเวลานี้ และยังไม่มีใครโค่นล้มลงได้

AI กับกล้องสมาร์ทโฟนที่เริ่มหยุดนิ่ง รอวันทลายกำแพง

จากที่เราเคยอยากได้ภาพถ่ายบุคคลแบบหน้าชัดหลังเบลอเหมือนกล้อง DSLR ราคาแพง ตอนนี้เราก็มีโหมด Portrait ให้เห็นแทบทุกรุ่น แถมยังมีลูกเล่นเสริมอย่างเช่น Bokeh รูปแบบต่างๆ หรือการแต่งสี ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ AI เข้ามามีบทบาท และช่วงหลังก็เริ่มพัฒนาจากภาพนิ่งเข้าไปอยู่ในโหมดวีดีโอ ทำให้เราสามารถถ่ายวีดีโอแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ ซึ่งมีบนฝั่ง Samsung และ HUAWEI มาระยะหนึ่งจนมันไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป

ในงาน Samsung Unpacked ที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่ามีการนำ AI มาใช้กับ Galaxy S20 series ด้วย แต่ก็ต้องบอกว่าด้าน AI ยังไม่ได้มีอะไรที่หวือหวากว่าที่เราเคยเห็น จะมีที่ตื่นเต้นน่าสนใจก็อย่างฟีเจอร์ Single Take และ Custom filter

AI กับบทบาทด้านกล้องบนสมาร์ทโฟนยุคใหม่ 10

อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ AI ไม่ขยับไปมากกว่านี้ก็เพราะติดข้อจำกัดด้านชิปเซ็ต ซึ่งตรงนี้นี่เองเลยทำให้น่าสนใจว่า AI จะถึงทางตันแล้ว หรือเจ้าพ่อ AI อย่าง HUAWEI ที่มี Kirin กับ NPU สำหรับประมวลผลด้าน AI ที่ดีที่สุด จะสามารถยกระดับนำเสนอขีดจำกัดใหม่ของ AI บน P series ที่กำลังจะเปิดตัว